Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝาแฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

Posted By Ammay | 25 เม.ย. 61
41,402 Views

  Favorite

หลายคนคงพอจะทราบแล้วว่า “การตั้งครรภ์” ก็คือ ภาวะที่มีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิแล้วได้ตัวอ่อนขึ้นมา ซึ่งตัวอ่อนนี้จะไปฝังอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูกและค่อยๆ พัฒนาเป็นอวัยวะต่าง ๆ จนเจริญเติบโตเป็นทารก

 

แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมแม่บางคนถึงสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดทารกได้มากกว่า 1 คนในครั้งเดียว หรือที่เราเรียกกันว่า “การตั้งครรภ์แฝด” โดยทารกที่เป็นแฝดกันนั้น บ้างก็มีหน้าตาที่เหมือนกันจนแยกไม่ออก บ้างก็มีหน้าตาและเพศที่ต่างกันจนถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นฝาแฝด เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ เราจะมาดูกันว่าแท้จริงแล้ว “แฝด” เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีแฝดประเภทไหนกันบ้าง

ภาพ : Shutterstock

 

การตั้งครรภ์แฝดนั้น เกิดจากความผิดปกติของการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิกับไข่ และการแบ่งตัวของตัวอ่อน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
    - กรรมพันธุ์ ในกรณีที่ญาติฝ่ายแม่มีลูกฝาแฝด ก็จะมีโอกาสการตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น
    - อายุของแม่และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ โดยยิ่งแม่มีอายุมากและมีจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์มาก ไข่ก็จะมีโอกาสตกในจำนวนมากขึ้น โอกาสการตั้งครรภ์แฝดก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
    - การกินยาคุมกำเนิด หากหยุดกินยาคุมกำเนิดหลังจากกินติดต่อกันตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนที่เคยถูกกดไว้ตอนกินยาคุมก็จะเป็นอิสระ ทำให้แม่สามารถตกไข่ได้ทีละหลายใบ จึงมีโอกาสทำให้เกิดลูกแฝดได้
    - การนำเทคโนโลยีที่ช่วยการเจริญพันธุ์มาใช้ เช่น การผสมเทียมในหลอดแก้วหรือการทำกิฟต์ ก็จะมีโอกาสเกิดครรภ์แฝดได้เช่นกัน


ทั้งนี้เราสามารถแบ่งประเภทของ “แฝด” โดยทั่วไปได้ 2 ประเภท คือ

1. แฝดแท้ (Identical หรือ monozygotic twins)

เป็นแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่ 1 ฟองและอสุจิ 1 ตัว จากนั้นเกิดการแบ่งตัวออกเป็น 2 ส่วน (หรือมากกว่า) ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมและรหัสพันธุกรรมชุดเดียวกันในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังการปฏิสนธิ ดังนั้นฝาแฝดประเภทนี้มักจะมีลักษณะหน้าตา เพศ รูปร่างและบุคลิกภาพต่างๆ คล้ายคลึงกันมาก แต่การตั้งครรภ์แฝดแท้จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ดังนั้น แม่ที่ตั้งครรภ์แฝดแท้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

2. แฝดเทียม (Fraternal หรือ dizygotic twins)

เป็นแฝดที่เกิดจากปฏิสนธิของไข่ 2 ฟองหรือมากกว่า และอสุจิ 2 ตัวหรือมากกว่า จากนั้นมีการแยกตัวกันแล้วจึงไปฝังตัวในมดลูก ทำให้แฝดเทียมอาจมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ และอาจเป็นคนละเพศกันได้อีกด้วย ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดเทียมมักจะพบได้มากกว่าการตั้งครรภ์แฝดแท้ แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการตั้งครรภ์แฝดแท้ โดยความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมของแฝดชนิดนี้เทียบเท่ากับพี่น้องที่เกิดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Ammay
  • 6 Followers
  • Follow