ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าก่อน พ.ศ. ๒๕๐๔ ประเทศไทยประสบปัญหาความยากจนและการขาดแคลนบริการพื้นฐานต่าง ๆ ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกซึ่งแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือ ช่วงแรกระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ และ ช่วงที่๒ พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๐๙ จึงได้มุ่งเน้นที่จะเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนเป็นพิเศษและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคมขนส่ง การพลังงาน และการชลประทาน ฯลฯ เพื่อให้มีส่วนสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญๆ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๖ มีดังนี้
ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มีการระบุอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาฯ ว่าจะเร่งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ และเร่งปรับปรุงพัฒนาระบบการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพระนคร ธนบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เร่งก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินในจังหวัดสำคัญ ๆ ขยายการผลิตน้ำประปาในกรุงเทพฯ เร่งขยายโทรศัพท์ขึ้นอีก ๒๐,๕๐๐ เลขหมาย โดยได้มีการกำหนดงบพัฒนา ( ซึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดิน เงินกู้ และเงินช่วยเหลือ จากต่างประเทศ ) จำนวนมากและมีสัดส่วนสูงสำหรับการพัฒนาสาขาคมนาคมและขนส่งสาขาพลังงานและสาขาการเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างโรงพยาบาลภาคเพิ่มขึ้น ๒ แห่ง โรงพยาบาลอำเภอ ๖ แห่ง พัฒนาสถานีอนามัยชั้น ๒ เป็นชั้น ๑ ปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐ แห่ง รวมทั้งเร่งการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้นและเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อสำหรับด้านการศึกษาได้มีการระบุไว้ในแผนว่า จะส่งเสริมการอาชีวศึกษาเป็นพิเศษส่วนรายละเอียดแผนงานโครงการได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เป็นหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ
ผลการดำเนินการในช่วงแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ปรากฏว่าเป็นไปด้วยดีโดยเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๔ ต่อปี สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้รายได้ต่อบุคคลเพิ่มสูงกว่าเป้าหมายในขณะที่การพัฒนาบริการพื้นฐานต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมายซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกิจการต่าง ๆ ให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และกิจการด้านการเงินการธนาคาร ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ระยะที่ ๒ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น
ผลการดำเนินการปรากฏว่าส่วนใหญ่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผน เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) เฉลี่ยปีละ ๘.๑ ต่อปี รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖.๑ ต่อปี ผลิตผลด้านการเกษตรและด้านอุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ ๖.๑ และ ๑๑.๒ ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยทดแทนการนำเข้าได้เป็นจำนวนมากและทำให้โครงสร้างสินค้าเข้า - สินค้าออกเปลี่ยนไป เพราะเดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไม้สัก และดีบุก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ สินค้าส่งออกได้กระจายไปสู่พืชและสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนลดลงโดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้มีสัดส่วนสูงขึ้น