Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๙)

Posted By Plookpedia | 14 มิ.ย. 60
1,908 Views

  Favorite

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕ - ๒๕๒๙) 

      จากการที่ประเทศไทยได้ทำการพัฒนามาแล้ว ๒๐ ปี ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างสูง  รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นการผลิตมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวกว้างขวางขึ้น แต่ปรากฏว่ายังคงมีปัญหาสำคัญ ๆ หลายประการ เช่น เรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเกินตัว ทั้งของภาครัฐบาลและเอกชนโครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแอไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลางเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ปัญหาสังคมและปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ   ดังนั้นในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศเป็นแนวใหม่ เช่น

 

  • แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ เป็นแผนนโยบายที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการพัฒนาและมีลักษณะทั้งในเชิงรับและเชิงรุก 
  • เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศเป็นพิเศษ พร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ละด้านและยอมให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนักแต่ต้องอยู่ในระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน 
  • เน้นความสมดุลในการพัฒนาโดยมุ่งเน้นการกระจายรายได้และการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคการกระจายการถือครองทรัพย์สินและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
  • เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลัง เพื่อให้คนในชนบทอยู่ในฐานะพออยู่ - พอกิน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์สามารถช่วยเหลือตนเองได้

 

สำหรับเป้าหมายสำคัญ ๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ มีดังนี้ 

  • ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๖ ต่อปี โดยภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๕ และ ๗.๖ ต่อปีตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒.๓ ต่อปี 
  • ให้ดุลการค้าขาดดุลเฉลี่ยไม่เกินปีละ ๗๘,๔๐๐ ล้านบาท และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยไม่เกินปีละ ๕๓,๐๐๐ ล้านบาท
  • ลดอัตราการเพิ่มของประชากรไม่ให้เกินร้อยละ ๑.๕ ในปี ๒๕๒๙ และลดอัตราการไม่รู้หนังสือให้เหลือร้อยละ ๑๐.๕ ของประชากร 
  • ขยายการศึกษาทุกระดับเพื่อรับนักเรียนเพิ่มคือ ระดับก่อนประถมศึกษาให้ได้ร้อยละ ๓๕.๔ ของประชากรในกลุ่มอายุ มัธยมศึกษาตอนต้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษาร้อยละ ๔๘.๓, ๓๐.๙ และ ๔.๘ ของประชากรในกลุ่มอายุ
  • ขยายบริการการป้องกันโรคให้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายร้อยละ ๗๐ และขจัดปัญหาการขาดโปรตีนแคลอรีของเด็กทารกและเด็กก่อนวัยเรียนระดับ ๓ ให้หมดไป 
  • ลดปัญหาอาชญากรรมความผิดเกี่ยวกับ ชีวิต ร่างกาย และเพศ ให้ต่ำกว่า ๗๕ ราย ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน
  • แก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลังโดยเร่งเพิ่มผลผลิตให้เพิ่มขึ้นอีกโดยเฉลี่ยร้อยละ ๒ ต่อปี เร่งขยายและกระจายบริการทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข เช่น จัดหาหนังสือประกอบ การเรียนและจัดระบบบริการสาธารณสุขมูลฐานให้ทั่วถึงใน ๒ ปี จัดบริการทางโภชนาการแก่เด็กและหญิงมีครรภ์ ๒.๒ ล้านคน 

 

สถานีอนามัยเป็นบริการพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขขั้นต้น
สถานีอนามัยเป็นบริการพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขขั้นต้นสำหรับประชาชนในชนบท 

 

สำหรับการพัฒนาในเชิงรุก ได้กำหนด เรื่องสำคัญที่จะดำเนินการคือ 

  • เร่งพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกให้เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ครบวงจรเพื่อเป็นการกระจายความเจริญ และเป็นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
  • เร่งพัฒนาการเกษตรในเขตเกษตรก้าวหน้าโดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิต แทนการขยายพื้นที่เพาะปลูกเร่งกระจายการผลิตและส่งเสริมให้เอกชนลงทุนด้านการผลิตในเขตเกษตรก้าวหน้า
  • เร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยใช้มาตรการทางภาษีและสิ่งจูงใจต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกและการกระจายอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อกระจายรายได้และความเจริญไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

 

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔
การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔

 

      ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวอีก  ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนและราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ ประกอบกับประเทศอุตสาหกรรมใช้นโยบายกีดกันทางการค้ามากยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ ๕.๔ ต่อปี เพราะการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรม การลงทุน และการส่งออกต่ำกว่าเป้าหมาย และเกิดการว่างงานประมาณ ๑ ล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๒๙   อย่างไรก็ตามในระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพมีการกำหนดนโยบายและมาตรการทางด้านการเงินการคลังที่ถูกต้อง เช่น การลดค่าเงินบาท การณรงค์เพื่อการประหยัดใช้ของไทยและร่วมใจส่งออกฯลฯ  ประกอบกับการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยส่งผลทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี  นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๒.๙ ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบทล้าหลังก็สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้เป็นอย่างดีในขณะที่สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้คือเหลือร้อยละ ๑.๗ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙
      อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาบางประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดิน ๙๙.๘ ล้านไร่  ที่ยังขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมาะกับการเกษตร  มีปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่าและประชาชน ใน ๓,๘๒๔ หมู่บ้านยังขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และ ๑๒,๖๗๘ หมู่บ้านยังมีปัญหาเรื่องน้ำกิน - น้ำใช้ นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินออมทำให้จำเป็นต้องพึ่งทรัพยากรจากต่างประเทศมาลงทุนซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเรื่องหนี้สิน  ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะรัฐบาลจำเป็นต้องจำกัดขนาดของการลงทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินการคลังต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow