ในช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่าประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งเหตุการณ์ภายนอกประเทศและภายในประเทศ ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้นในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ จึงมุ่งเน้น ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การรักษาระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่ำร้อยละ ๕ ต่อปี เพื่อรองรับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเร่งพัฒนาสังคมโดยเร่งพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงาม คือ ใช้ศาสนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจโดยการเน้นเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและค่านิยมพื้นฐาน ๕ ประการเป็นหลักได้มีการกำหนดแนวทางที่ สำคัญ ๓ แนวทางคือ
๑) การเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาประเทศ
๒) การปรับปรุงระบบการผลิต การตลาด และคุณภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและ
๓) การกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพี่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดแผนงานหลักรวม ๑๐ แผนงาน เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าวข้างต้นและให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการในรูปของแผนงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นเกิดคาด เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็วประกอบกับนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินการคลังของรัฐบาล บังเกิดผลในทางปฏิบัติทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วคือในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๙.๕ และ ๑๓.๓ ตามลำดับ ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกลับกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและช่างอุตสาหกรรมบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจขาดแคลนไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๒ ประการคือ
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญ ๆ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๔ ไว้ดังนี้
ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลายด้านโดยเพาะอย่างยิ่งการลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๒๐.๒ และเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๙ การส่งออกขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ ๒๕.๗ ต่อปี ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยทั้งภายในและภายนอกประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนต้นแผนซึ่งสืบเนื่องมาจากการกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เป็นปีท่องเที่ยวไทยและปีศิลปหัตถกรรมไทยตามลำดับฐานะการเงินการคลังของประเทศยังมีเสถียรภาพการว่างงานเหลือเพียงร้อยละ ๐.๖ ของกำลังแรงงาน ปัญหาหนี้สินต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลงคือ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้จากการส่งออกลดจากร้อยละ ๒๐.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เหลือร้อยละ ๑๐.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ ๕ ต่อปี อย่างไรก็ตามปรากฏว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจนและความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้เพราะกลุ่มคนยากจน ๒๐ เปอร์เซนต์สุดท้ายมีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ ๆ
นอกจากนี้ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ ๘.๕ ของผลิตผลรวม ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดปัญหาหนี้สินต่างประเทศบริการพื้นฐานยังไม่เพียงพอคือ มีลักษณะเป็นคอขวดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นพื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก ๑๐๙.๕ ล้านไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เหลือเพียง ๙๐ ล้านไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หรือไม่ถึงร้อยละ ๒๘ ของพื้นที่ประเทศ และการที่สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรมมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและวัฒนธรรมทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปปัญหาอาชญากรรมและยาเสพย์ติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ระบบราชการและการบริหารด้านเศรษฐกิจยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม