Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙)

Posted By Plookpedia | 15 มิ.ย. 60
1,517 Views

  Favorite

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๓๙) 

      การที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ทั้งทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันยังคงมีปัญหาหลายประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ดังนั้นในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ จึงกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะเสริมสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทาง ๔ ประการ คือ 

๑) การรักษาอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง 
๒) การกระจายรายได้และกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท 
๓) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม 
๔) การพัฒนากฏหมายและระบบราชการให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

 

การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค
การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค 

 

การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค
การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค 


ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญ ๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ไว้ดังนี้

  • ให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยให้สาขาเกษตรขยายตัวร้อยละ ๓.๔  สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ ๙.๕ ต่อปี และการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๗ ต่อปี 
  • ให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มจาก ๔๑,๐๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็น ๗๑,๐๐๐ บาท ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ 
  • กำหนดเป้าหมายการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  โดยรักษาระดับเงินเฟ้อเพิ่มเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ ๕.๖ ต่อปี การขาดดุลการค้าและ =การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยไม่ให้เกินร้อยละ ๙.๔ และ ๕.๒ ของ ผลผลิตรวม 
  • กำหนดเป้าหมายการพัฒนาบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยให้มีการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘ ต่อปี เพิ่มเลขหมายโทรศัพท์จากสัดส่วน ๓.๖ เลขหมายต่อประชากร ๑๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นไม่ต่ำกว่า ๑๐ เลขหมาย ต่อประชากร ๑๐๐ คน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
  • กำหนดเป้าหมายการกระจายรายได้โดยดูแลบุคคลในกลุ่มเป้าหมาย ๖ กลุ่ม ไม่ให้มีการกระจายรายได้ที่เลวลงลด สัดส่วนประชาชนที่อยู่ภายใต้ขีดความยากจนจากร้อยละ ๒๓.๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เหลือไม่เกินร้อยละ ๒๐ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ 
  • กำหนดเป้าหมายการพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ลดอัตราการเพิ่มของประเทศเหลือไม่เกินร้อยละ ๑.๒ ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก ๖ ปี เป็น ๙ ปี ขยายการมีงานทำเพิ่มขึ้น ๒.๘ ล้านคน กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้ร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ประเทศ ฯลฯ

 

การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค
การกระจายบริการพื้นฐานสู่ภูมิภาค

 

      ผลการดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๙ ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๒ สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ลดลงเหลือร้อยละ ๑๓.๗ ของประชากรทั้งประเทศบริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศคนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้นและได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น
      อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีปัญหาสำคัญ ๆ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และยังมีประชาชน ซึ่งอยู่ห่างไกลบางกลุ่มยังไม่ได้รับบริการพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อและปัญหาการขาดดุล บัญชีเดินสะพัด และปัญหาหนี้สินของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow