การที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ทั้งทางด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันยังคงมีปัญหาหลายประการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้นในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ จึงกำหนดวัตถุประสงค์หลักที่จะเสริมสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทาง ๔ ประการ คือ
๑) การรักษาอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง
๒) การกระจายรายได้และกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบท
๓) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
๔) การพัฒนากฏหมายและระบบราชการให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญ ๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ไว้ดังนี้
ผลการดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ ปรากฏว่ามีบางเรื่องประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๘.๒ ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ ๙ ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๑๔.๒ สัดส่วนคนยากจนในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ลดลงเหลือร้อยละ ๑๓.๗ ของประชากรทั้งประเทศบริการพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา ขยายครอบคลุมทั่วประเทศคนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้นและได้รับบริการทางสาธารณสุขครอบคลุมกว้างขวางขึ้น
อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีปัญหาสำคัญ ๆ เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และยังมีประชาชน ซึ่งอยู่ห่างไกลบางกลุ่มยังไม่ได้รับบริการพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหรือได้รับแต่ไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น เงินเฟ้อและปัญหาการขาดดุล บัญชีเดินสะพัด และปัญหาหนี้สินของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว