Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
3,469 Views

  Favorite

กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

      สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้เสนอกลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศควบคู่ไปกับนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อให้เป็นแนวทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำไปพิจารณาดำเนินการด้วยเช่นกัน โดยแบ่งกลยุทธ์ออกเป็น ๖ ด้าน ดังนี้ 

๑. กลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม 

ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ

  • การสงวนรักษา ฟื้นฟู ควบคุมดูแลทรัพยากรในระบบนิเวศให้คงสภาพไว้ เพื่อสามารถนำมาเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวได้นานที่สุดหรือตลอดไป 
  • ทรัพยากรการท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยป้องกันและลดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดปัญหามลพิษ 
  • เจ้าของพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สถาบันต่าง ๆ ในสังคมองค์กรประชาชนและประชาชนในท้องถิ่นต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ รักษาสภาพไม่ทำลาย หรือสร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 

 

การปลูกป่าชายเลน เพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

 

๒. กลยุทธ์ด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการการท่องเที่ยว 

มีวิธีการที่สำคัญ คือ

  • มีความเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม  โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการการท่องเที่ยวนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อมและมีความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เส้นทางคมนาคมเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การบริการที่พัก การบริการอาหาร และเครื่องดื่ม 

๓. กลยุทธ์ด้านการศึกษาและสื่อความหมายธรรมชาติ 

ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ 

  • เป็นสื่อกลางทางการศึกษาและการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศของนักท่องเที่ยวเพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • มีการให้ข้อมูลก่อนการท่องเที่ยวการศึกษาระหว่างการท่องเที่ยว รวมทั้งการให้การศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังด้วย
  • ให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเองและได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้น ๆ เช่น การสื่อความหมายธรรมชาติ การฝึกอบรม การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง กรณีศึกษา การเล่นเกม บทบาทสมมติ การอภิปราย

๔. กลยุทธ์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น 

ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ

  • ให้ความสำคัญแก่ประชาชนในท้องถิ่นในด้านที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแลและควบคุมการท่องเที่ยวได้มากขึ้นและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี 
  • ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชุมชนและระหว่างชุมชนกับเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น ร่วมพัฒนาจุดขายต่าง ๆ ได้แก่ ที่พักอาศัย ภัตตาคาร การนำเสนอลูกค้าด้านวัฒนธรรม ศิลปะและประเพณีต่าง ๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว 

๕. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดและบริการนำเที่ยว

ด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ

  • จัดให้เกิดความสมดุลระหว่างความสามารถในการรองรับของพื้นที่กับปริมาณนักท่องเที่ยว เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นทรัพยากรที่มีความอ่อนไหวอาจได้รับผลกระทบได้ง่ายหากมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป 
  • มุ่งส่งเสริมให้พัฒนาเป็นตลาดที่มีคุณภาพไม่ใช่พยายามเพิ่มปริมาณของนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว
  • ให้มีการจัดบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์  โดยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้อยู่ในกรอบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

 

การให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว
การให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

๖. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการลงทุน 

มีวิธีการที่สำคัญ คือ

  • รัฐบาลกลางและหน่วยงานของรัฐจะต้องมีส่วนสนับสนุนอย่างแข็งขันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ  โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow