จากผลของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ก็ยังมีการขาดแคลนบริการพื้นฐานทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศควบคู่กับการ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อลดปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น
ดังนั้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ จึงมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปและปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์และชัดเจนขึ้น โดยเน้นการเจริญเติบโตที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคมโดยเพิ่มการพัฒนาสังคม สาธารณูปการ การสาธารณสุข และการศึกษา เข้าไว้ในแผนพัฒนาฯ ด้วยและตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แผนพัฒนาฯ ทุกฉบับก็ใช้คำว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ ๆ ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ มีดังนี้
ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เช่น การถอนกำลังทหารจากเวียดนามและการลดรายจ่ายทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกา การลงทุนจากต่างประเทศลดลงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศทำให้รายได้จากการส่งออกของไทยลดลงส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๓ ต่อปี (ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในแผนร้อยละ ๘.๕ ต่อปี) มูลค่าผลิตผลภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมาย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๓.๗ และ ๑๐.๑ ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าสินค้าออกและสินค้าเข้าก็ต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และความยากจนขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการคมนาคมและขนส่ง พลังงาน โทรศัพท์ และประปากระจายครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ๆ มากขึ้น ในขณะที่เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น โดยสามารถรับนักเรียนทุกระดับชั้นได้ถึง ๖.๔ ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น ๑.๘ ล้านคน มีการจัดตั้งและปรับปรุงสถานีอนามัยชั้น ๑ เพิ่มขึ้น ๗๖ แห่ง ทำให้สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น