Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กว่าจะมาเป็นแอปเปิลหลากพันธุ์

Posted By Plook Creator | 26 ก.พ. 61
8,076 Views

  Favorite

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อากาศของประเทศเราเหมาะกับการเพาะปลูก และเราก็มีผักผลไม้พื้นถิ่นหลากพันธุ์ ยิ่งไปกว่านั้นระยะหลังเรายังมีการพัฒนาทางการเกษตร ซึ่งทำให้ภาคเหนือหรือพื้นที่สูงในบางที่สามารถเพาะปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวได้อีกด้วย แต่สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมผลไม้หลายชนิดจึงมีหลายสายพันธุ์ อย่างแอปเปิลที่มีทั้งแอปเปิลแจ๊ส กาล่า ฟูจิ แกรนนีสมิธ ฮันนีคริสป์ แบร์เบิร์น และนิวซีแลนด์โรส

 

รสชาติของแอปเปิลแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันแน่นอน รวมถึงสี และลักษณะของเนื้อสัมผัสด้วย โดยชื่อของแต่ละสายพันธุ์ที่เราเรียก เป็นเพียงชื่อที่ใช้แสดงตัวตนของมัน อธิบายถึงรูปร่าง ลักษณะ หรือรสชาติที่แต่ละสายพันธุ์เป็น หรืออาจจะเป็นเพียงชื่อเพื่อการตลาด ซึ่งนั่นเป็นเพียงแอปเปิลไม่กี่สายพันธุ์หากเทียบกับแอปเปิลทั้งหมดที่มีในโลกนี้กว่า 7,500 ชนิด

 

มนุษย์เองมีความชอบที่หลากหลาย และเช่นเดียวกันที่แอปเปิลก็มีหลากหลายทั้งเฉดสีที่แตกต่าง ขนาดเล็กใหญ่ ระดับความหวานที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อเพิ่มความต้านทานต่อแมลง ทำให้เปลือกหนาขึ้น เงางามขึ้น เพื่อเติมเต็มความตอ้งการของผู้บริโภค ยังไม่รวมถึงแหล่งที่ปลูกซึ่งก็ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ เช่น หากเรานำแอปเปิลสายพันธุ์ที่ชอบอากาศหนาวมาจากยุโรป ถึงแม้ว่าจะปลูกบนดอยที่มีอากาศหนาวคล้ายกัน แต่แสงแดดและความชื้นก็ยังแตกต่าง จนอาจไม่ได้ผลผลิตที่ดีเทียบเท่ากับแอปเปิลที่ปลูกในพื้นที่ต้นกำเนิดของมันได้ นั่นทำให้พวกมันมีความหลากหลายอย่างมาก

 

การผลิตแอปเปิลสายพันธุ์ที่อยากได้ เป็นไปตามความต้องการของตลาดและชาวสวนหรือผู้ผลิต ไม่ใช่เสกขึ้นมาหรือสุ่มขึ้นมาจากแอปเปิลที่เคยกินกันอยู่ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และชีววิทยาถูกนำมาใช้ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ด้วยหลักง่าย ๆ ของเมนเดล (Gregor Johann Mendel) บิดาแห่งวิชาพันธุศาสตร์ซึ่งเป็นนักบวชที่ทำงานและศึกษาถั่วที่เขาปลูกอยู่ในสวน จนค้นพบความจริงของธรรมชาติอันเป็นประตูสู่ความรู้เกี่ยวกับพันธุศาสตร์ตามที่เราได้รู้ในปัจจุบันนี้

 

จากความรู้ด้านพันธุศาสตร์ ทำให้เราต้องพิจารณาหาคุณสมบัติแอปเปิลที่เราต้องการจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เรามีอยู่ จำแนกชนิดของคุณสมบัติว่าเกิดจากยีนส์เด่นหรือยีนส์ด้อย เมื่อเราสามารถเลือกพ่อและแม่แอปเปิลที่จะผลิตออกมาเป็นแอปเปิลสายพันธุ์ที่เราต้องการได้ เราก็สวมวิญญาณชาวสวนและปลูกมันจนโต เมื่อมันออกดอก เราก็ต้องนำเกสรจากต้นพ่อพันธุ์ไปผสมเข้ากับต้นแม่พันธุ์ วิธีการนี้เรียกว่า การผสมข้ามพันธุ์ (Cross-pollination) และเมื่อการผสมประสบความสำเร็จ เรายังต้องรอให้ดอกพัฒนาเป็นผลด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เรารอคอยไม่ได้อยู่ที่ผลแอปเปิลจากต้นแม่พันธุ์ ผลจากต้นแม่พันธุ์ยังมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ เมล็ดที่อยู่ภายใน ซึ่งเกิดจากการผสมของต้นพ่อและต้นแม่ เมล็ดที่เราได้นี้จะให้ผลลัพธ์เป็นแอปเปิลที่มีคุณลักษณะแบบที่เราต้องการ โดยต้องรอจนกว่ามันจะโตเป็นต้นและออกดอกออกผลอีกที ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาจกินเวลาถึง 5 ปี และในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ง่ายเหมือนทฤษฎี ผลผลิตที่ออกมาอาจจะไม่ได้ตามคุณสมบัติที่เราเลือกไว้ และนั่นทำให้เราต้องทำซ้ำกระบวนการจับคู่ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดถึงจะได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

 

วิธีการขยายพันธุ์ซึ่งมนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมในการผสมพันธุ์แบบนี้เรียกว่า Cultivar ซึ่งจะเรียกแบบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ส่วนการตัดหรือตอนกิ่ง (Scion Wood) จะช่วยให้เราผสมระหว่างต้นที่ให้ผลที่ต้องการกับต้นที่แข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยเพิ่มอัตราความอยู่รอด ปริมาณผลผลิต และยังลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ได้บ้าง ท้ายที่สุด กระบวนการที่เรียกว่าอาจจะยากที่สุดคือการนำเข้าสู่ตลาด นั่นรวมถึงการตั้งชื่อ โฆษณาและการทำตลาดอื่น ๆ เพื่อให้สายพันธุ์เป็นที่รู้จัก เพราะท้ายที่สุดแล้วหากรสชาติที่ได้ถูกปากแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ คงไม่ทำเงินให้กับผู้ผลิตและเป็นการสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมดแบบสูญเปล่า เหมือนกับอีกหลายพันสายพันธุ์ที่ถูกผลิตออกมาแต่เรานึกหน้าตามันไม่ออก หรือแม้แต่ชื่อก็ยังจำไม่ได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow