Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกของการบริหาร และการจัดการโดยทั่วไป

Posted By Plookpedia | 07 ส.ค. 60
8,175 Views

  Favorite

การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยกลไกของการบริหาร และการจัดการโดยทั่วไป 

๑.๑ กฎหมาย 

      เครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะมีผลทำให้การจัดการหรือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จก็ คือ กฎหมาย ทั้งนี้เพราะต้องอาศัยกฎหมายเพื่อการกำหนดนโยบายการจัดการให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลักความสมดุลของธรรมชาติมีความสอดคล้องกับการกำหนดอำนาจหน้าที่วิธีการประสานงานขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบและข้อกำหนดอย่างชัดเจนด้วย  เดิมทีประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพียงฉบับเดียวที่ครอบคลุมเรื่องการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ และฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๒๑ แต่พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มิได้มีกลไกที่เป็นระบบที่จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและแผนที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปสู่ภาคปฏิบัติที่ได้ผล  ขาดความต่อเนื่องในการติดตามตรวจสอบโครงการที่ได้ดำเนินงานไปแล้ว ขาดอำนาจในการลงโทษและการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและประเด็นที่สำคัญก็ คือ ไม่มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะต้องรับภาระในการแก้ไข นอกจากนั้นยังไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดทำเครือข่ายการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้มีการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐบาล เอกชนและองค์กรเอกชนอย่างมีระบบรวมทั้งยังไม่ได้มีการกระจายอำนาจออกไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้เพียงพอด้วย

 

ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีค่ามักมีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าอยู่เป็นประจำทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนควรจะมีส่วนช่วยในการดูแลรักษาป่า


      ปัจจุบันมีการตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นกฎหมายที่จะเอื้ออำนวยต่อการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้มีผลทำให้เกิดมาตรการ การดำเนินงานต่าง ๆ อาทิเช่น การปรับองค์กรให้มีเอกภาพทั้งในการกำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ การกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมออกสู่จังหวัดและท้องถิ่น การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด การพิจารณาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งก่อนและหลังโครงการพัฒนา การกำหนดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประชาชนและเอกชนที่จะมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  การนำมาตรการด้านการเงินการคลังมาใช้เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้เป็นแรงจูงใจและมาตรการบังคับให้ ส่วนราชการท้องถิ่นองค์กรเอกชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักการ "ผู้ก่อให้เกิดมลพิษ ต้องมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่าย" การกำหนดหรือจำแนกพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเร่งด่วน เพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์และควบคุมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีการกำหนดความรับผิดชอบทางแพ่ง การต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือสินไหมทดแทนกรณีทำให้เกิดการแพร่กระจายมลพิษและการเพิ่มบทลงโทษในการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดขึ้นด้วยทั้งในรูปของการปรับและการระวางโทษจำคุก เป็นต้น  นอกจากนี้แล้วยังมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ซึ่งมีบทบัญญัติบางมาตรา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกหลายฉบับ อาทิเช่น พระราชบัญญัติโรงงาน ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติสาธารณสุข ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. ๒๕๒๐ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๓ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้น รวมทั้งยังมีประกาศกระทรวง กฎกระทรวง ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยความตามมาตราในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ข้างต้นอีกด้วย

 

 

 

๑.๒ องค์กรเพื่อการบริหารงานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 

      จากการที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ขึ้นใหม่  ได้มีผลทำให้มีการปรับอำนาจหน้าที่และองค์ประกอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้นใหม่โดยมีลักษณะเป็นคณะรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมการและเลขานุการซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงและจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมขึ้น ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ๓ หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

  • สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม : มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้สอดคล้องกับนโยบายด้านต่าง ๆ ของประเทศ  การจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประสานการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด การประสานการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเสนอแนะแนวนโยบายแนวทางและการประสานการบริหารงานการจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการติดตามตรวจสอบและการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมหรือโครงการของภาครัฐหรือเอกชน การประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนภูมิภาคและการกำหนดท่าที แนวทางและประสานความร่วมมือ รวมทั้งการเข้าร่วมในพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
  • กรมควบคุมมลพิษ : มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ด้านการควบคุมมลพิษการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด การจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบคุม ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ การพัฒนาระบบ รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศ ระดับเสียง สารอันตราย และกากของเสีย รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องราวร้องทุกข์ด้านมลพิษ

 

ทรัพยากรธรรมชาติ
ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา

 

ทรัพยากรธรรมชาติ
การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นวิธีการในการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาน้ำเสียวิธีหนึ่ง : 
ก. การตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณแม่น้ำแม่กลอง

 

 

ทรัพยากรธรรมชาติ
การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ เป็นวิธีการในการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาน้ำเสียวิธีหนึ่ง : 
ข. การตรวจวัดคุณภาพน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน

 

  • กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม : มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในด้านการส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำระบบข้อมูลข้อสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน

      นอกจากนี้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมยังได้มีการจัดตั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาคขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย โดยในปัจจุบันมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภูมิภาคอยู่ ๔ สำนักงาน คือ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา  สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี

๑.๓ กองทุนสิ่งแวดล้อม 

      กลไกพื้นฐานประการหนึ่งที่จะทำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลเป็นรูปธรรมก็ คือ การให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ดังนั้นในปัจจุบันจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งกองทุน คือ การให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการกู้ยืมและร่วมลงทุนสำหรับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างและดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมของทางราชการในระดับท้องถิ่นหรือส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องที่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน การบริหารกองทุนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมซึ่งมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานฯ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  กองทุนสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ๒๕๓๕ โดยรัฐได้จัดสรรเงินงบประมาณให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเบื้องต้น ๕๐๐ ล้านบาท เงินสมทบจากองทุนน้ำมัน ๔,๕๐๐ ล้านบาท และต่อมาในปี ๒๕๓๖ และ ๒๕๓๗ ได้รับการจัดสรรเงินจากเงินงบประมาณแผ่นดินอีกปีละ ๕๐๐ ล้านบาท

๑.๔ การวางแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

      ประเทศไทยได้เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ แต่การวางแผนพัฒนาในระยะแรก ๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนักโดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ (๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ (๒๕๑๕ - ๒๕๑๙) ได้เน้นการระดมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยขาดการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมขาดการคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมจนในช่วงของปลายแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ได้ปรากฏให้เห็นชัดถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรหลักของประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าไม้ ดิน แหล่งน้ำ และแร่ธาตุ รวมทั้งได้เริ่มมีการแพร่กระจายของมลพิษ ทั้งมลพิษทางน้ำ มลพิษทาง อากาศ เสียง กากของเสีย และสารอันตราย ดังนั้นประเทศไทยจึงได้เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ เป็นต้นมา

  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๐ - ๒๕๒๔) : กำหนดแนวทางการฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรที่ถูกทำลายและมีสภาพเสื่อมโทรม การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างกว้าง ๆ ไว้ในแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ และได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังขึ้นโดยได้มีการจัดทำนโยบายและมาตรการการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๒๕๒๔ ขึ้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕ - ๒๕๒๙) : กำหนดแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยการนำนโยบายและมาตรการการพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ได้จัดทำขึ้นมาเป็นกรอบในการกำหนดแนวทางมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดให้โครงการพัฒนาของรัฐขนาดใหญ่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งมีการจัดทำแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ เช่น การพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก การวางแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาภาคใต้ตอนบน
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ (๒๕๓๐ - ๒๕๓๔) : ได้มีการปรับทิศทางและแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใหม่โดยการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทซึ่งได้แก่ ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรแหล่งน้ำ ทรัพยากรประมง และทรัพยากรธรณีและการจัดการมลพิษมาไว้ในแผนเดียวกัน ภายใต้ชื่อแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับปรุงการบริหารและการจัดการให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบและสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและที่สำคัญ คือ เน้นการส่งเสริมให้ประชาชน องค์กร และหน่วยงานในระดับท้องถิ่นมีการวางแผนการจัดการและการกำหนดแผนปฏิบัติการในพื้นที่ร่วมกับส่วนกลางอย่างมีระบบโดยเฉพาะการกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดทั่วประเทศ
  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ (๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) : การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยการสนับสนุนองค์กรเอกชน ประชาชน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายและแผนการจัดการ การเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้ว การจัดตั้งระบบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อใช้ในการวางแผนการนำมาตรการด้านการเงินการคลังมาช่วยในการจัดการและการเร่งรัดการออกกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

๑.๕ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

      การพัฒนาด้านต่าง ๆ จะต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดผลิตผลตามความต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีของเสียเป็นสารมลพิษเกิดขึ้นด้วยซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ธรรมชาติมีขีดความสามารถในการรองรับของเสียได้เพียงบางส่วนและประกอบกับเราก็ไม่สามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดหรือแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษให้หมดสิ้นไปได้ทั้งหมดด้วย ดังนั้นการควบคุมภาวะมลพิษของประเทศไทยจึงใช้วิธีการกำหนดมาตรฐานเป็นสำคัญ การกำหนดมาตรฐานนี้เป็นมาตรการโดยตรงที่สามารถควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษและเป็นเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการจัดการควบคุมปัญหาภาวะมลพิษเพื่อให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและระดับความต้องการของคุณภาพชีวิตรวมทั้งยังเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายที่ถูกต้องเพื่อการพัฒนาและป้องกันการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมให้สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและควบคู่กันไป
      การกำหนดมาตรฐานโดยทั่วไปจะทำได้สองลักษณะ คือ การกำหนดมาตรฐานจากแหล่งกำเนิดหรือมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Standard) และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Ambient Standard) 

  • มาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด (Emission Standard)  เป็นมาตรฐานมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยทั่วไปมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว อาทิเช่น มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินที่ไม่ใช่ทะเล มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง มาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภค มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มและมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ เป็นต้น
  • มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Ambient Standard)  เป็นมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดหรือกิจกรรมต่าง ๆ มาตรฐานที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว อาทิเช่น มาตรฐานคุณภาพอากาศเสียที่ระบายออกจากท่อไอเสียของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือกล มาตรฐานคุณภาพอากาศเสียที่ระบายออกจากโรงงาน มาตรฐานระดับเสียงของรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือกล และมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด เป็นต้น

      มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเหล่านี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เมื่อมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเสมอภาคกันและต่อเนื่องรวมทั้งจะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าของโครงการหรือนักลงทุนผู้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญด้วย  นอกจากนี้เพื่อให้การใช้มาตรฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการสนับสนุนการกระจายอำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๒๕๓๕ ยังได้มีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตควบคุมมลพิษซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมวิกฤต มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดให้สูงกว่ามาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนดไว้แล้วได้

๑.๖ มาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 

      ปัจจุบันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือในการดำเนินงานแก้ไขทั้งในภาครัฐบาลผู้ประกอบการและประชาชนโดยทั่วไป ดังนั้น แนวทางการจัดการหรือแนวทางการอนุรักษ์จึงต้องเข้าไปแทรกแซงอยู่ในพฤติกรรมของผู้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว โดยการสร้างแรงจูงใจทางด้านเศรษฐกิจขึ้นซึ่งวิธีนี้จะทำให้การอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพราะจะเป็นการให้ความเป็นธรรมในการกระจายต้นทุนและผลประโยชน์ในการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งได้แก่
      ๑. การกำหนดมาตรการที่จะช่วยให้ราษฎรในระดับท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นโดยการนำรายได้จากการบริหารและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมาจัดสรรและนำกลับไปพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตของราษฎรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น อาทิเช่น การจัดสรรผลประโยชน์จากการดำเนินงานด้านป่าไม้โดยการเก็บภาษีผลกำไรในธุรกิจป่าไม้และนำไปใช้ในโครงการพัฒนาชนบทหรือการนำค่าธรรมเนียมการเข้าไปใช้พื้นที่คุ้มครองไปใช้ในการป้องกันรักษาทรัพยากรและการจัดการพื้นที่คุ้มครองในแต่ละแห่ง เป็นต้น
      ๒. การลดอัตราอากรสำหรับเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเนื่องจากปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรักษาหรือควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมขึ้นมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรวัสดุและอุปกรณ์เหล่านี้ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๕ จึงได้กำหนดแนวนโยบายด้านการลดอัตราอากรศุลกากรหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานหรือที่รักษาสิ่งแวดล้อมขึ้นโดยให้เรียกเก็บอัตราอากรเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติหรือเหลือร้อยละ ๕ แล้วแต่อย่างไหนจะต่ำกว่า รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานตลอดจนการอนุมัติรายการเครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ที่สมควรได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอากรด้วยเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ ที่รักษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในข่ายได้รับการลดอัตราอากรจะต้องเป็นชนิดและประเภทที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย ขจัดกากของเสียของขยะ ใช้ลดหรือป้องกันเสียงรบกวนจากต้นกำเนิดในกิจการอุตสาหกรรม อาทิเช่น แผ่นหมุนชีวภาพ อุปกรณ์ในการกำจัดคราบน้ำมัน เครื่องบีบตะกอน เครื่องเติมอากาศ อุปกรณ์ครอบเสียงเครื่องดักฝุ่น ผ้ากรองฝุ่นหรือถุงกรองฝุ่น สารเคมีที่ช่วยในการจับตะกอนของอากาศเสีย เครื่องกำจัดไอกรด รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย วิเคราะห์ ตรวจวัด และติดตามผล เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม  

      การริเริ่มลดอัตราอากรศุลกากรของเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ ที่ใช้ในการรักษาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้นับเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับโครงสร้างของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้เพราะเป็นมาตรการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งจูงใจและสร้างความกระตือรือร้นให้แก่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
      ๓. การนำมาตรการการลดหย่อนภาษีรายได้ตามประมวลรัษฎากรมาใช้เพื่อสนับสนุนและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันกระทรวงการคลังได้กำหนดให้รายจ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ สามารถนำมาหักภาษีรายได้ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ ๒ ของกำไสุทธิได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสนับสนุนให้การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รายจ่ายเพื่อกิจการสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้แก่ หรือเพื่อกิจการต่าง ๆ ดังนี้ คือ 
(๑) การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 
(๒) การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 
(๓) การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 
(๔) การส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 
(๕) การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษและของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 
(๖) กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

 

สัตว์ป่าสงวน

 

สัตว์ป่าสงวน


      ๔. การให้ผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากทางราชการในการขออนุญาตนำผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ติดตั้ง ควบคุมและดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบบำบัดอากาศเสีย และระบบกำจัดของเสีย ในกรณีไม่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศรวมทั้งขอยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลนั้น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว 

๑.๗ การประชาสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมศึกษา 

      การป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้น  ปัจจุบันสามารถกระทำได้หลายวิธีทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การออกกฎหมายควบคุมและอีกหลาย ๆ วิธีดังกล่าวข้างต้นแต่วิธีการที่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยให้การดำเนินงานแก้ไขและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลในระยะยาวก็ คือ การสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในตัวของประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  วิธีการที่จะสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้วิธีหนึ่งก็ คือ การให้การศึกษาและการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล ทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจถึงอันตรายของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง และตระหนักถึงคุณค่าและคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

๑. การให้การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ 
      โดยการกำหนดหลักสูตรวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาในลักษณะสอดแทรกในหมวดวิชาการต่าง ๆ ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษารวมทั้งอุดมศึกษาด้วยการมุ่งเน้นในด้านการมีบทบาทและความสำนึกรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนจะต้องร่วมกันและในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ได้ดำเนินการผลิตบัณฑิตทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ส่วนการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมนอกระบบนั้นหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้จัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำโดยการใช้สื่อทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวารสารต่าง ๆ รวมทั้งการจัดให้มีกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การประชุม สัมมนา และการจัดนิทรรศการด้านสิ่งแวดล้อมเนื่องในวันสำคัญ ๆ เช่น วันสิ่งแวดล้อมโลก วันสิ่งแวดล้อมไทย สัปดาห์อนามัยสิ่งแวดล้อม สัปดาห์ตาวิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ยังได้มีการสนับสนุนการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ขึ้นเป็นการภายใน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย
๒. การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร และการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม 
      ปัจจุบันการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกแก่ประชาชนโดยทั่วไปนั้นมีการดำเนินงานในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการสร้างสื่อซึ่งได้แก่ สปอตทีวี สารคดี การผลิตโสต ทัศนูปกรณ์ และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทั้งด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญใน ๒ ประเด็น คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการป้องกันแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษ

  • การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การอบรมผู้นำเยาวชนเพื่อการพิทักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น โครงการอีสานเขียว โครงการวันต้นไม้แห่งชาติ เป็นต้น

 

การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ เช่น การเข้าค่าย การร่วมรณรงค์ การจัดนิทรรศการ ฯลฯ

 

  • การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษเนื่องจากปัญหามลพิษเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในย่านอุตสาหกรรมและในเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่ การสร้างจิตสำนึกจึงเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ประกอบกิจการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คนงาน และประชาชนในเมือง โดยการรณรงค์จะเป็นการผสมผสานวิธีการในหลายรูปแบบทั้งการจัดการฝึกอบรม สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การประกวดบทความ ภาพวาดสำหรับเยาวชน เรียงความ การแข่งขันตอบปัญหาผ่านสื่อมวลชน เป็นต้น

 

การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
การรณรงค์เพื่อใช้วัสดุธรรมชาติ ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นการลดปริมาณขยะ

 

      เนื่องจากการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนโดยทั่วไปนั้นเป็นความพยายามที่จะปรับพฤติกรรมของมนุษย์ในทิศทางที่เสริมสร้างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการแก้ไข ป้องกัน ปัญหาภาวะมลพิษซึ่งมักจะขัดกับพฤติกรรมที่เคยชินของประชาชนในสังคมปัจจุบันรวมทั้งยังจำเป็นต้องมีการเสียสละเวลาและผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมด้วย  จึงเป็นการดำเนินงานที่ต้องการความละเอียดอ่อนและต้องใช้ระยะเวลารวมทั้งต้องมีการวางแผนที่เหมาะสมเพื่อให้เข้าถึงประชาชนจึงจะทำให้เกิดผลบรรจุถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้

 

การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม
การรณรงค์ให้หันมาใช้รถจักรยานเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและภาวะมลพิษของสมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

 

การรณรงค์
การให้เยาวชนได้เข้าร่วมอบรมทางด้านการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยให้ความรู้ในด้านการขยายพันธุ์พืชเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการสร้างพื้นที่สีเขียว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow