Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาการสะอึกเกิดจากอะไร

Posted By Plook Creator | 16 ต.ค. 60
16,697 Views

  Favorite

สะอึกเป็นอาการที่ควบคุมไม่ได้ แม้เราจะรู้ว่ามันเกิดจากการทำงานที่ผิดจังหวะของอวัยวะในร่างกาย แต่เราก็ไม่สามารถตั้งใจให้มันเกิดขึ้น หรือทำให้มันหายได้ดั่งใจ แล้วทำไมเราจึงสะอึก แม้ว่ามันจะดูตลกบ้าง น่าขันบ้าง น่ารักบ้าง แต่หากเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่สำคัญ เช่น การพูดหน้าชั้น การนำเสนองาน หรืองานพิธีการ เราคงทำได้แค่ภาวนาให้อาการสะอึกหยุดลงเสียทีในตอนนั้น หรือไม่เราก็คงอยากจะหายตัวไปเองเลยดีกว่า แต่หากคุณไม่สามารถหยุดมันได้ และคิดว่าจะปล่อยให้ตัวเองสะอึกต่อไปอีกสัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ตำแหน่งคนที่สะอึกยาวนานที่สุดในโลกจากกินเนสบุ๊ก ก็คิดใหม่ได้เลย เพราะมีคุณตาคนหนึ่งชื่อ Charles Osborne (ชาลส์ ออสบอร์น) ที่สะอึกยาวนานถึง 68 ปี รั้งตำแหน่งที่สุดในโลกนี้อยู่

 

แม้ว่าอาการสะอึกจะดูเหมือนอาการที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ ไม่น่ามีอันตรายอะไรและควรจะหายได้เองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังมีความอันตรายแฝงอยู่ มันเริ่มต้นจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึก การสะอึกเกิดจากการทำงานที่ไม่สอดประสานกันของกะบังลม และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ

ภาพ : Shutterstock

 

กะบังลมคือแผ่นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบทางเดินหายใจของเรา มันอยู่ใต้ซี่โครงโดยเป็นตัวกั้นระหว่างช่องอกและช่องท้อง พร้อมทั้งทำหน้าที่เหมือนลูกสูบในเครื่องยนต์ ขยับขึ้นและลงเพื่อให้ปริมาตรของปอดขยายและหดตัว ทำให้เราสามารถหายใจเข้าและออกได้อย่างเป็นระบบ หากหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในการสูบฉีดเลือดเป็นจังหวะชีพจรแล้ว กะบังลมนี่แหละที่เป็นตัวควบคุมจังหวะการหายใจเข้า-ออกของเรา แต่ถ้ามันทำงานไม่เป็นจังหวะ กล้ามเนื้อกะบังลมเกิดหดเกร็งอย่างรุนแรง ก็ทำให้เกิดอาการสะอึกได้ ซึ่งอาการหดเกร็งตัวแบบผิดจังหวะนี้อาจจะเป็นเพราะมีบางอย่างไปรบกวนระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ

 

ไม่เพียงแต่ทำให้การหายใจติดขัด หรือมีเสียงสะอึกที่น่าขบขันเท่านั้น แต่อาการสะอึกยังอาจเป็นสัญญาณบอกถึงโรคบางอย่างได้ด้วย เช่น โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ความผิดปกติจากเนื้องอก ระบบต่อมไร้ท่อที่ผิดปกติ อาการติดเชื้อ หรือแม้แต่ความผิดปกติทางด้านอารมณ์และความเครียด อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงมากนักหากคุณไม่ได้มีอาการบ่อยครั้ง ส่วนวิธีแก้อาการสะอึกก็มีตั้งแต่วิธีที่บอกต่อ ๆ กันมา ไม่ว่าจะเป็นการกลั้นหายใจ ดื่มน้ำช้า ๆ หรือทำให้ตกใจ ไปจนถึงการใช้ยารักษา

ภาพ : Shutterstock

 

การกลั้นหายใจเป็นเวลานาน ๆ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะผ่อนคลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมได้ ส่วนการทำให้ตกใจก็เชื่อว่าเป็นเหมือนการรีเซ็ตระบบทางเดินหายใจ รวมถึงกล้ามเนื้อให้กลับมาทำงานแบบสมานฉันท์เป็นปกติอีกครั้ง วิธีที่พิสดารต่าง ๆ ในการแก้อาการนี้ก็มี เช่น การดื่มน้ำจากขอบแก้วด้านที่หันออกจากตัว ซึ่งไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างไร แต่เชื่อว่าการที่เราเพ่งสมาธิไปยังกิจกรรมอื่น ทำให้ลืมอาการสะอึกและเลิกสะอึกได้ แต่สำหรับคนที่มีอาการสะอึกบ่อย ๆ การดื่มน้ำหรือทำให้ตกใจคงไม่ใช่คำตอบ

 

หากคุณมีอาการสะอึกแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นประจำทั้งวัน ทุกวัน หรือเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 3 ชั่วโมง จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เป็นการด่วน เนื่องจากอาจมีสาเหตุร้ายแรงอื่น ๆ และแพทย์มักสั่งยาที่เกี่ยวกับระบบประสาท หรือยาแก้อาการอาเจียน หรือยาคลายกล้ามเนื้อ มาช่วยรักษาอาการดังกล่าว ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่น่าขันนักหากเราศึกษาต้นเหตุและที่มาที่ไปอย่างแท้จริง

ภาพ : Shutterstock

 

อาการสะอึกธรรมดาอาจจะทำให้สำลักอาหาร ข้าวติดหลอดลมได้หากเกิดตอนที่คุณกำลังกินอยู่ การดูแลและป้องกันโรคจึงไม่ใช่เพียงรับรู้ความผิดปกติของร่างกาย หากแต่ต้องเข้าใจกลไกธรรมชาติ และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องและทันท่วงที เพราะการแข่งกันสะอึกให้นานเกิน 68 ปี หรือสะอึกให้เร็วกว่า Jennifer Mee (เจนนิเฟอร์ มี) ผู้ที่มีสถิติการสะอึกมากกว่า 50 ครั้งในหนึ่งนาที คงไม่ใช่เรื่องที่น่าเล่นสนุกเลยจริง ๆ

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow