Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบการย่อยอาหารของวัว

Posted By Ammay | 23 พ.ค. 61
123,911 Views

  Favorite

อย่างที่ทราบกันดีนะคะว่า “ผัก” ประกอบด้วยแร่ธาตุ วิตามิน ใยอาหาร และสารพฤกษเคมี (ประโยชน์ของผักหลากสี) ที่จะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและไม่ทำให้เราอ้วน แต่เคยสงสัยหรือไม่คะว่า “วัวหรือควายซึ่งกินแค่หญ้าทำไมถึงอ้วนได้?” วันนี้เราจะมาดูกันนะคะว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น

 

วัวหรือควายนั้นเป็นสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง ซึ่งจะมีระบบย่อยอาหารแตกต่างไปจากคนเราและสัตว์อื่น ๆ โดยสัตว์เคี้ยวเอื้องพวกนี้จะมีกระเพาะทั้งหมด 4 กระเพาะด้วยกัน  ได้แก่

ภาพ : Shutterstock

 

1. รูเมน (Rumen) หรือกระเพาะผ้าขี้ริ้ว

เป็นกระเพาะส่วนแรกที่มีขนาดใหญ่มาก อาหารหรือหญ้าที่สัตว์พวกนี้กินเข้าไปจะถูกย่อยเบื้องต้นโดยจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรียและโพรโทซัว ซึ่งจุลินทรีย์พวกนี้จะสร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยสลายเซลลูโลสจากพืชที่สัตว์กินเข้าไป และสามารถสังเคราะห์กรดไขมันจากสารคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ รวมถึงสังเคราะห์กรดอะมิโนจากยูเรียและแอมโมเนียที่ได้จากการย่อยสลายโปรตีนของหญ้าด้วย จากนั้นอาหารเหล่านี้จะถูกส่งเข้าสู่กระเพาะอาหารส่วนเรติคิวลัมและโอมาซัมต่อไป

 

2. เรติคิวลัม (Reticulum) หรือกระเพาะรวงผึ้ง

เป็นกระเพาะส่วนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ย่อยนมเมื่อตอนที่สัตว์พวกนี้ยังเล็กอยู่ ภายในกระเพาะส่วนนี้จะมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยเช่นเดียวกับกระเพาะอาหารในส่วนแรก โดยทำหน้าที่ร่วมกับรูเมนในการสำรอกอาหารออกมาเคี้ยวใหม่อีกครั้งที่ปาก (เป็นที่มาของการที่เราเรียกสัตว์ประเภทนี้ว่า “สัตว์เคี้ยวเอื้อง”)

 

3. โอมาซัม (Omasum) หรือกระเพาะสามสิบกลีบ

ภายในมีลักษณะเป็นแผ่นซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เรียกว่า omasal leaves หรือ lamina อาหารที่ผ่านเข้ามาในกระเพาะนี้จะมีลักษณะกึ่งของเหลว เพราะเป็นอาหารที่มาจากส่วนล่างของกระเพาะรูเมนที่มีอาหารเป็นชิ้นละเอียดแขวนลอยอยู่ เมื่ออาหารเข้ามาในกระเพาะสามสิบกลีบ กล้ามเนื้อของกระเพาะจะบีบตัว ทำให้น้ำที่ปนมากับอาหารถูกบีบออกมาประมาณ 30 - 60 เปอร์เซ็น  ซึ่งอาหารส่วนที่ถูกบีบน้ำออกแล้วจะยังคงอยู่ระหว่างเยื่อบาง ๆ แต่ละกลีบ ส่วนน้ำที่ถูกบีบออกจากอาหาร (ที่มีอิออนของแร่ธาตุบางชนิดรวมทั้งกรดไขมัน) สามารถถูกดูดซึมผ่านผนังกระเพาะไปใช้ประโยชน์ได้เลย นอกจากนี้การบีบตัวของกล้ามเนื้อส่วนกระเพาะสามสิบกลีบยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งผ่านอาหารเข้าไปยังกระเพาะแท้ด้วย

 

4. อะโบมาซัม (Abomasum)

เป็นกระเพาะแท้ ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนกับกระเพาะในระบบย่อยอาหารของคนเราหรือสัตว์อื่นที่ไม่เคี้ยวเอื้อง โดยอาหารหรือหญ้าที่ถูกย่อยมาก่อนนี้แล้วจะถูกเอนไซม์ต่าง ๆ หลายชนิดในกระเพาะย่อยต่อไป สุดท้ายอาหารที่ย่อยแล้วครั้งสุดท้ายก็จะแพร่เข้าสู่กระแสเลือดในบริเวณลำไส้เล็ก และถูกลำเลียงไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

 

เมื่อได้ศึกษาระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องพวกนี้แล้วเราจะพบว่า เหตุผลที่ทำให้สัตว์พวกนี้อ้วนได้แม้ว่าจะกินแค่หญ้า ก็เพราะในกระเพาะส่วนรูเมน (ผ้าขี้ริ้ว) มีจุลินทรีย์ (ที่มนุษย์ไม่มี) ซึ่งสามารถย่อยเซลลูโลสให้เป็นกลูโคส (Glucose) ได้ อีกทั้งยังสามารถย่อยโปรตีนจากพืชให้กลายเป็นกรดอะมิโน (Amino Acid) ได้ จุลินทรีย์พวกนี้จึงมีทั้งพลังงานและโปรตีนอยู่ในตัว ทำให้พวกสัตว์เคี้ยวเอื้องอ้วนได้แม้ว่าจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ตาม สรุปง่าย ๆ ก็คือ วัวหรือควายเปลี่ยนหญ้าเป็นน้ำตาลได้ แต่คนเปลี่ยนหญ้าหรือพวกผักเป็นน้ำตาลแล้วสะสมเป็นไขมันไม่ได้นั่นเอง

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow