Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 18 มิ.ย. 60
2,784 Views

  Favorite

ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในประเทศไทย

การจัดหาพ่อแม่พันธุ์ 

การจัดหาพ่อแม่พันธุ์หอยเป๋าฮื้อ สำหรับการเพาะพันธุ์นี้สามารถกระทำได้ ๒ วิธีใหญ่ ๆ คือ 
      (๑) การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ 
      (๒) การใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง 

 

การเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ

 

การเพาะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ


      ซึ่งข้อดีข้อด้อยและข้อได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างแหล่งที่มาของพ่อแม่พันธุ์ทั้ง ๒ วิธีจะไม่กล่าวถึงในที่นี้  แต่ว่าไม่ว่าจะได้พ่อแม่พันธุ์มาด้วยวิธีใดก็ตามลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ที่ดี คือมีขนาดความยาวเปลือกประมาณ ๗-๑๐ เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง ๘๐-๑๒๐ กรัม จะต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรงและเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเมื่อถูกแสงสว่าง เมื่อจับขึ้นมาก็จะเกาะดูดติดกับมืออย่างรวดเร็วและแน่น เมื่อปล่อยกลับก็เกาะติดพื้นอย่างรวดเร็ว เปลือกต้องมีลักษณะสมบูรณ์เป็นมันวาวไม่ผุกร่อน ถ้าปรากฏว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเกาะติดอยู่ตามเปลือกก็จะต้องขูดออกและทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำเข้ามาในระบบขุน ( การขุนพ่อแม่พันธุ์เป็นการเร่งให้พ่อแม่พันธุ์มีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น ) นอกจากนี้ควรสังเกตดูตามตัวโดยทั่วในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่าจะต้องไม่ปรากฏบาดแผลหรือมีสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเกาะติดอยู่ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีระยะการเจริญพันธุ์อยู่ในระยะที่ ๒ ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วเพราะจะสามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้เลยโดยไม่ต้องทำการขุน หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการขุนก็คือการจัดสภาพแวดล้อมที่สะอาดโดยให้มีน้ำทะเลที่สะอาดไหลเวียนอยู่อย่างสม่ำเสมอประมาณร้อยละ ๓๐๐ ต่อวัน มีที่หลบซ่อนและมีอาหารตามที่ต้องการ จัดให้มีระยะเวลาสว่างและมืดอย่างละ ๑๒ ชั่วโมงเท่ากัน ในรอบวันควรคุมความเข้มของแสงในเวลากลางวันให้อยู่ประมาณร้อยละ ๕๐-๗๐ ของปริมาณแสงปกติ ความหนาแน่นในบ่อขุนไม่ควรเกิน ๔ กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับบ่อขนาด ๒.๕ ลูกบาศก์เมตร และต้องหมั่นตรวจสอบระยะการเจริญพันธุ์เมื่อพบว่ามีการพัฒนาตั้งแต่ระยะที่ ๒ ขึ้นไป ก็จะนำพ่อแม่พันธุ์เหล่านี้ไปทำการเพาะพันธุ์ต่อไป

 

อาหารหอยเป๋าฮื้อ

 

การเพาะพันธุ์ 

      การเพาะพันธุ์ประกอบด้วยการกระตุ้นหรือการชักนำให้เกิดการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์และการควบคุมการปฏิสนธิจัดเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการผลิตลูกหอย  พ่อแม่พันธุ์ที่มีระยะการเจริญพันธุ์สูง ๆ อาจได้รับการกระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ได้โดยการย้ายบ่อ อย่างไรก็ดีการกระตุ้นโดยใช้น้ำทะเลที่ผ่านแสงอัลตราไวโอเลตเป็นวิธีการที่ให้ผลดีและมีความเหมาะสมในหลายประการจึงเป็นวิธีการที่ใช้กันเป็นประจำในโรงเพาะฟักที่สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี วิธีการดังกล่าวช่วยในการควบคุมการปฏิสนธิและช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากการแก่งแย่งของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ (Sperm competition) โดยเฉพาะในกรณีที่ปล่อยให้มีการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์เองตามธรรมชาติในระบบการเพาะพันธุ์แบบรวม ยิ่งไปกว่านั้นวิธีการกระตุ้นดังกล่าวยังเป็นวิธีการที่จำเป็นเมื่อต้องการให้มีการผสมผสานเอาวิธีการทางพันธุศาสตร์ เช่น โปรแกรมการคัดเลือกเพื่อการผสมพันธุ์ซึ่งได้แก่ การคัดเลือกพันธุ์ การทำลูกผสม และเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การจัดการในระดับชุดโครโมโซมมาประกอบกับกระบวนการเพาะพันธุ์หอยเป๋าฮื้อในอนาคตด้วยส่วนการควบคุมอัตราส่วนของน้ำเชื้อและไข่ที่เหมาะสมในทางปฏิบัตินั้นทำได้โดยการทดลองจัดอัตราส่วนในระดับต่าง ๆ ก่อนการผสมจริงและติดตามผลการผสมด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูสัดส่วนการผสมและปริมาณเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่เหลือหรือเกาะอยู่ตามเปลือกไข่จนเป็นที่พอใจก่อนการผสมจริงเพื่อป้องกันสัดส่วนการปฏิสนธิที่ต่ำเกินไป (น้อยกว่าร้อยละ ๘๐) ในกรณีที่มีเซลล์สืบพันธุ์จำนวนสูงมากเกินไปจนเกิดการพัฒนาของไข่ที่ผิดปกติได้

 

การเพาะพันธ์

 

ไข่หอยเป๋าฮื้อ


      การเพาะพันธุ์อาจทำในถังพลาสติกขนาดต่าง ๆ หรือในถังและบ่อไฟเบอร์กลาสส์  ในที่นี้จะกล่าวถึงการดำเนินการในบ่อไฟเบอร์กลาสส์รูปกรวยขนาดความจุ ๐.๕ ลูกบาศก์เมตร ที่มีการปรับอัตราไหลของน้ำทะเลให้มีความเข้มของแสงอัลตราไวโอเลตอยู่ประมาณ ๘๐๐ มิลลิวัตต์/ลิตร/ชั่วโมง ทำการแยกหอยเพศผู้และเพศเมียให้อยู่กันคนละบ่อหรืออาจจะใช้เพศผู้และเพศเมียรวมอยู่ในบ่อเดียวกันก็ได้โดยจัดให้สัดส่วนระหว่างเพศเมียและเพศผู้ เท่ากับ ๕ : ๑ โดยปกติแล้วหลังจากการกระตุ้นพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์เพศก็จะเริ่มปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. - ๐๖.๐๐ น. ของเช้าวันรุ่งขึ้น  หอยเพศผู้มักจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาก่อนน้ำเชื้อเพศผู้ที่แข็งแรงจะเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วเมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย ๑๐x๔๐ เท่า สำหรับไข่หอยที่ปล่อยออกมาจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีเขียวจมอยู่ที่พื้นถังหรืออาจเกาะกันเป็นกลุ่ม  ไข่ที่ดีจะมีลักษณะกลมและเห็นเปลือกไข่ได้อย่างชัดเจนเมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่กำลังขยาย ๑๐x๑๐ เท่า ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะมีพัฒนาการและฟักเป็นตัวอ่อนระยะทรอโคฟอร์ในระยะเวลาประมาณ ๕ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ ๒๘ องศาเซลเซียส

การอนุบาล 

      ตัวอ่อนระยะทรอโคฟอร์ที่แข็งแรงจะเคลื่อนที่เข้าหาแสงโดยว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อแสงอยู่ด้านบนส่วนตัวอ่อนที่อ่อนแอจะจมลงบนพื้นของถังอนุบาลและตายในที่สุด ดังนั้นการเก็บรวบรวมทำได้โดยการปิดน้ำและอากาศในถังจากนั้นใช้วิธีกาลักน้ำดูดเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงบริเวณผิวน้ำมาเก็บไว้ในถังเพื่อตรวจสอบความหนาแน่น จากนั้นนำลงไปเลี้ยงในถังอนุบาลตัวอ่อนที่มีน้ำไหลผ่านไส้กรองขนาด ๑ ไมครอน ที่อัตราไหล ๐.๕ ลิตรต่อนาที ความหนาแน่นของการเลี้ยงจะอยู่ระหว่าง ๕-๑๐ ตัวต่อมิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับปริมาตรของถังอนุบาล  ถังอนุบาลใหญ่จะมีความหนาแน่นของการเลี้ยงได้สูง ตัวอ่อนระยะนี้จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนระยะเวลิเจอร์และตัวอ่อนระยะคืบคลานและพร้อมที่จะลงเกาะภายในเวลาอีก ๑-๒ วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความเค็ม และความหนาแน่นที่ใช้เลี้ยง เนื่องจากตัวอ่อนในระยะนี้ยังใช้อาหารจากไข่แดงที่มีอยู่จึงยังไม่ต้องให้อาหาร

 

การอนุบาลหอยเป๋าฮื้อ

 

การอนุบาลหอยเป๋าฮื้อ

 

      เมื่อตรวจสอบพบตัวอ่อนระยะคืบคลานในระยะหลัง (late creeping larvae) ก็ย้ายลูกหอยลงในถังเกาะซึ่งเป็นถังไฟเบอร์กลาสส์ ขนาด ๐.๕x๒.๐x๐.๕ ลูกบาศก์เมตร ในระยะแรกที่ย้ายลูกหอยลงจะปิดน้ำและอากาศเป็นเวลาประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง เพื่อให้ลูกหอยมีโอกาสสำรวจและเกาะบนแผ่นอาหารที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ประมาณ ๓-๔ วัน  หลังจากนั้นจึงให้อากาศและให้มีน้ำทะเลสะอาดไหลผ่านเครื่องกรองขนาด ๕ ไมครอนที่อัตราไหล ๐.๕-๑ ลิตรต่อนาที นอกจากนี้แล้วในถังดังกล่าวยังมีปุ๋ยน้ำใส่ไว้ให้หยดในสัดส่วน ๑๕-๒๐ หยดต่อนาที ลูกหอยจะใช้เวลาอีกประมาณ ๑-๓ วัน เพื่อคืบคลานและกินอาหารบนแผ่นอาหาร หลังจากนั้นก็จะเริ่มต้นสร้างเปลือกและพัฒนาจนเกิดรูหายใจรูแรกบนเปลือกซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ความยาวเปลือกของลูกหอยในระยะนี้อยู่ระหว่าง ๐.๑๕-๐.๓ เซนติเมตร และลูกหอยจะเริ่มกินอาหารประเภทสาหร่ายชนิดเกาะติดได้หลายอย่าง ดังนั้นเราสามารถจะย้ายแผ่นอาหารไปไว้ในที่ที่มีแสงสว่างมากขึ้นกว่าเดิมได้  จนอีกประมาณ ๓ เดือน เมื่อลูกหอยมีขนาดประมาณ ๐.๕-๑ เซนติเมตร ลูกหอยเริ่มกินสาหร่ายใบประเภท Gracilaria spp. และ Enteromorpha spp. ได้รวมทั้งสามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดควบคู่กันไปได้ด้วยจนกระทั่งในที่สุดให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียว  จากนั้นสามารถจำหน่ายหรือขนย้ายลูกหอยในระยะนี้เข้าสู่ระบบการเลี้ยงให้มีขนาดตามที่ตลาดต้องการได้

 

การอนุบาลหอยเป๋าฮื้อ

 

การอนุบาลหอยเป๋าฮื้อ

 

ขนาด ความหนาแน่นของหอย และระยะเวลาในการเลี้ยง 

      ขนาดของหอยเป๋าฮื้อที่เหมาะสมสำหรับการนำมาเลี้ยงนั้นมีได้ตั้งแต่ความยาวเปลือก ๐.๕ เซนติเมตร ๑ เซนติเมตร และ ๓ เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของระบบการเลี้ยง ความสามารถ รวมทั้งความพอใจของผู้เลี้ยง ถ้าใช้ลูกหอยขนาดเล็กจะมีความเสี่ยงมากเพราะต้องให้การดูแลเอาใจใส่มากลูกหอยมีอัตราการตายสูงและใช้ระยะเวลานานในการเลี้ยงจนถึงขนาดที่ตลาดต้องการ แม้ว่าลูกหอยที่นำมาเลี้ยงจะมีราคาถูกทางที่เหมาะสมน่าจะใช้ลูกหอยที่มีความยาวเปลือกประมาณ ๑ เซนติเมตร ทั้งนี้เพราะหอยขนาดนี้สามารถฝึกให้กินสาหร่ายใบหรืออาหารสำเร็จรูปได้โดยไม่ยุ่งยาก การเลี้ยงควรเริ่มที่ความหนาแน่น ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ตัวต่อตารางเมตร ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ ๕๐-๘๐ เซนติเมตร ที่สถานีวิจัยสัตว์ทะเลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี มีบ่อขนาดประมาณ ๐.๘x๓.๐x๐.๘ ลูกบาศก์เมตร สามารถใช้เลี้ยงลูกหอยขนาด ๑ เซนติเมตร ได้เป็นจำนวน ๕,๐๐๐ ตัว ให้มีการไหลเวียนของน้ำทะเลในบ่อร้อยละ ๑๐๐-๑๕๐ ต่อวัน การเลี้ยงในลักษณะนี้จะได้หอยที่มีความยาวเปลือก ประมาณ ๓ เซนติเมตร ในระยะเวลาประมาณ ๔-๖ เดือน จากนั้นจึงลดความหนาแน่นลงเป็น ๒๐๐-๕๐๐ ตัวต่อตารางเมตร แล้วจึงเลี้ยงต่ออีกประมาณ ๖-๑๒ เดือน (ขึ้นอยู่กับขนาดที่ต้องการจะจำหน่าย) จึงจะได้หอยที่มีขนาดความยาวเปลือก ๕-๗ เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง ๒๐-๕๐ กรัม อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยมีความชำนาญอาจเริ่มเลี้ยงจากลูกหอยที่มีขนาดความยาวเปลือกประมาณ ๒ เซนติเมตร เพื่อที่จะให้เกิดความชำนาญและง่ายต่อการดำเนินการเลี้ยงให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการซึ่งใช้เวลาประมาณ ๘-๙ เดือน และมีอัตรารอดตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นไป

 

บ่อเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow