Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การออกลูกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

Posted By Plook Creator | 30 พ.ค. 61
60,651 Views

  Favorite

Mammal มีรากศัพท์มาจากคำว่า Mamma แปลว่าหน้าอก ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งอยู่ในไฟลัมของสัตว์มีกระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติเด่นในการใช้หน้าอกหรือน้ำนมเลี้ยงลูก สัตว์ในตระกูลนี้มีวิวัฒนาการทางด้านร่างกายและระบบประสาทเจริญก้าวหน้า สามารถดำรงชีวิตได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม มีการสื่อสาร การรวมกลุ่ม หรือการอยู่อาศัย รวมถึงโครงสร้างทางสังคมที่ค่อนข้างซับซ้อน

 

ลักษณะเด่นตามชื่อกลุ่มของสัตว์จำพวกนี้คือ เป็นสัตว์เลือดอุ่นซึ่งเพศเมียมีต่อมน้ำนมเพื่อผลิตน้ำนมเลี้ยงลูกวัยแรกเกิด ส่วนใหญ่มีขนปกคลุม ยกเว้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะออกลูกเป็นตัว ยกเว้นตุ่นปากเป็ดและตัวกินมดหนาม (Echidna Puggles) ซึ่งออกลูกเป็นไข่ แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพราะมนุษย์เราเองก็เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์ที่อยู่รอบตัวเราส่วนใหญ่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หนู หมู วัว ม้า แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ได้จัดอยู่ในประเภทสัตว์กลุ่มใหญ่ในอาณาจักรสัตว์ทั้งหมด เพราะมีประชากรเกือบ 5,000 ชนิดเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับนกที่มีอยู่ถึง 9,000 ชนิด หรือแมลงเกือบล้านชนิด

 

สิ่งที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแตกต่างจากกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์เลือดอุ่นทั้งหมด นั่นแปลว่า ร่างกายของมันมีการเผาผลาญพลังงานเพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายคงที่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นไรก็ตาม มีขนยกเว้นพวกที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีการหายใจโดยใช้ปอด และมีการดูแลลูกด้วยน้ำนม

 

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกแบ่งตามลักษณะของการออกลูกได้ 3 กลุ่มคือ

 

1) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นตัว (Placental Mammals)

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มที่มีรก สัตว์กลุ่มนี้ เช่น คน ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข แมว หมู หนู หมี วาฬ และโลมา สัตว์เหล่านี้มีวิวัฒนาการทางด้านมดลูกและรกดี รกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีโครงข่ายหลอดเลือดอุดมสมบูรณ์ติดอยู่กับเยื่อบุมดลูก ทำหน้าที่อย่างดีในการส่งสารอาหารและสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้กับตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโต รวมถึงการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายตัวอ่อน ส่งกลับไปยังตัวแม่เพื่อขับออกไปในลำดับถัดไป

 

ตัวอ่อนของสัตว์ในกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในท้องแม่นานตราบเท่าที่มันต้องการ เพื่อที่จะเจริญเติบโตให้พร้อมพอที่จะออกมาใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกด้วยตัวเอง หากมองว่าคนตั้งครรภ์ใช้เวลา 9 เดือนนั้นนานแล้ว ลูกวาฬสีน้ำเงินกลับนานกว่า โดยใช้เวลาอยู่ในท้องแม่ถึง 1 ปี เมื่อตัวอ่อนออกมาจากท้องแม่ รกและสายเชื่อมต่อเพื่อส่งอาหาร ขับถ่าย รวมถึงการหายใจที่เชื่อมกับตัวแม่จะขาดออก เมื่อนั้นระบบหายใจ ขับถ่าย รวมถึงย่อยอาหารของลูกก็จะทำงานแทนที่ในทันที แม้ว่าจะยังต้องได้รับสารอาหารจากตัวแม่ผ่านทางน้ำนมต่อไปอีกระยะก็ตาม

 

2) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupials)

สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รกและมดลูกไม่ได้พัฒนาสมบูรณ์เหมือนกลุ่มแรก พวกมันจึงต้องมีกระเป๋าหน้าท้องไว้สำหรับเลี้ยงดูตัวอ่อน สัตว์ในกลุ่มนี้ทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดจากทวีปออสเตรเลีย ได้แก่ จิงโจ้ โคอะล่า และวอลลาบี (คล้ายจิงโจ้แต่ขนาดเล็กกว่า) เนื่องจากมดลูกพัฒนาได้ไม่ดีนักจึงไม่สามารถรองรับการเติบโตของตัวอ่อนได้เป็นเวลานาน ตัวอ่อนจำเป็นต้องออกมาจากท้องแม่และมาอาศัยอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องแทน

 

ตัวอ่อนของสัตว์เหล่านี้มีขนาดเล็กมากในตอนที่ออกจากท้องแม่ โดยจิงโจ้ตั้งท้องเพียงแค่ 30 - 45 วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนขนาดเล็กจะคลอดออกมา พวกมันจึงมีขนาดเพียงเม็ดถั่วแดงเท่านั้น ส่วนควอล (Quoll) สัตว์ในตระกูลมีกระเป๋าหน้าท้องที่เล็กที่สุดในโลก ตัวอ่อนของมันมีขนาดจิ๋วมากและน้ำหนักเพียง 18 มิลลิกรัมเท่านั้น การเดินทางอันยากลำบากครั้งแรกในชีวิตของตัวอ่อนเหล่านี้คือ ต้องคลานออกจากช่องคลอดของแม่ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะต้องคลานไปอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่และดูดนมเพื่อเติบโตต่อไปอีกหลายเดือน แม้ว่ามันอาจจะตัวใหญ่จนไม่สามารถอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่ได้แล้ว แต่มันก็จะยังดูดนมเพื่อให้ได้สารอาหารจากแม่ต่อไปอยู่ แม่จิงโจ้สามารถเลี้ยงลูกสามรุ่นสามตัวได้พร้อม ๆ กัน โดยตัวหนึ่งอยู่นอกกระเป๋าหน้าท้อง กินนมหนึ่งชนิดซึ่งมีสารอาหารจำพวกที่ให้พลังงานสำหรับลูกจิงโจ้ที่โตแล้ว อีกตัวหนึ่งอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องซึ่งกินนมอีกชนิดที่มีสารอาหารที่จำเป็นต้องการเจริญเติบโตที่แตกต่างออกไป และอีกตัวหนึ่งอยู่ในมดลูก

 

3) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่  (Monotremes)

Monotremes ซึ่งใช้เรียกสัตว์ในกลุ่มที่ออกลูกเป็นไข่นั้น แปลว่า รูเดียว ซึ่งหมายถึงช่องทางขับถ่ายและออกลูกของสัตว์ในกลุ่มนี้มีช่องทางเดียว ทำให้เป็นกลุ่มที่แปลกที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พวกมันให้กำเนิดลูกเป็นไข่ ไม่ใช่เป็นตัวเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ พวกมันวางไข่เหมือนสัตว์ปีกหรือสัตว์เลื้อยคลาน ตัวอ่อนจะมีเปลือกไข่หุ้ม ลูกอ่อนจะอาศัยและเจริญเติบโตภายใต้เปลือกไข่ โดยได้รับการดูแลจนกว่าจะฟักออกมา

 

สัตว์กลุ่มนี้ ได้แก่ ตุ่นปากเป็ดและตัวกินมด พวกมันมีแหล่งอาศัยเฉพาะในออสเตรเลียและนิวกินีเท่านั้น เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาจากไข่ ก็จะเติบโตและใช้ชีวิตเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ คือ ดูดน้ำนมจากแม่ จนกว่าพวกมันจะโตพอที่กินอาหารได้ด้วยตัวเอง

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับสัตว์ในกลุ่มมีกระเป๋าหน้าท้องและกลุ่มที่ออกลูกเป็นไข่จะไม่มีสะดือ หรือจุดที่เคยเป็นสายรก เพราะพวกมันไม่มีรกไว้ใช้ส่งต่อหรือรับสารอาหารจากแม่ในช่วงเป็นตัวอ่อน แต่แม้ว่าตุ่นปากเป็ด วาฬ หรือโคอะล่า จะมีความแตกต่างกันในวิธีการเกิด แต่ลักษณะที่เหมือนกันอย่างการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้น ก็ทำให้พวกมันจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (​Mammalia) เหมือนกัน และเป็นอีกตัวอย่างของวิวัฒนาการของสัตว์โลกที่แตกต่างแต่โดดเด่น และประสบความสำเร็จจนดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบันนี้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow