Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เทคโนโลยีการแปรรูปสิ่งปฏิกูลให้เป็นปุ๋ย

Posted By thaiscience | 03 ก.ค. 61
8,517 Views

  Favorite

สำนักงานต่าง ๆ และมหาวิยาลัยสามารถเปลี่ยนปัสสาวะให้กลายเป็นปุ๋ยฟอสฟอรัสและปุ๋ยไนโตรเจนที่มีมูลค่าได้ โดยใช้ถังหมักชีวภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยในยุโรป

 

โดยปกติปัสสาวะของคนเราจะประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นจำนวน 9 กรัมต่อลิตร และฟอสฟอรัสเป็นจำนวน 1 กรัมต่อลิตร และโดยเฉลี่ยคนเราจะขับปัสสาวะออกมาเป็นจำนวน 1 ถึง 1.5 ลิตรต่อวันซึ่งถือเป็นของเสียของร่างกาย นักวิจัยเชื่อว่าปัสสาวะของมนุษย์จะสามารถให้ปริมาณฟอสฟอรัสได้ร้อยละ 18 และปริมาณไนโตรเจนได้ร้อยละ 25 ของจำนวนทั้งหมดที่ถูกใช้ในปุ๋ยในยุโรป โดยการสกัดฟอสฟอรัสและไนโตรเจนออกจากปัสสาวะแทนที่จะปล่อยทิ้งเป็นของเสียจะสามารถช่วยลดการผลิตก๊าซแอมโมเนียซึ่งมีการใช้พลังงานสูง และยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินแร่ฟอสฟอรัสได้

 

ดร. Philipp Kuntke จากบริษัท Wetsus ในประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นบริษัทที่ทําการวิจัยเรื่องนำ และยังมีส่วนร่วมในโครงการ ValuefromUrine ได้กล่าวว่า ยุโรปต้องพึ่งพาการนำเข้าฟอสฟอรัสจากต่างประเทศเพราะยุโรปไม่มีแหล่งฟอสฟอรัสเป็นของตัวเอง ในขณะที่ฟอสฟอรัสนั้นจำเป็นต่อการปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อตอบสนองต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยขณะนี้มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปซึ่งกำลังจะเสร็จสิ้นในปีหน้า สามารถพัฒนากระบวนการในการแยกฟอสฟอรัสและไนโตรเจนออกจากปัสสาวะได้โดยการใช้ถังหมักชีวภาพที่เรียกว่า “เซลล์อิเล็กโทรลิซิสแบคทีเรีย” (microbial electrolysis cell) สารอินทรีย์ในปัสสาวะเช่น น้ำตาล และกรดไขมัน ซึ่งผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้รับจากกระบวนการนี้นั่นคือ แมกนีเซียม แอมโมเนียมฟอสเฟต และแอมโมเนียซัลเฟต ซึ่งนำไปใช้เป็นปุ๋ยฟอสฟอรัสและปุ๋ยไนโตรเจนในเชิงพาณิชย์ได้

 

โดยนักวิจัยหวังว่าภายในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 นี้พวกเขาจะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่นำไปใช้ในถังปัสสาวะสูง 20 ฟุต เพื่อเปลี่ยนปัสสาวะจำนวน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันให้กลายเป็นฟอสฟอรัสจำนวน 1 กิโลกรัมต่อวัน และแอมโมเนียมจำนวน 10 กิโลกรัมต่อวันได้

 

ดร. Kuntke ยังได้กล่าวอีกว่าเทคโนโลยีการสกัดไนโตรเจนจากปัสสาวะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของการบำบัดน้ำเสียนั้นมาจากขั้นตอนการกำจัดไนโตรเจน และเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดปริมาณไนโตรเจนที่ผ่านเข้าบ่อบำบัดน้ำเสียได้ถึงร้อยละ 80

 

การใช้น้ำในการกดชักโครกในยุโรปถือเป็น 1 ใน 4 ของน้ำที่ถูกใช้ทั้งหมดในการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล และการใช้พลังงานในการบำบัดน้ำเสีย โดยวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดการใช้น้ำและพลังงานได้นั่นคือ การใช้สุขาแบบไม่ใช้น้ำ  (dry toilet) ซึ่งไม่มีการใช้น้ำและสิ่งปฏิกูลจะถูกทิ้งลงไปในหลุม ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย

 

กลุ่มนักวิจัยจากโครงการ DRYCLOSET ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้พัฒนาสุขาแบบบไม่ใช้น้ำชนิดใหม่ ที่เหมาะแก่การใช้ในพื้นที่ที่มีความถี่ของการใช้ห้องน้ำสูง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาห้องน้ำที่เหมาะแก่การใช้ในพื้นที่ที่ห่างไกลและกันดาร และห้องน้ำเคลื่อนที่ที่นำไปใช้ในการจัดงานนอกสถานที่ได้ โดยในการพัฒนาสุขาแบบต่าง ๆ นักวิจัยได้อาศัยการใช้พลาสติกและสารเคลือบเพื่อกำจัดแมลงในท่อประปาเพื่อลดความเสี่ยงของการอุดตันในท่อประปา และยังช่วยควบคุมแบคทีเรียและปรสิต นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบการกรองชีวภาพเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ โดยแผนของโครงการตอนนี้คือ การผลิตและขายสุขาที่พัฒนาขึ้นในเชิงพาณิชย์

 

นอกจากนี้เหล่านักวิจัยได้ปรับปรุงกระบวนการย่อยสลายของสิ่งปฏิกูลโดยพัฒนาวิธีที่จะแยกสิ่งปฏิกูลในส่วนที่เป็นของแข็งออกมาและนำไปย่อยสลายโดยการใช้ไส้เดือนดิน ซึ่งจะถือว่าเป็นกระบวนการย่อยสลายที่ปลอดภัยมากกว่าการใช้แบคทีเรีย  นาง Isabelle Czekajewski วิศวกรวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัท Sanisphère ในประเทศฝรั่งเศสที่มีส่วนร่วมในโครงการ DRYCLOSET ได้กล่าวว่า สุขาแบบไม่ใช้น้ำแบบดั้งเดิมจะไม่มีการแยกสิ่งปฏิกูลของแข็งออกจากของเหลว ดังนั้น กระบวนการย่อยสลายทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการทำงานของจุลินทรีย์

 

ที่มา: http://horizon-magazine.eu/article/toilet-technology-makes-fertiliser_en.html

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow