Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ระบบย่อยอาหารและทางเดินอาหาร

Posted By Plook Creator | 04 ธ.ค. 60
36,084 Views

  Favorite

แม้ว่าเราจะรู้และเห็น หรืออาจจะรับรสของอาหารได้ในทุก ๆ ครั้งที่เรากินเข้าไป และเขาเล่าว่า การรับประทานอาหารจะทำให้ร่างกายของเราเจริญเติบโต ได้พลังงาน มีแรง แข็งแรง รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ หรือบาดแผลจากอุบัติเหตุต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เราถูกพร่ำบอกมาว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่เชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยว่าจริง ๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมข้าวแต่ละจานที่เรากินเข้าไปกลายเป็นพลังงานได้ หรือแม้แต่ไก่ย่าง ส้มตำ มันกลายไปเป็นส่วนไหนของร่างกายของเรา ทั้งหมดนี้เริ่มมาจากระบบย่อยอาหาร

 

ระบบย่อยอาหาร เริ่มต้นที่ส่วนแรกสุดของร่างกายของเราที่เปิดรับอาหาร หรือแหล่งพลังงานเข้าสู่ร่างกาย นั่นคือ ปาก ปากเป็นส่วนแรกเริ่มของระบบย่อยอาหารของร่างกายสัตว์ทุกชนิดรวมถึงคนด้วย แต่มีสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่เริ่มกระบวนการย่อยทั้งเชิงเคมีและเชิงกลไปพร้อม ๆ กันเหมือนที่มนุษย์สามารถทำได้

ภาพ : Shutterstock

 

การย่อยเชิงกลคือ การทำงานร่วมกันของกราม ฟัน ลิ้น ที่ช่วยกันขยับ บด ฉีก เคี้ยว และคลุกเคล้า ทำให้อาหารมีชิ้นเล็กลง ซึ่งง่ายต่อการลำเลียงไปยังอวัยวะส่วนอื่น รวมถึงง่ายต่อการใช้น้ำย่อยมาสลายสกัดเอาสารอาหารที่เป็นประโยชน์ออกมาจากแต่ละเมนูที่เรากินเข้าไป

 

ส่วนการย่อยทางเคมีที่เกิดขึ้นในปากด้วยนั้น เกิดจากน้ำลายซึ่งมีส่วนผสมของเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ซึ่งสามารถย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาลได้ หากไม่เชื่อให้ลองอมข้าวแล้วจะรับรสหวานได้ ซึ่งเอนไซม์นี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้โมเลกุลของอาหารมีขนาดเล็กลงเช่นกัน ช่องปากมีสภาพเป็นด่างอ่อน ๆ และนั่นทำให้เอนไซม์อะไมเลสทำงานได้ดี อย่างไรก็ตามการย่อยของเอนไซม์จะหยุดลงทันทีที่อาหารเคลื่อนตัวเข้าสู่กระเพาะอาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารมีสภาพเป็นกรด และนี่เป็นการจัดวางระบบของร่างกายอย่างดีเพื่อไม่ให้การทำงานของน้ำย่อยและเอนไซม์ต่างชนิดกันทำงานตีกันไปมา

 

หลอดอาหารแม้จะฟังดูเหมือนเป็นแค่ทางผ่านจากปากไปสู่กระเพาะอาหาร แต่ที่จริงแล้วมีส่วนช่วยในระบบย่อยเช่นกัน เพราะหลอดอาหารจะบีบรัดเป็นจังหวะเรียกว่า เพอริสตัลซิส ( Peristalsis) เพื่อลำเลียงอาหารให้ผ่านไปสู่กระเพาะอาหารได้ และในระหว่างที่มันเคลื่อนที่ จะเป็นการคลุกเคล้ารวมถึงจัดเรียงอาหารให้ทยอยเดินทางอย่างเป็นระเบียบและสม่ำเสมอ

 

เมื่ออาหารผ่านมาถึงกระเพาะอาหารซึ่งมีค่า pH อยู่ที่ 1-4 หมายถึง มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง หากสงสัยว่ามันเป็นอย่างไรในกระเพาะอาหาร ให้ลองจินตนาการถึงช่วงที่เคยป่วยอาหารไม่ย่อย ท้องอืด จนทำให้อาเจียนเอาอาหารในกระเพาะออกมา จะมีกลิ่นเปรี้ยว และทำให้คุณรู้สึกแสบจมูก ปาก รวมถึงหลอดอาหาร เนื่องจากกรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาตอนที่คุณอาเจียนด้วย

 

การย่อยที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหารเป็นการย่อยเชิงเคมีเป็นหลัก จะมีการเคลื่อนตัวของกระเพาะเพื่อคลุกเคล้าอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในกระเพาะอาหารมีน้ำย่อยหรือเอนไซม์หลายชนิดที่มีหน้าที่แตกต่างกัน บ้างใช้เพื่อย่อยโปรตีน บ้างช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง บ้างช่วยให้อาหารอ่อนตัวนุ่มลง เป็นต้น แต่อันที่จริงแล้วน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยสารอาหารนั้นเป็นเพียงตัวแคตทาลิสต์ (Catalyst) กล่าวคือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สสารที่เข้าทำปฏิกิริยาที่แท้จริงกับอาหารเพื่อให้ได้หน่วยเล็กที่สุดของสารอาหาร และพร้อมที่จะถูกนำไปดูดซึมไปใช้งานคือ น้ำ และนั่นเป็นเหตุผลที่ร่างกายของเรากระตุ้นความอยากดื่มน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงรับประทานอาหาร เพราะมันไม่เพียงช่วยหล่อลื่นระบบทางเดินอาหารระหว่างที่อาหารเดินทางไป แต่ยังเป็นตัวตั้งต้นในการย่อยด้วย

 

ทางเข้าและออกจากกระเพาะอาหารมีกล้ามเนื้อหูรูดซึ่งทำงานภายใต้การประสานงานของสมอง เพื่อให้การย่อยและเคลื่อนตัวของอาหารที่อยู่ระหว่างย่อยเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อหูรูดนี้เองที่ทำให้อาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารไม่ไหลย้อนขึ้นมาจนถึงหลอดลม รวมถึงไม่ไหลไปยังลำไส้เล็กเร็วเกินไป หรือไม่ให้ไหลย้อนจากลำไส้เล็กกลับมากระเพาะอาหาร

 

ลำไส้เล็กเป็นส่วนที่ยาวที่สุดของระบบย่อยและทางเดินอาหาร ลำไส้เล็กนอกจากจะมีการย่อยเชิงเคมีด้วยเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ แล้ว มันยังสามารถขยับตัวเพื่อคลุกเคล้าอาหารที่กำลังถูกย่อยในลำไส้ได้อีกด้วย จากนั้นอาหารจะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่ เพื่อดูดซึมสารอาหารที่จำเป็น รวมถึงน้ำ เป็นครั้งสุดท้าย  หากร่างกายกำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ ลำไส้ใหญ่ก็จะสามารถดูดน้ำออกจากสิ่งที่เหลือจากการย่อย ก่อนปล่อยกากอาหารต่าง ๆ ไปรอที่ส่วนท้ายสุดของลำไส้ใหญ่ซึ่งเรียกว่า ไส้ตรง (Rectum) เตรียมพร้อมขับออกจากร่างกายต่อไป


แม้ว่าเราจะพูดถึงแค่อวัยวะที่อาหารและของเสียจากการย่อยต้องเคลื่อนตัวผ่าน แต่ความจริงแล้วยังมีอวัยวะอื่น ๆ อีกมากที่ทำงานร่วมกันกับระบบย่อยอาหารหลัก ยกตัวอย่างเช่น ตับอ่อนซึ่งเป็นแหล่งผลิตเอนไซม์ไลเปส (Lipases) จะทำงานควบคู่ไปกับน้ำดีที่ถูกสร้างจากตับมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี เพื่อการย่อยไขมัน

 

โดยสรุปแล้วช่องปากสามารถย่อยแป้งได้บางส่วน กระเพาะอาหารย่อยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ลำไส้เล็กย่อยแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก อาจจะมีการย่อยโปรตีนอยู่บ้างเล็กน้อย และแม้ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหารและทางเดินอาหาร แต่สารอาหารที่ได้จากกระบวนการย่อยก็จะค่อย ๆ ถูกดูดซึมไปตามผิวสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นผนังกระเพาะ ผนังลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- สรุปหลักสำคัญของระบบย่อยอาหาร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow