ดังได้กล่าวมาแล้วว่านักสัตวศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่สัตว์ต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ชื่อสามัญของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งในแต่ละท้องถิ่นเรียกต่างกันออกไป นอกจากนั้นแต่ละท้องถิ่น หรือ แต่ละประเทศยังตั้งชื่อสัตว์ตามภาษาของตน เช่น คนไทยเรียกนกชนิดหนึ่งตัวผู้สีดำคล้ายกาแต่เล็กกว่าส่งเสียงร้อง "กาเว้า กาเว้า" ว่า นกดุเหว่า หรือ กาเหว่า แต่คนอังกฤษเรียกว่า "คีลเบิร์ด" (koel bird) และ ในประเทศอื่น ๆ อาจจะเรียกชื่อที่ผิดแผกแตกต่างออกไปเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการสับสน และ ไม่เป็นระเบียบยากแก่การศึกษานักวิทยาศาสตร์ในสาขาชีววิทยาจึงได้วางระเบียบแบบแผนเพื่อการตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ ให้เป็นระบบสากล และ ด้วยความหวังให้ชนชาติเข้าใจว่าหมายถึงสัตว์ชนิดใดบุคคลที่น่าจะกล่าวถึง ณ ที่นี้คือ คาโรลัส ลินเนียส ท่านผู้นี้เป็นผู้ริเริ่มวางหลักเกณฑ์การตั้งชื่อพืช และ สัตว์ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๒๙๔ โดยนำเอาชื่อสกุล และ ชนิด มาตั้งชื่อสัตว์ และ พืช ระบบที่ลินเนียสตั้งขึ้นนี้ เรียกว่า "ระบบไบโนมินัล" (binominal system) หรือ "แบบไบโนมินัล โนเมนเคลเจอร์"(binominal nomenclature)
ระบบการตั้งชื่อตามแบบของลินเนียสได้แพร่หลาย และ เป็นที่ยอมรับจากนักชีววิทยามากขึ้นภายหลังที่เขาพิมพ์หนังสือชื่อ System Naturae, 10th edition ออกเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๓๐๑ (ค.ศ. ๑๗๕๘) เป็นต้นมา
ตัวอย่างการตั้งชื่อ "ระบบไบโนมินัล" ของลินเนียส เช่น นกกางเขนบ้าน ซึ่งเราพบอยู่ทั่ว ๆ ไป ในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอปไซคัส โซลาริส (ลินเนียส) [Copsychus saularis (Linnaeus), 1758] คำแรกเป็นชื่อ "สกุล" ส่วนคำหลังเป็นชื่อ "ชนิด" สำหรับคำว่า "ลินเนียส" ในวงเล็บนั้นเป็นชื่อของผู้ตั้งชื่อนกชนิดนี้เป็นคนแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๗๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๓๐๑
ระบบไบโนมินัลของลินเนียสนั้นแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายก็ตามแต่บางครั้งการตั้งชื่อสัตว์ไม่อาจปฏิบัติตามได้ดังนั้นในบางแห่งผู้ศึกษาอาจจะพบว่าสัตว์บางชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์โดยใช้ชื่อ สกุล เพียงตัวเดียว เช่น ชื่อของ "ฟอสซิล" บางชนิดเป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะสัตว์เหล่านั้นได้สูญพันธุ์ไปเป็นเวลานานแล้ว และ พบซากเพียงชนิดเดียว การตั้งชื่อโดยใช้ชื่อสกุลหรือกลุ่มอันดับที่สูงกว่าชนิดอย่างเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้วระบบการตั้งชื่อแบบหลังนี้เรียกกว่า "ระบบยูนิโนมินัล" (uninominal system)
ในบางครั้งนักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่าสัตว์ชนิดเดียวกันอาศัยอยู่ในประเทศ หรือ ทวีปที่ห่างไกลกันมีลักษณะรูปร่างต่างกันเพียงเล็กน้อยจนไม่อาจจะแยกออกเป็นชนิดใหม่ได้การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แก่สัตว์นั้น ๆ จึงนำชื่อ "สกุล" "ชนิด" และ "ชนิดย่อย" เข้ามารวมกันวิธีการตั้งชื่อแบบนี้เรียกว่าการตั้งชื่อโดยใช้ "ระบบไทรโนมินัล" (trinominal system) ตัวอย่างเช่น อ้นใหญ่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไรโซมิส ซูมาเทรนซิส ซิเนอเรียส (Rhizomys sumatrensis cinereus) เป็นต้น ในบางครั้งการตั้งชื่ออาจจะรวมเอาชนิดย่อย และ หน่วยอื่นที่เล็กกว่าเข้าไปด้วย เช่น สกุล ชนิด พรรณ รูป และอื่น ๆ อีก แล้วแต่ความเหมาะสมการตั้งชื่อแบบนี้เรียกว่า "ระบบโพลีโนมินัล" (polynominal system) การตั้งชื่อแบบหลังนี้มักจะใช้กันในหมู่นักพฤกษศาสตร์ เช่น ชื่อหญ้าหางม้า ชนิดหนึ่งมีชื่อว่า อีควิซีทัม พาลัสทรี อเมริกานา ฟลูอินแทนส์ (Equisetum palustre uar.americana f.fluitans) เป็นต้น การตั้งชื่อแบบที่กล่าวมานี้นักวิทยาศาสตร์ทางสัตวศาสตร์ไม่นิยมกระทำกันแพร่หลายนัก
การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับสัตว์ต่าง ๆ ประสบปัญหายุ่งยากในระยะต้น ๆ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ชาติต่างมีเสรีภาพในการตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ แม้ว่าจะใช้ระบบไบโนมินัลของลินเนียสแบบเดียวกันแล้วก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าใน พ.ศ. ๒๓๘๕ สมาคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ (British Association for the Advancement of Science) ได้ประกาศ ใช้ "หลักเกณฑ์ของสตริคแลนด์"(Stricklandian code) ขึ้นเวลาต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีการตั้ง "หลักเกณฑ์ของดาลล์" (Dall's code) ขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๐ นอกจากนี้ประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และ เยอรมัน ก็ได้ตั้งหลักเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์สำหรับชาติตนขึ้นบ้างเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ในตอนคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักสัตวศาสตร์ทั้งหลายมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรที่จะให้มีกฎสำหรับนานาชาติ (international rules) ขึ้นเพื่อการตั้งชื่อสัตว์โดยเฉพาะจึงได้จัดให้มีการประชุมสภาสัตวศาสตร์สากล ครั้งที่ ๑ (First International Congress of Zoology) ขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยมีศาสตราจารย์ราฟาเอล บลังชาร์ด (Raphael Blanchard) เป็นผู้ร่างกฎ และ เป็นเลขาธิการที่ประชุมได้ลงมติไม่รับกฎนี้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการประชุมสภานี้อีกเป็นครั้งที่ ๒ ที่กรุง มอสโก ประเทศสหภาพโซเวียตได้มีการอภิปรายกฎของศาสตราจารย์บลังชาร์ดอย่างกว้างขวาง และ ในที่สุดได้ลงมติรับกฎนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ
|
|
สภาสัตวศาสตร์สากลได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้กันอีกหลายครั้ง จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้มี การประชุมครั้งที่ ๑๕ ณ กรุงลอนดอน ประเทศ อังกฤษ และ ได้พิมพ์ผลการประชุมออกเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยได้จัดพิมพ์เป็น ๒ ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นที่ยอมรับของนักชีววิทยา และ ถือเป็นหลักปฏิบัติในการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสัตว์มาจนกระทั่งทุกวันนี้ |