Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัตว์ที่ทำให้ระบบนิเวศยังคงอยู่

Posted By Plook Creator | 17 ส.ค. 60
16,110 Views

  Favorite

โลกของเราประกอบไปด้วยระบบนิเวศขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกันอย่างซับซ้อน มันซับซ้อนและสำคัญพอ ๆ กัน ทั้งในตัวเองและระหว่างระบบนิเวศด้วยกัน เปรียบเสมือนจิ๊กซอร์ที่หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปสักชิ้นก็ทำให้ภาพไม่สมบูรณ์ หากระบบหนึ่งล่มหรือเสียหายไป ก็จะพาให้ระบบใกล้เคียงเสียสมดุลและผิดเพี้ยนไปด้วย สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเพียงไม่กี่ชีวิตที่ถูกทำลายไปอาจจะทำให้เกิดความเสียหายอันยิ่งใหญ่ต่อระบบโดยรวมทั้งหมดได้

 

ลองคิดสภาพว่าหากโลกนี้ไม่มีสาหร่ายทะเล นากทะเลไม่มีที่หากินหรือที่อาศัยให้นอนลอยคอ หอยเม่นและหอยต่าง ๆ ก็อาจจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ปะการังก็จะถูกกินและทำลายไปจนหมด พืชใต้น้ำหายไป ทำให้การสังเคราะห์แสงใต้น้ำลดลงจนขาดออกซิเจนในน้ำ สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพิงออกซิเจนก็ตายหมด ผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างและมากกว่าที่เราจะคาดเดาได้ มันอาจไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ผลกระทบจะถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ ในห่วงโซ่ที่เกี่ยวพันนี้ และท้ายที่สุดทุกชีวิตรวมถึงคนเราก็จะได้รับผลกระทบด้วยไม่ช้าก็เร็ว

 

ในขณะที่สัตว์ปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและทำให้สิ่งแวดล้อมดำเนินไป หากเปรียบเทียบแล้วเราเองจะเป็นคนทำลายสมดุลมากกว่าจะทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ มีการศึกษาและพบว่ามีสัตว์บางสายพันธุ์ที่เป็นตัวแปรหลักในระบบนิเวศ เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ หรือฟันเฟืองหลักที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศ บางระบบนิเวศพึ่งพาสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์เป็นหลัก อาจจะด้วยผลกระทบของสายพันธุ์นั้นในแง่ขนาดหรือปริมาณ ยกตัวอย่างเช่น หมาป่าสีเทา (Grey Wolf) แห่งอุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน (Yellowstone National Park) ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบเดียวกันเป็นจำนวนมาก ในช่วงศตวรรษที่แล้วพวกมันถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปจากอุทยานฯ  จนหมด แต่พวกมันก็ถูกนำกลับมายังอุทยานแห่งนี้อีกครั้งในปี 1995 ซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงหมาป่าฝูงเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

ปัจจุบันมีฝูงหมาป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการนำหมาป่ากลับมายังอุทยานแห่งนี้ เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการที่สายพันธุ์หนึ่งจะมีอิทธิพลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ หรือที่เรียกว่า Tropic cascade เมื่อครั้งหมาป่าหมดไป ฝูงกวางก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนไม่อาจจะควบคุมได้ ป่าไม้แห้งเหี้ยนหมดสิ้น เพราะกวางเล็มกินจนหมด เมื่อหมาป่าถูกนำกลับมาไม่ใช่แค่ประชากรกวางถูกควบคุม กวางถูกต้อนหายไปจากบางส่วนของป่า ทำให้ผืนป่าได้รับการฟื้นฟู ต้นไม้บางต้นสูงขึ้น 5 เท่าในเวลาแค่ 6 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะนำผู้ล่ากลับมาอยู่ในที่ที่ควรอยู่ สมดุลเริ่มกลับคืน จำนวนกวางเริ่มลดลง ส่งผลกระทบต่อป่าในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อป่าฟื้นคืนชีวิต นก แมลง ต่าง ๆ ก็กลับเข้ามา และที่สำคัญหมาป่ายังทำให้ทางน้ำของแม่น้ำเปลี่ยนไป มันคดเคี้ยวน้อยลง ไม่ไหลบ่าอีกต่อไป ต้นไม้เริ่มรุกคืบทำให้ตลิ่งแน่นและมั่นคง เขื่อนของบีเวอร์ก็เช่นกัน บีเวอร์กลับมามีต้นไม้ให้กัดแทะอีกครั้ง แม่น้ำกลับมาเต็มตลิ่งเพราะเขื่อนของบีเวอร์ สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็เพิ่มจำนวนขึ้น สัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและสัตว์กินซากก็กลับมายังอุทยานฯ เนื่องจากซากเหยื่อของหมาป่ามีเพิ่มขึ้น อาหารของมันเพิ่มขึ้น มันจึงกลับมา แค่มีหมาป่า ระบบก็ถูกเติมเต็มได้อีกครั้ง

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ สัตว์ที่ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มากพอ ๆ กับมนุษย์ นั่นคือ ช้าง โดยเฉพาะช้างแอฟริกา (African-Forest Elephant) เนื่องจากขนาดที่ใหญ่และกำลังที่มีมากของมัน หากช้างผ่านทางไหน พืชต่าง ๆ ที่มันกินได้ก็จะถูกกวาดเรียบไปเสียทั้งหมด ยังไม่นับภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากการแผ้วถางของมันอย่างต้นไม้ใหญ่ที่ขวางทาง หรือบ่อน้ำเล็กที่เมื่อฝูงช้างลงไปดื่มกินแล้วก็อาจจะพังและหายไปตลอดกาล การเอื้อมและแผ้วถางต้นไม้เพื่อหาผลไม้หรือยอดไม้เป็นอาหารของช้าง ทำให้สัตว์อื่น ๆ ได้มีอาหารกินจากการที่ต้นไม้หรือกิ่งไม้ถูกหักโค่นลงมา และถ้าหากไม่มีช้าง สัตว์ที่ตัวเล็กกว่าที่อาศัยกินผลไม้บนยอดไม้เหมือนกันก็จะอดอยากและลดจำนวนลง

 

นอกจากนี้เมื่อมีการถอนต้นไม้หรือพังทลายหน้าดิน ดินที่เป็นหลุมเป็นโพรงยังเป็นที่อาศัยสำหรับสัตว์เล็ก รวมถึงการพังหน้าดินเพื่อกินโป่งของช้างซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์ ก็ทำให้สัตว์อื่น ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากแอ่งโป่งดินเหล่านั้นได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกวาง แอนติโลป หมูป่า นก หรือแมลง ต่างได้ประโยชน์จากคนสวนประจำป่าใหญ่เช่นกัน นี่เรายังไม่ได้พูดถึงมูลช้างปริมาณมหาศาลที่พวกมันขับถ่ายออกมา ซึ่งเป็นอาหารให้แมลง รวมถึงช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์และเป็นปุ๋ยอย่างดีกระจายไปทั่วท้องทุ่ง

 

ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยก็พยายามศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการนำหมาป่าสีเทา เข้าไปยังอุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนว่ามีคุณลักษณะที่สำคัญอย่างไรและสามารถจะนำไปปรับให้เข้ากับระบบนิเวศอื่น ๆ ที่มีปัญหาอยู่ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาได้หรือไม่ รวมถึงสร้างความตระหนักและตื่นรู้แก่คนทั่วไปถึงความสำคัญของช้างแอฟริกา และสัตว์ป่าอื่น ๆ เพราะระบบนิเวศนั้นซับซ้อนและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเล่น ๆ และไม่ได้ไร้ประโยชน์ ทุกชีวิตล้วนเกิดมาอย่างตั้งใจและมีจุดหมาย มันได้วิวัฒนาการมาหลายล้านปีเพื่ออยู่อย่างสมดุล และการที่มนุษย์เราเข้าไปปรับเปลี่ยน ก็รังแต่จะทำให้สมดุลสูญเสียไป เราอาจจะไม่ได้โชคดีทุกครั้งในการที่จะทำให้ระบบนิเวศกลับมาเหมือนเดิมเหมือนอย่างที่อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตนเคยทำมาแล้วก็เป็นได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow