ในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ได้มีการกำหนดทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแทนการนำเข้าและยกระดับรายได้ของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการมีงานทำและแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งสูงกว่าร้อยละ ๓.๒ ตลอดจนเน้นขยายการศึกษาและการสาธารณสุขให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบรรจุนโยบายประชากรไว้ในแผนพัฒนาฯ
สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ มีดังนี้
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ผันผวนหลายประการ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาลดค่าเงินดอลลาร์ทำให้ไทยต้องลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วิกฤตการณ์น้ำมันในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง
ผลของการพัฒนาในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายคือ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๕ รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๕ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกันและจากภาวะฝนแล้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวสูงในตอนต้นแผน แต่วิกฤตน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้าทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายแผนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๕.๕ ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงคือ เฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๘ ต่อปี การว่างงานในช่วงกลางของแผนสูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน ส่วนการแก้ปัญหาการกระจายรายได้และความเจริญยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะปัญหาการว่างงานและประชากรยังคงเพิ่มในอัตราสูงบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงรวมกันอยู่ในส่วนกลางและยังมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่ประสบผลสำเร็จพอสมควร เช่น การคมนาคม และขนส่ง ซึ่งกระจายเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตกับตลาดกว้างขวางยิ่งขึ้นเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศดีขึ้น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูง การท่องเที่ยวรวมทั้งการส่งออกยังมีแนวโน้มค่อนข้างสดใส