ในการทำงานทุกอย่างให้สามารถบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายได้ด้วยดีจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าว่าเราต้องทำงานอะไรบ้าง งานอะไรบ้างที่ต้องทำให้เสร็จก่อน งานอะไรบ้างที่มีความสำคัญเร่งด่วนน้อยกว่าเก็บไว้ทำทีหลัง พร้อมกันนั้นก็ต้องคิดว่างานที่กำหนดขึ้นจะให้ใครเป็นคนทำ ทำที่ไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร และต้องใช้เงิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเป็นจำนวนประมาณเท่าไร
ตัวอย่างเช่น ในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องไปโรงเรียนให้ทันเวลาเข้าเรียนเราจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าว่าเราต้องตื่นเช้าในเวลาประมาณเท่าไร ตื่นขึ้นมาแล้วเราต้องทำกิจกรรมอะไรก่อนหลัง เช่น เราต้องรีบอาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเราอาจละเว้นการนั่งดูโทรทัศน์ตอนเช้า งดอ่านหนังสือการ์ตูนซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่า เป็นต้น หรือแม้แต่ในการเล่นกีฬา เช่น วอลเลย์บอล หรือฟุตบอล ซึ่งจะต้องเล่นร่วมกันเป็นทีมก็จำเป็นต้องมีการวางแผนกันล่วงหน้าว่าใครจะทำหน้าที่อะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพื่อให้ได้รับชัยชนะในที่สุด ในระดับชุมชน และสังคมที่ใหญ่กว่าในบ้าน ในโรงเรียนของเรา ตั้งแต่ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ การที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขปราศจากความยากจน มีงานทำและมีรายได้พอควรต่อการดำรงชีวิตจำเป็นต้องมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งที่เป็นที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ ตลอดจนเงินทุน มาใช้ในกิจกรรมที่มีลำดับความสำคัญเร่งด่วนมาก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตสินค้าทั้งที่เป็นอาหารและเครื่องใช้ ซึ่งจะทำให้คนในสังคมมีงานทำและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในที่สุด
โดยปกติแล้วการวางแผนพัฒนาประเทศจะจัดทำกันเป็นแผนพัฒนาฯ ซึ่งมีระยะเวลาเป็นช่วง ๆ ช่วงละประมาณ ๕ ปี ประเทศไทยมีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้ว เริ่มต้นจากแผนพัฒนาประเทศฉบับแรกที่เรียกว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔- ๒๕๐๙ แผนพัฒนาฯ ฉบับต่อ ๆ มาได้เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทางด้านสังคมด้วย เรียกว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการประกาศใช้ติดต่อกันมาอีกหลายฉบับจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) ที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่าผลของการพัฒนาในระยะที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา ขยายตัวไปทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาหลายประการ เช่น ความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหายาเสพย์ติด เอดส์ และโสเภณี ความไร้วินัย การเอารัดเอาเปรียบกัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาใหม่ให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เสื่อมโทรมหาแนวทางใหม่ในการสร้างความเจริญให้แก่สังคม
การวางแผนในกิจกรรมทุกอย่างนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด เช่น ในระดับตัวบุคคลผู้ที่มีการวางแผนชีวิตตลอดเวลาย่อมจะประสบผลสำเร็จมากกว่า ผู้ที่ไม่มีการวางแผน และปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม เช่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าในอนาคตอยากจะประกอบอาชีพอะไรซึ่งโยงไปถึงว่าจะต้องเรียนวิชาอะไร สาขาใด อีกทั้งจะต้องมีการวางแผนการดำเนินกิจกรรมและแผนการเรียนในวันต่อ ๆ ไป เมื่อโตขึ้นการที่จะทำงาน สร้างบ้าน หรือมีครอบครัว ก็ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนรวมทั้งมีการวางแผนในการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้ เมื่อเกิดอุปสรรคหรือปัญหาก็สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขได้ ส่วนในระดับที่สูงขึ้นไปจากระดับบุคคลและครอบครัวก็ต้องมีการวางแผนเช่นกัน เช่น การที่จะเล่นฟุตบอลให้ชนะก็ต้องมีการรวมทีม มีการฝึกซ้อม มีการวางตัวผู้เล่นและวางแผนการเล่นให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละคน การทำศึกสงครามทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาฝ่ายที่ได้รับชัยชนะคือ ฝ่ายที่มีการวางแผนดีมีการวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมโดยทำการประเมินถึงจุดอ่อนจุดแข็งของฝ่ายตนและข้าศึก มีการหาข้อมูลและติดตามสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา รวมทั้งต้องวางแผนในการรุก-การรับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่าง ๆ ปรากฏว่าบางประเทศดำเนินการโดยการจัดทำเป็นแผนพัฒนาฯ แต่บางประเทศมิได้มีการจัดทำแผนในกรณีของประเทศไทยได้มีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วว่าสมควรที่จะเลือกใช้วิธีการวางแผนพัฒนาฯ ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรและปัจจัยต่าง ๆ มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ที่ดิน หรือเงินทุน ในขณะที่ความต้องการของคนมีมากขึ้นและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการผลิตและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ทำให้ผลิตผลของประเทศเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีงานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประเทศไทยได้เริ่มแผนพัฒนาฯ ฉบับแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๒) มีแผนพัฒนาฯ รวม ๘ ฉบับ โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจุดเน้นและสาระสำคัญต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละยุค เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๐๙) ได้ให้ความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพราะในสมัยนั้นประเทศไทยยังยากจนและต้องพึ่งภาคเกษตรเป็นหลัก รายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำคือ ประมาณ ๒,๐๐๐ บาทต่อปี ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจน ขาดบริการพื้นฐาน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง และสถานศึกษา ตลอดจนโรงพยาบาลและสถานีอนามัย ซึ่งส่วนใหญ่รวมตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ แผนต่อ ๆ มา ก็มีการขยายขอบเขตการพัฒนาไปในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสังคม การศึกษา การลดอัตราการเพิ่มของประชากร ฯลฯ และมีบางแผนที่จัดทำขึ้นในขณะที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ และ ๕ แผนพัฒนาฯ ก็ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้และความยากจน เป็นต้น
ผลจากการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๗ มีหลายเรื่อง ที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เช่น เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗ - ๘ ต่อปี ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มจากปีละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นปีละประมาณ ๗๖,๖๕๐ บาท สัดส่วนคนยากจนลดจากร้อยละ ๒๓.๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เหลือประมาณร้อยละ ๑๑.๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ บริการพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งไฟฟ้า ถนน โทรศัพท์ สถานศึกษา และสถานบริการสาธารณสุขก็ขยายตัวและกระจายไปทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าการพัฒนาจะประสบความสำเร็จดังข้างต้นแต่ปรากฏว่ามีปัญหาเกิดขึ้นหลายประการ เช่น ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาครอบครัวแตกแยก ชุมชนล่มสลาย ตลอดจนปัญหาทางด้านสังคมหลายประการ เช่น ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหายาเสพย์ติด โสเภณี การละเมิด และการเอารัดเอาเปรียบเด็ก สตรี คนชรา ผู้ด้อยโอกาส ความเมตตากรุณาและความเอื้ออาทรที่เคยมีต่อกันลดลง ปัญหาข้างต้นนับว่าจะขยายตัวและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เศรษฐกิจดีสังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุสำคัญ ๆ หลายประการ เช่น การพัฒนาที่ผ่านมาเน้นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อคน สังคม และส่วนรวม และเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วนหรือทำเป็นเรื่อง ๆ ขาดการประสานและขาดการเชื่อมโยงกัน การวางแผนและการพัฒนามีลักษณะการสั่งการจากส่วนกลาง และทำเฉพาะในระบบราชการขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด ทิศทาง และการะบวนการพัฒนาขึ้นใหม่
โดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น มีการกำหนดวิสัยทัศน์หรือจุดหมายปลายทางของประเทศในอนาคตเพื่อให้ทุกฝ่ายใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการให้ไปสู่ทิศทางเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการพัฒนาซึ่งเดิมเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลักมาเป็นการเน้นคนเป็นศูนย์กลางหรือจุดหมายสุดท้ายของการพัฒนา คือ เป็นการ พัฒนาของคน โดยคน และเพื่อคน มีการเน้นถึงการพัฒนาในลักษณะองค์รวมแบบบูรณาการแทนการพัฒนาแบบแยกส่วน คือ คำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันโดยจะต้องพัฒนา ทั้งตัวคนและสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวคน เช่น เศรษฐกิจ สังคม การบริหาร ฯลฯ ไปพร้อม ๆ กัน และที่สำคัญที่สุดคือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามผล และร่วมปรับปรุงการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้ผลการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงซึ่งจะนำไปสู่ภาวะการพัฒนาที่พึงปรารถนา คือ เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ร่มเย็น-เป็นสุขและอยู่ร่วมกันอย่างรู้รักสามัคคีตลอดไป