Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมเรามีลักยิ้ม

Posted By Plook Creator | 15 ก.ค. 60
32,639 Views

  Favorite

หลุมบริเวณใบหน้าที่ทำให้คุณยิ้มแล้วน่ารักขึ้นอีก 20% บางคนว่ามันคือเสน่ห์ เพราะแม้มันจะแปลก แตกต่าง แต่ก็ดึงดูด และไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็มีมัน คุณต้องเป็นคนพิเศษเท่านั้น แต่พิเศษตรงที่มันเป็นความพิการชนิดหนึ่ง หลุมที่พูดถึงอยู่นี้ คือ ลักยิ้ม (Dimple )


ลักยิ้มเป็นข้อบกพร่องที่งดงามบนใบหน้า ดาราชื่อดังมากมายต่างก็มีความบกพร่องนี้อยู่บนใบหน้า เช่น นางเอกบานฉ่ำตลอดกาล จูเลีย โรเบิร์ต (Julia Robert) ดึงดูดผู้คนให้หลงใหลด้วยรอยยิ้มสดใส ปากที่กว้างแต่ทรงเสน่ห์ และลักยิ้มของเธอ แต่ลักยิ้มนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไรล่ะ

 

ร่างกายของเรามีกล้ามเนื้ออยู่ประมาณ 792 มัด บางกลุ่มอยู่ภายใต้การควบคุมของสมอง ความนึกคิด ทำให้เราสามารถควบคุมมันได้อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่บางส่วนก็ไม่ได้อยู่ภายใต้ความคิดของเราเต็มร้อย ทำให้เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งภายใต้ผิวหน้าของเราก็มีกล้ามเนื้ออยู่มากมายที่ทำหน้าที่แตกต่างนออกไป ควบคุมการเคี้ยว การกระพริบตา ไปจนถึงการแสดงสีหน้าและอารมณ์ตามความรู้สึกที่เป็นอยู่ กล้ามเนื้อบางส่วนอาจจะเจริญไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ กรณีของลักยิ้ม

 

ลักยิ้มเกิดจากการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ Zygomaticus Major ที่ไม่เต็มบริเวณช่องว่างข้างแก้ม และนั่นทำให้เกิดรอยบุ๋มซึ่งปกติแล้วไม่ได้เห็นหากไม่มีการขยับกล้ามเนื้อบริเวณผิวหน้า เรียกได้ว่าลักยิ้มคือรอยบุ๋มขนาดเล็กซึ่งไม่ได้มีได้ทุกคน

ภาพ : Shutterstock

 

ลักยิ้มนี้เป็นลักษณะหรือความพิการทางกล้ามเนื้อที่ส่งต่อผ่านทางพันธุกรรม ข้อดีก็คือความพิการนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องดี เป็นสิ่งสวยงามในหลายวัฒนธรรม เซลล์ของมนุษย์เรามีสำเนาโครโมโซมอยู่ 2 ชุดซึ่งจะถูกแยกและไปผสมกับอีกชุดจากเพศตรงข้ามและส่งต่อไปสู่ลูก ลักษณะต่าง ๆ ของพ่อและแม่จึงถูกส่งต่อไปยังรุ่นถัด ๆ ไปได้ ยีนเด่น (Dominant gene) สามารถแสดงลักษณะของตัวเองออกมาได้แม้มีเพียงยีนเดียว และต้องเข้าคู่กับยีนที่มีลักษณะต่างออกไป เช่น ยีนผมหยิกจับคู่กับยีนผมเหยียด แต่ยีนผมหยิกเป็นลักษณะเด่น จึงแสดงแต่ลักษณะผมหยิกออกมา รูปแบบเดียวกันกับลักยิ้มซึ่งก็เป็นยีนเด่นเช่นกัน การที่พ่อหรือแม่แม้เพียงคนใดคนหนึ่งมีลักยิ้ม ลูกจึงมีโอกาสมีลักยิ้มได้ครึ่งต่อครึ่ง ลักษณะบางอย่างที่เป็นยีนด้อย (Recessive gene) เช่น ผิวเผือกหรือผมเหยียดนั้น ทั้งพ่อและแม่จำเป็นต้องมีผมเหยียดเพื่อให้ลูกที่ออกมามีผมเหยียด เพราะการแสดงลักษณะของยีนด้อยออกมาต้องอาศัยยีนทั้งคู่ที่อยู่บนตำแหน่งเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่าต้องเป็นยีนด้อยรูปแบบเดียวกันเท่านั้น

 

หากคุณเกิดมาแล้วมีลักยิ้มตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าคุณจะมีลักยิ้มไปตลอดชีวิต เป็นสิ่งที่รักษาไม่ได้และไม่คุ้มที่จะรักษา และคนส่วนใหญ่ก็อยากที่จะมีลักยิ้มมากกว่า ด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคการศัลยกรรมสมัยใหม่ ทำให้การทำลักยิ้มและการแก้ไขลักยิ้มสามารถทำได้ง่าย ๆ ในปัจจุบัน

 

Dimpleplasty คือการทำศัลยกรรมลักยิ้ม เป็นการทำผ่าตัดศัลยกรรมขนาดเล็กเพื่อสร้างลักยิ้มหรือรอยบุ๋มบริเวณแก้มหรือคาง โดยศัลยแพทย์จะผ่าจากกระพุ้งแก้มด้านในเข้าไปแก้ไขมัดกล้ามเนื้อให้กลายเป็นลักยิ้มบริเวณแก้มได้ สำหรับกรณีที่ต้องการรอยบุ๋มบริเวณคาง ศัลยแพทย์จะผ่าริมฝีปากด้านในลงไป เมื่อแผลหายเรียบร้อย การกระตุกหรือดึงกล้ามเนื้อจะสร้างรอยบุ๋มบริเวณที่ต้องการได้ นอกจากการสร้างลักยิ้มแล้ว ศัลยแพทย์สมัยใหม่ยังสามารถต่อชิ้นกล้ามเนื้อให้ไม่มีรอยบุ๋มและทำให้ลักยิ้มหายไปได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนเรื่องการทำลักยิ้มเทียมขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบระยะยาวที่เพียงพอ และเรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเราแก่ตัว ผิวและกล้ามเนื้อของเราหย่อนยานไป อาจทำให้เป็นแผลเป็นถาวรได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow