Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

จักจี้ตัวเองแล้วไม่หัวเราะ เป็นเพราะอะไรกันนะ

Posted By Plook Creator | 26 ก.ค. 60
11,081 Views

  Favorite

จักจี้คืออะไร? จักจี้ (​Tickle) คือ การที่ร่างกายบางส่วนถูกสัมผัสแล้วเกิดความรู้สึกเสียวปนกลัว อยากหัวเราะ จนเมื่อเริ่มแล้วก็หยุดไม่ได้จนกว่าจะหยุดสัมผัส ความจริงก็คือ มันเป็นความรู้สึกที่คนไม่เคยโดนไม่รู้หรอก จุดสัมผัสส่วนใหญ่จะอยู่ตามข้อพับต่าง ๆ เอว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออาจจะเป็นบริเวณผิวที่มีเซลล์ประสาทรับสัมผัสจำนวนมาก แต่อาการจักจี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สัมผัสเท่านั้น จังหวะและบุคคลก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รู้สึกจักจี้ หากไปจี้จุดคนที่ไม่รู้สึก หรือทำแรงเกินไป หรือจี้ตัวเอง ก็จะไม่จักจี้ แต่อาจเจ็บหรือหงุดหงิดแทน

 

ความรู้สึกจักจี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในคนเท่านั้น
สัตว์หลายชนิดก็มีความรู้สึกเช่นนี้ได้
เช่น กอริลล่า หนู หรือสุนัข

 

การจักจี้เป็นความสุขอย่างง่าย ๆ ที่ทุกคนโดนมาตั้งแต่ยังเป็นทารก พ่อแม่อยากให้ลูกน้อยของตัวเองมีความสุขหรือหัวเราะก็จะจักจี้ ความรู้สึกจักจี้ที่เรากล่าวถึงกันอยู่นี้คือ  Gargalesis ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Tickling แต่ยังมีความรู้สึกจักจี้อีกรูปแบบ ได้แก่ Knismesis ความรู้สึกรูปแบบนี้จะคล้ายอาการคัน อาจเกิดจากการใช้ขนนกมาสะกิดเบา ๆ บริเวณผิวหนังที่ไวต่อสัมผัส ทำให้คันจนอยากจะเกา แต่ไม่ได้รู้สึกอยากหัวเราะแต่อย่างใด

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาและพบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของคนเราเมื่อถูกจักจี้ โดยสิ่งที่สมองหรือประสาทของเรารับรู้คือ ความรู้สึกปนเปกันระหว่างความเจ็บปวดอย่างเบาบางและความสุข ซึ่งถูกส่งมาจากผิวหนังชั้นเอพิเดอมิส (Epidermis) นักประสาทวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่า เราหัวเราะเพราะสมองของเราสั่งให้หัวเราะเมื่อเราได้รับการสัมผัสอย่างแผ่วเบาในบางจุด ซึ่งอาจเป็นกระบวนการป้องกันตนเอง เป็นการปลดปล่อยความเครียดในบางสถานการณ์ และยังเป็นการป้องกันตนเองไม่ให้บาดเจ็บ

 

แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของอาการจักจี้ แต่เราก็รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้จริง คำถามที่เหลืออยู่คือ ทำไมจักจี้ตัวเองไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของสมอง รับรู้ว่าเราพยายามทำอะไรกับร่างกายและไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปสนใจ เพราะมันเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ จึงไม่ต้องตอบสนองต่อสิ่งที่เราพยายามทำกับตัวเอง คุณจึงสามารถจักจี้เพื่อนได้ เพื่อนสามารถจักจี้คุณได้ แต่คุณไม่สามารถจักจี้ตัวเองได้ และคุณก็ไม่สามารถหลอกตัวเองได้ว่ากำลังถูกเพื่อนจักจี้ เพราะสมองไม่ได้รับรู้ด้วย คุณหลอกสมองไม่ได้ สมองรู้ว่าคุณกำลังจะเอานิ้วจิ้มไปบริเวณไหนของตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับการสัมผัส ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคบางชนิดซึ่งอาจรับรู้ถึงภาพหลอน อันเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) คนเหล่านี้จะไม่สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตัวเอง คนเหล่านี้จึงสามารถจักจี้ตัวเองได้

ภาพ : Shutterstock

 

มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อหาทางจำลองการจักจี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพจำลองผ่านแว่น Virtual Reality (แว่นที่ให้ภาพเสมือนจริง) หรือการจักจี้ด้วยมือยางจำลองในขณะที่ตามองเห็นและผู้ทดลองอาจจะคิดว่าเป็นมือตัวเอง หรือแม้แต่การปลุกคนที่อยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นซึ่งร่างกายยังไม่ตื่นตัวทั้งหมด และไม่น่าจะรับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เต็มที่ขึ้นมาเพื่อจักจี้ตัวเอง​ แต่การทดลองทั้งหมดล้วนไม่ประสบความสำเร็จ


กิจกรรมง่าย ๆ แบบการจักจี้จึงยังคงเป็นความลับอยู่ ทั้งในแง่จุดประสงค์ของความรู้สึกนี้ กลไกการทำงานของมัน รวมถึงสาเหตุที่ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการจักจี้ด้วยตัวเองได้ ความสุขที่แสนทรมานนี้จะยังคงทำให้คุณหัวเราะและทรมานไปอีกซักพัก จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจการทำงานของร่างกายเรามากขึ้น เพราะการจักจี้ไม่ใช่แค่การส่งความรัก ส่งรอยยิ้ม และกระตุ้นให้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่มันอาจจะมีความลับเกี่ยวกับการอยู่รอดของสายพันธุ์ซ่อนอยู่ก็เป็นได้

 

ภาพปก : Shutterstock

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow