ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ (ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๓) ปรากฏว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านป่าไม้ แหล่งน้ำ แร่ธาตุ ฯลฯ หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ปัญหาสังคมยังมีไม่มากนักเพราะผู้คนยังมีความผูกพันเอื้ออาทรต่อกัน แต่อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความยากจนโดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวไม่ถึง ๒,๐๐๐ บาทต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ ๔ ต่อปี ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือประมาณร้อยละ ๓.๗ ต่อปี เศรษฐกิจส่วนใหญ่คือประมาณร้อยละ ๘๕ ขึ้นกับภาคเกษตร รายได้หลักจากการส่งออกมาจากข้าว ไม้สัก ยางพารา และดีบุก ส่วนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนักทำให้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ ๘.๕ ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้น
นอกจากนี้บริการพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมยังมีไม่เพียงพอ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มีถนนทั่วประเทศเพียง ๘,๐๐๐ กิโลเมตร มีโทรศัพท์ทั่วประเทศเพียง ๓๒,๐๖๗ เครื่อง ส่วนน้ำประปาและไฟฟ้าจะมีเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่เท่านั้น ในขณะที่โรงพยาบาลประจำอำเภอมีเพียง ๘ แห่ง สถานีอนามัยยังมีไม่เพียงพอและด้อยคุณภาพมีแพทย์ทั่วประเทศเพียง ๓,๑๗๒ คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ในชนบทมีแพทย์เฉลี่ย ๑ คน ต่อประชากรประมาณ ๗๒,๐๐๐ คน ส่วนโรงเรียนและสถานศึกษาก็มีไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ห่างไกล ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเจริญยังคงรวมอยู่ในส่วนกลางไม่กระจายออกไปในต่างจังหวัดคนไทยในขณะนั้นจึงมีปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้โอกาสที่จะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีน้อยและมีปัญหาด้านสุขภาพอนามัยคือ ยังมีการเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคระบาดต่าง ๆ เช่น อหิวาตกโรค ท้องร่วง ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งการขาดสารอาหาร ฯลฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กำหนดนโยบายเพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจและขยายบริการพื้นฐานซึ่งปรากฏออกมาในรูปของคำขวัญต่าง ๆ มากมาย เช่น คำขวัญที่ว่า น้ำไหล - ไฟสว่าง - ทางดี - มีงานทำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในยุคก่อนมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ ๑ เป็นอย่างดี