เมื่อมีการจดจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน เมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ หรือ ๔๕๐ ในประเทศศรีลังกาแล้ว ก็เป็นเหตุให้มีต้นฉบับพระไตรปิฎก แพร่หลายไปสู่ประเทศต่างๆ และมีการจัดพิมพ์ขึ้นในภายหลังด้วย
การสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกในรูปตรวจสอบต้นฉบับในใบลานก็ดี ตรวจสอบฉบับที่จะใช้พิมพ์ก็ดี จึงเกิดขึ้นในประเทศที่พระพุทธศาสนาแพร่หลายไป
การชำระพระไตรปิฎก
การชำระพระไตรปิฎก คือ การตรวจสอบแก้ไขด้วยอักษรที่จดจารึก หรือที่จะพิมพ์ใหม่ ให้ถูกต้องตามที่ควร แต่ไม่ใช่การตัดหรือเติมข้อความตามความพอใจ ในการนี้มีการสอบทานฉบับที่จะพิมพ์ใหม่กับฉบับอักษรของชนชาติต่าง ๆ ด้วย เช่น พระไตรปิฎกฉบับอักษรลังกา หรือสีหล ฉบับอักษรเทวนาครีของอินเดีย ฉบับอักษรพม่า ฉบับอักษรรามัญหรือมอญ และฉบับอักษรโรมันที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ แล้วทำหมายเหตุถ้อยคำที่แตกต่างกัน เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นหลักฐาน เพราะในการจดจารึก หรือในการจัดพิมพ์ที่แล้วมา อาจมีที่ผิดพลาดตกหล่น เมื่อมีการตรวจชำระ ก็จะทำให้ทุกถ้อยคำ และตัวอักษร มีความถูกต้องสมบูรณ์ ปราศจากข้อผิดพลาด
โดยเฉพาะในประเทศไทย
ได้มีการ ตรวจชำระพระไตรปิฎกหลายครั้ง ดังต่อไปนี้:-
ครั้งที่ ๑
เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชทรงอุปถัมภ์ให้มีการทำสังคายนา ตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้นที่เมืองเชียงใหม่
ครั้งที่ ๒
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงประกาศให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก ถือว่า เป็นครั้งที่ ๙ (นวมสังคายนา) โดยจัดลำดับ ๓ ครั้งในอินเดีย ๔ ครั้งในศรีลังกา รวมเป็น ๗ ครั้ง ครั้งที่ ๘ ที่เชียงใหม่ และครั้งที่ ๙ ที่กรุงเทพมหานคร แต่การสังคายนา ครั้งที่ ๘ และ ๙ นั้น ก็ยังมิได้มีการจัดพิมพ์ คงทำเพียงการจดจารึก หรือจารข้อความในพระไตรปิฎก ที่ตรวจชำระแล้ว ลงในใบลาน แต่ก็ต้องถือว่า เป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง เพราะต้องใช้ผู้มีความรู้ทั้งฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายคฤหัสถ์ จำนวนมาก และต้องได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ จึงสำเร็จได้ด้วยดี
ครั้งที่ ๓
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงประกาศให้มีการสังคายนา จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ นับเป็นการพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย พิมพ์เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ถ้าจะนับตามประกาศในรัชกาลที่ ๑ ครั้งนี้นับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๑๐
ครั้งที่ ๔
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
ทรงเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเสด็จพระราชกุศล จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ๔๕ เล่ม เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ครั้งนี้ได้มีการสอบทานกับพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมัน อักษรพม่า และอักษรลังกา มีข้อน่าสังเกตในครั้งนี้ก็คือ ไม่มีการประกาศว่า เป็นการสังคายนา
ครั้งที่ ๕
มีประกาศพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เรื่อง สังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๘ ปรารภคำถวายพระพร ของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน)
วัดราชบพิธ เห็นสมควรดำเนินการสังคายนาพระธรรมวินัย ชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวง เฉลิมพระเกียรติ ในศุภวาระดิถีมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ และรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสังคายนา
พระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ และสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชา แต่งตั้งคณะกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกคณะต่าง ๆ รวม ๗ คณะ ได้เร่งรัดตรวจชำระจัดพิมพ์แล้วเสร็จ ทันเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐