Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจำแนกระบบนิเวศ

Posted By Plookpedia | 19 มิ.ย. 60
3,668 Views

  Favorite

การจำแนกระบบนิเวศ 

      เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะทางธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  จึงขออธิบายถึงวิธีการจำแนกระบบนิเวศออกเป็นระบบใหญ่ ๆ  โดยแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแต่ละแห่ง อาจจัดอยู่ในระบบนิเวศอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ระบบนิเวศทางบก (land ecosystem) 

     หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่บนพื้นแผ่นดินซึ่งเป็นภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ หุบเขา ในบริเวณดังกล่าวถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติโดยมนุษย์ไม่เข้าไปดัดแปลงหรือทำลายก็จะมีพืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่าอาศัยอยู่  ในประเทศไทยระบบนิเวศทางบกที่ยังคงสภาพตามธรรมชาติดั้งเดิมส่วนใหญ่พบอยู่ตามบริเวณป่าเขาซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 

 

ถ้ำลำคลองงู
ถ้ำลำคลองงู อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 

 

การล่องแก่งในลำน้ำ
การล่องแก่งในลำน้ำที่มีน้ำเชี่ยวให้ความตื่นเต้นเร้าใจแก่นักท่องเที่ยว

 

๒. ระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) 

      หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเลและในท้องทะเล ได้แก่ เกาะ สันดอน และสันทรายชายฝั่ง หาดปะการัง ปะการังใต้น้ำ ในประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทางทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางด้านอ่าวไทยและทางด้านทะเลอันดามันเป็นตัวอย่างของระบบนิเวศทางทะเลในเขตภูมิอากาศร้อนซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และความงดงามตามธรรมชาติอยู่มากเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

๓. ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland ecosystem) 

      ระบบนี้ได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ต่างหากจากระบบนิเวศทางบกและระบบนิเวศทางทะเล  เมื่อมีการประชุมระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน รับรองข้อตกลงระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เรียกว่า อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เมื่อแรกบังคับใช้อนุสัญญามีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคี ๗ ประเทศ หลังจากนั้นจำนวนภาคีได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ  จนถึงจำนวน ๑๒๓ ประเทศ เมื่อสิ้น พ.ศ. ๒๕๔๓ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีใน พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นลำดับที่ ๑๑๐ 
      คำจำกัดความของพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ "ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน ๖ เมตร" (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔)

 

บริเวณป่าชายเลนหรือป่าพรุ
บริเวณป่าชายเลนหรือป่าพรุมีการสร้างสะพานไม้เป็นทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยว


      ในประเทศไทยพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ในบริเวณดังกล่าวมีพืชพรรณ และสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ทั้งที่เป็นสัตว์บกสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก ฉะนั้นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจึงมีความหลากหลายทางด้านธรรมชาติอยู่มาก ตามอนุสัญญาแรมซาร์จะกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในประเทศต่าง ๆ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ได้รับการรับรอง  ในกรณีของประเทศไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำและได้รับการรับรองเป็นแห่งแรกพร้อมกับการเข้าเป็นภาคีสมาชิกใน พ.ศ. ๒๕๔๑ คือ พรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีนกน้ำอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย คือ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ชนิด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow