กรรมวิธีในการผลิตเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ
กรรมวิธีในการผลิตเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่สำคัญ คือ การขึ้นรูป การตกแต่งผิว การทำสีและลวดลาย และการฝังอัญมณี
การขึ้นรูป
หมายถึง การนำโลหะที่เป็นก้อนหรือแผ่นมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับตามที่ต้องการ การขึ้นรูปทำได้หลายวิธี ทั้งการตัด การเลื่อย การฉลุ การเคาะ การบิด การหล่อ และการเชื่อมชิ้นงานต่างๆ ให้ต่อกัน แล้วแต่ลักษณะรูปร่างของเครื่องประดับที่ต้องการผลิต
การตกแต่งผิว เมื่อขึ้นรูปเสร็จแล้วก็จะต้องตกแต่งผิวให้เรียบโดยการขัดด้วยตะไบ หรือกระดาษทราย จากนั้นจึงขัดเงาด้วยน้ำยาขัดเงา โดยใช้เครื่องขัดเงา ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าหมุนผ้าขัดเงา บางกรณีอาจต้องใช้สารละลายกรด ล้างเครื่องประดับนั้นให้สะอาด |
|
การทำสีและลวดลาย เป็นกรรมวิธีที่ต้องการให้เครื่องประดับมีสีสัน หรือลวดลายงดงามตามต้องการ มีกรรมวิธีต่างๆ ดังนี้ การชุบ เป็นการนำโลหะชนิดหนึ่งไปเคลือบอย่างบางๆ ลงบนผิวของโลหะ ที่ผลิตเป็นชิ้นงานเครื่องประดับนั้นๆ โดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวนำ มักใช้โลหะมีค่า เช่น ทองคำ แพลทินัม เคลือบลงบนผิวของเงิน ทองแดง หรือทองเหลือง เพื่อให้ดูมีมูลค่ามากขึ้น หรือไม่หมอง เมื่อถูกอากาศนานๆ ในสมัยก่อนยังไม่มีการเคลือบโดยใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวนำ คนไทยมีวิธีการเคลือบที่เรียกว่า "การกะไหล่" โดยใช้ปรอทละลายเงินหรือทองคำให้เป็นของเหลว แล้วทาลงบนโลหะ ที่ต้องการเคลือบ จากนั้นไล่ปรอทออกโดยใช้ความร้อน |
การถม
เป็นการใช้สารเคมีซึ่งมีสีดำเรียกว่า "ผงยาถม" ผสมน้ำประสานทอง ใส่ลงไปในลวดลาย ที่แกะสลักไว้บนเครื่องประดับ ที่ทำด้วยเงินหรือทองคำ แล้วขัดผิวให้เป็นเงางาม โดยส่วนที่เป็นผงยาถม จะเห็นเป็นลวดลายสีดำอยู่บนพื้นสีเงิน หรือสีทอง ซึ่งหากเป็นการถมลงบนเงิน เรียกว่า "ถมเงิน" แต่ถ้าถมลงบนทองคำ ก็เรียกว่า "ถมทอง" หรือ "ถมตะทอง"
การลงยาหรือการลงยาถมสี
เป็นการใช้สารเคมีที่มีสีต่างๆ ใส่ลงไปในพื้นซึ่งเป็นร่องระหว่างลวดลายของเครื่องเงิน แล้วใช้ความร้อนอบให้น้ำยาติด และให้พื้นเป็นสีต่างๆ หากการลงยานี้ทำกับเครื่องทอง ก็เรียกว่า "การลงยาราชาวดี"
การคร่ำ
เป็นการเอาเส้นเงินหรือเส้นทอง กดและตอกให้ติดบนผิวเหล็กเป็นลวดลายต่างๆ เป็นกรรมวิธีจากเปอร์เซีย (ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ที่แพร่หลายมาก
การฝังอัญมณี
เป็นการนำอัญมณีมาประดับรวมกับโลหะ เพื่อให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น เครื่องประดับบางชิ้นอาจนำอัญมณี ที่มีราคาสูง มาเป็นจุดเด่น ของเครื่องประดับชิ้นนั้นก็ได้
การฝังอัญมณีลงไปบนโลหะนั้นทำได้หลายวิธีแล้วแต่ความเหมาะสม ที่นิยมทำกันมาก คือ
การฝังแบบหนามเตย
เป็นการฝังอัญมณีลงบนตัวเรือนที่มีการตั้งก้านโลหะเป็นมุมรับก้นอัญมณี และกดปลายก้านมาปิดงับตรงมุมอัญมณี เพื่อให้ยึดติดกับตัวเรือน
การฝังแบบล็อก
เป็นการใช้อัญมณีเรียงเข้าไปในร่องบนตัวเรือน แล้วใช้เครื่องมือ ตีเนื้อโลหะปิดขอบทับบนอัญมณี เพื่อไม่ให้หลุดออกมา
การฝังแบบกระเปาะเรียบ
มักใช้อัญมณีที่เจียระไนเป็นรูปหลังเบี้ย โดยใช้เครื่องมือกดขอบกระเปาะแนบไปกับอัญมณี เพื่อยึดให้แน่น
การฝังแบบไข่ปลา
มักใช้กับการฝังอัญมณีขนาดเล็กจำนวนมากลงบนตัวเรือน โดยวางอัญมณีลงไปในรูที่เตรียมไว้ ซึ่งต้องมีมุมที่พอดีกับมุมก้นอัญมณี แล้วใช้เครื่องมือ ตักเอาเนื้อโลหะบนผิวงานรอบๆ อัญมณี มางับปิดทับบนหน้าอัญมณีแต่ละเม็ด จากนั้นก็ใช้เครื่องมือ แต่งให้หนามกลมมน ไม่คม
การฝังแบบหนีบ
เป็นการใช้แรงดันของตัวเรือนให้หนีบอัญมณีที่อยู่ตรงกลางไว้ โดยไม่จำเป็นต้องมีโลหะรับที่ก้นของอัญมณี จึงมองดูเหมือนอัญมณีลอยอยู่
การฝังแบบไร้หนาม
เป็นการเจียระไนอัญมณีรูปสี่เหลี่ยมให้เป็นมุมอยู่ด้านข้าง แล้วสอดต่อๆ กันเข้าไปในตัวเรือนให้อัญมณี ล็อกกันไว้ทั้งหมด มักนิยมวางอัญมณีเรียงกันเป็นหลายๆ แถวติดกันเป็นแพ