ผลของการพัฒนาในระยะ ๓๕ ปี ตามที่กล่าวข้างต้นพอสรุปได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลาย ๆ เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เช่น ปัญหาด้านสังคมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า เศรษฐกิจดีสังคมมีปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน หากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และผลสุดท้ายจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์
ดังนั้นในการจัดเตรียมวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและผู้แทนจากทุกฝ่ายทุกสาขาอาชีพจึงได้มีการระดมความคิดร่วมกันว่าการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อใคร และควรมีการพัฒนาแบบใด ทั้งนี้ได้ทำการทบทวนถึงผลการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาที่มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จและส่วนที่เป็นปัญหา รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาที่พอสรุปได้ว่า เป็นเพราะการวางแผนและการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาขาดการกำหนดเป้าหมายหรือจุดหมายของประเทศในระยะยาวทำให้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในระยะที่ผ่านมามุ่งเน้นเฉพาะการเร่งรัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักยุทธศาสตร์ของการพัฒนามุ่งเน้นที่จะขยายการผลิตด้านอุตสาหกรรมและส่งเสริมการส่งออก โดยใช้ความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือและแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำเป็นปัจจัย ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนและคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่าที่ควร การพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจเหมาะสมหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นแต่ อย่างไรก็ตามอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุที่มีมากขึ้นมิได้หมายความว่าคนไทยและสังคมไทยจะมีความสมบูรณ์พูนสุขหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง เพราะในขณะที่เศรษฐกิจ ก้าวหน้าแต่วิถีชีวิตที่ดีงามเรียบง่ายของสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของครอบครัวและชุมชนคลายตัวลง ปัญหาสังคมต่าง ๆ ขยายตัวและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลักแต่เพียงอย่างเดียวเป็นการเน้นให้คนเป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา เพราะคนเท่านั้นที่เป็นปัจจัยชี้ขาดถึงความสำเร็จของการพัฒนาในทุกเรื่องโดยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอีกต่อไป รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการวางแผนจากการวางแผนแบบแยกส่วนรายสาขาเศรษฐกิจหรือสังคมที่ขาดความเชื่อมโยงเกื้อกูลต่อกันมาเป็นการพัฒนาแบบรวมส่วนหรือบูรณาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งเน้นที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามผล ร่วมปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและร่วมได้รับประโยชน์จากการพัฒนา การพัฒนาที่เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางหรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการพัฒนาของคนโดยคนและเพื่อคนซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศไทยก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนาในระยะยาว คือ เศรษฐกิจดี สังคม ไม่มีปัญหาและการพัฒนายั่งยืน
การพัฒนาเพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรืออยู่ดีมีสุขจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่โดยจะต้องทำการพัฒนาทั้งที่ "ตัวคน" อย่างเต็มศักยภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณภาพมีความรู้ความสามารถ สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนารู้จักตัวเอง รู้เท่ากันโลก มีศักยภาพที่จะปรับตัวเองให้อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าตลอดทุกช่วงวัยของชีวิตควบคู่กับพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การบริหารจัดการ ฯลฯ ให้เอื้อต่อการพัฒนาคน
สำหรับเป้าหมายสำคัญ ๆ ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ มีดังนี้
เพื่อที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และจุดหมายหลักของการพัฒนาประเทศตามแนวคิด และทิศทางใหม่ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญ ๆ ไว้ ๗ ยุทธศาสตร์ คือ
ประกอบด้วยแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศมีโครงสร้างประชากรที่เหมาะสมและมีการกระจายตัวของประชากรที่สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ของประเทศการปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาจิตใจให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การพัฒนาสติปัญญาและทักษะฝีมือแรงงานให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้นในกระบวนการผลิตและสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการพัฒนาสุขภาพและพลานามัยที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดีถ้วนหน้าและมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค
ประกอบด้วยแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวในชุมชน การสร้างโอกาสให้คน ครอบครัว ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองและสังคม การพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคมเพื่อสร้างหลักประกันด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การเสริมสร้างขีดความสามารถในระบบอำนวยความยุติธรรมและระบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชน และการส่งเสริมให้วัฒนธรรม มีบทบาทในการพัฒนาคนและประเทศให้สมดุลและยั่งยืน
ประกอบด้วยแนวทางการกระจายโอกาสและความเจริญด้วยการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาค การพัฒนา การมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการกระจายการพัฒนาด้วยการเพิ่มศักยภาพขององค์กรชุมชน การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และขยายเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน การเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาเพื่อสร้างอาชีพและการมีงานทำด้วยการส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและบริการทางสังคม การแก้ไขปัญหาและรักษาสภาพแวดล้อมเมือง การบริหารจัดการงานพัฒนาในลักษณะพหุภาคีทั้งในงานพัฒนาทั่วไป และในระดับพื้นที่
ประกอบด้วยแนวทางการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ การปรับโครงสร้างการผลิตให้เข็มแข็งเพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและบริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิต
ประกอบด้วยแนวทางการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศวิทยารวมทั้งการดูแลรักษาสภาวะแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและเป็นฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว การจัดระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดการใช้ประโยชน์และควบคุมดูแลอย่างมีประสิทธิภาพมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนอย่างแท้จริงรวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากธรรมชาติ
เป็นการพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะและพันธกิจหลักในการเสริมสร้างศักยภาพและสมรรถนะของคน ทำใหคนในสังคมเป็นพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีส่วนร่วมนการพัฒนาประเทศซึ่งประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างหลักนิติธรรมในการบริหารรัฐกิจ การจัดการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธีสนับสนุนให้ประชาชนในทุกส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของภาครัฐเพิ่มพูนประสิทธิผลและประสิทธิภาพภาครัฐด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตลอดจนการสร้างความต่อเนื่องในงานบริหารรัฐกิจโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านนโยบายสาธารณะและการกำหนดระเบียบวาระแห่งชาติ
ประกอบด้วยแนวทางการแปลงแผนสู่การปฏิบัติด้วยระบบการจัดการในระดับพื้นที่ตามภารกิจของหน่วยราชการและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม การพัฒนากลไกของรัฐในการปฏิบัติงาน การเร่งรัดพัฒนาระบบกฏหมายให้เป็นไปในแนวทางของระบบกฏหมายมหาชนเพื่อเอื้ออำนวยต่อการจัดการให้มีกฏหมายรองรับแผนพัฒนาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเพื่อการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานกลางในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาสมรรถนะกลไกนอกภาครัฐและการติดตามและประเมินผลโดยมีการจัดทำดัชนีชี้วัดผลของการพัฒนาแบบองค์รวม