Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยาระบาย (Laxative) เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก

Posted By Plook Creator | 16 พ.ค. 61
9,442 Views

  Favorite

หากร่างกาายของเราเกิดการปั่นป่วน ระบบบางอย่างรวนจนทำให้เกิดความไม่ปกติขึ้น เราก็คงจำเป็นต้องหาทางบรรเทาหรือรักษาอาการนั้น ๆ ให้หายไป เช่นเดียวกับความผิดปกติของระบบขับถ่าย ที่ทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายตัวจนต้องใช้ตัวช่วยอย่างยาระบาย (Laxative) ซึ่งแม้จะช่วยให้สามารถขับถ่ายได้ดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

ร่างกายของมนุษย์มีกลไกที่คล้ายกับเครื่องยนต์ ร่างกายได้รับพลังงาน เผาผลาญพลังงานเพื่อใช้สอย และขับถ่ายสิ่งสกปรก ของเหลือ และสารพิษออกจากร่างกาย โดยสิ่งที่ร่างกายต้องการขับถ่ายออกไปมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1) สิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย 2) สิ่งที่มากเกินความต้องการของร่างกาย หากเป็นก๊าซอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ก็ขับออกมาผ่านลมหายใจ ส่วนของเหลวร่างกายจะขับผ่านเหงื่อและปัสสาวะ ขณะที่ของแข็งจะขับออกในรูปแบบของอุจจาระ โดยมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องคือลำไส้ใหญ่

 

การย่อยอาหารเริ่มต้นที่ปากและสุดลงที่ช่วงปลายของลำไส้เล็กและตอนต้นลำไส้ใหญ่ ในช่วงปลายของการย่อยอาหาร อาหารจะกลายสภาพเป็นของเหลว ซึ่งสารอาหารและน้ำจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายในช่วงของลำไส้ใหญ่ครึ่งแรก และกากอาหารต่าง ๆ จะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ จนไปถึงลำไส้ใหญ่ครึ่งหลังซึ่งจะเริ่มมีลักษณะกึ่งของแข็ง โดยจะถูกห่อหุ้มด้วยเมือกที่ถูกขับออกมาจากลำไส้เพื่อการหล่อลื่น ให้พร้อมเคลื่อนที่ออกจากร่างกายต่อไป

 

ปัญหาที่มักเกิดก็คือ กากอาหารตกค้างอยู่ในลำไส้นานเกินไปจนทำให้น้ำถูกดูดซึมออกไปจากกากอาหารมากไป กากอาหารที่ตกค้างอยู่นานจะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ และลำบากในการขับออก หรือกากอาหารมีปริมาณน้อยเกินไป ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่รับประทานเข้าไป จึงทำให้ไม่มีกากอาหารเพียงพอที่จะขับออก หรือร่างกายได้รับน้ำน้อยเกินไปทำให้ลำไส้ใหญ่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อดึงน้ำออกจากกากอาหารเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุดและทำให้กากอาหารแข็งและยากที่จะขับถ่าย เป็นต้นและเมื่อถึงจุดนี้ บางคนก็เลือกที่จะใช้ตัวช่วยอย่าง "ยาระบาย  (Laxative)"

 

หากแบ่งตามลักษณะการทำงาน เราจะพบว่ายาระบายนั้นมีหลายชนิด และแต่ละชนิดก็เหมาะสมกับต้นเหตุหรือลักษณะอาการของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน แต่ล้วนมีข้อควรระวังที่คล้ายกันคือ อาจทำให้ท้องอืด ระบบขับถ่ายผิดปกติเรื้อรัง และในที่สุดแล้วก็อาจจะต้องใช้ตัวยาที่แรงขึ้นเพื่อให้สามารถขับถ่ายออกมาได้


- ยาระบายในรูปแบบของ Bulking Agent เป็นยาเพิ่มปริมาณน้ำและกากใย เพื่อให้กากอาหารพองตัวและไม่แข็ง ทำให้เคลื่อนที่ผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น โดยปกติแล้วจะใช้เวลานานในการออกฤทธิ์ระหว่าง 12-72 ชั่วโมง ยาลักษณะนี้อาจเป็นสารเคมี หรือสารสกัดไฟเบอร์ หรืออาจเป็นการกินผักผลไม้ปริมาณมากเพิ่มจากปกติก็ได้


- กลุ่มยาหล่อลื่นลำไส้ Lubricant Laxatives จะเข้าไปทำงานอย่างเต็มที่ในลำไส้ใหญ่ครึ่งหลัง ร่วมกับเมือกที่ลำไส้ผลิตออกมาห่อหุ้มกากอาหาร ระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นกว่า และทำให้กากอาหารเคลื่อนตัวออกจากลำไส้ได้ง่ายขึ้น


- ยาระบายที่มีฤทธิ์ทำให้กากอาหารหรืออุจจาระอ่อนตัวลง Emollient Laxatives ทำให้มีไขมันหรือน้ำปะปนอยู่ในกากอาหารรอการระบายมากกว่าปกติ จึงเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังใช้เวลาในการเคลื่อนที่น้อยกว่าปกติ


- ยาระบายที่เข้าไปกระตุ้นการบีบรัดของลำไส้ Stimulant Laxatives โดยเข้าไปกระตุ้นเยื่อบุลำไส้ให้ผลักดันกากอาหารและของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายอย่างเร่งด่วน ซึ่งแม้จะเป็นการรบกวนระบบขับถ่ายและการทำงานของร่างกายโดยตรง ตลอดจนมีความอันตราย แต่สามารถใช้ได้เป็นครั้งคราวภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อระบายกากอาหารออกจากระบบอย่างรวดเร็ว


- ยาที่ทำงานโดยเพิ่มน้ำให้กับกากอาหาร Osmotic and Hyperosmolar Laxatives ซึ่งจะดูดของเหลวออกจากเนื้อเยื่อโดยรอบเข้าไปในลำไส้ เพื่อช่วยให้กากอาหารอ่อนตัวและเคลื่อนที่ได้ง่าย เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร่งด่วนเช่นกัน

 

 

จะเห็นได้ว่าการเพิ่มความสามารถในการขับถ่ายสามารถทำได้โดยวิธีธรรมชาติ เช่น การรับประทานอาหารที่มีน้ำและกากใยในปริมาณมากอย่างผักและผลไม้ ไปจนถึงการใช้สารเคมีกระตุ้นซึ่งอาจมีผลข้างเคียงอย่างมาก แต่สำหรับคนที่ไม่รับประทานผักและผลไม้ก็มักจะต้องใช้ยาระบายเข้าช่วยจนอาจเกิดอาการติดยาระบายได้ในที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ โดยเริ่มจากการทำให้อิเล็กโทรไลต์และเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกายเสียสมดุลไป เพราะเราไปบีบบังคับให้เกิดการขับถ่ายก่อนที่ร่างกายจะดูดซึมได้ เกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงในระหว่างที่ยาระบายออกฤทธิ์ ท้องผูกเรื้อรังเนื่องจากระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ อวัยวะภายในได้รับความเสียหายจากการใช้ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัว หรือการดึงน้ำจากเยื่อบุโดยรอบลำไส้ เป็นต้น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายจึงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุก่อน โดยพิจารณาเรื่องสารอาหารและชนิดของอาหาร รวมถึงปริมาณน้ำที่รับประทานในแต่ละวัน ควบคู่กับการตรวจการทำงานของระบบขับถ่ายอย่างเหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดโดยไม่ต้องพึ่งพายาระบายเป็นประจำจนติดนั่นเอง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow