Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ขั้นตอนการแสดงลิเก

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
2,754 Views

  Favorite

ขั้นตอนการแสดงลิเก 

 

โหมโรง

 

 


      เป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้นมาปกปักรักษาและอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้นยังเป็นการอุ่นโรงให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อมเพราะใกล้จะถึงเวลาแสดงและเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชนที่อยู่ทั้งใกล้และไกลให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเกและใกล้เวลาลงโรงแล้วจะได้ชักชวนกันมาชม 
      โหมโรงเป็นการบรรเลงปี่พาทย์ตามธรรมเนียมการแสดงละครของไทยเพลงที่บรรเลงเรียกว่า โหมโรงเย็น ประกอบด้วย เพลงชั้นสูงหรือเพลงหน้าพาทย์ ๑๓ เพลง บรรเลงตามลำดับคือ สาธุการ ตระนิมิตร รักสามลา ต้นเข้าม่าน ปฐม ลา เสมอ เชิดฉิ่ง เชิดกลอง ชำนาญ กราวใน และวา ถ้าโหมโรงมีเวลาน้อยก็ตัดเพลงลงเหลือ ๔ เพลงคือ สาธุการ ตระนิมิตร กราวใน และวา แต่ถ้ามีเวลามากก็บรรเลงเพลงเบ็ดเตล็ดแทรกต่อจากเพลงกราวในแล้วจึงบรรเลงเพลงวาเป็นสัญญาณจบการโหมโรง

ออกแขก

      เป็นการคำนับครู อวยพรผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำเรื่อง อวดผู้แสดง ฝีมือการร้องรำและความหรูหราของเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ผู้ชมสนใจและเตรียมพร้อมที่จะชมต่อไปออกแขกเป็นการเบิกโรงลิเกโดยเฉพาะการออกแขกมี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรง ออกแขกรำเบิกโรง และออกแขกอวดตัว 

ออกแขกรดน้ำมนต์ 

      โต้โผ คือ หัวหน้าคณะ หรือผู้แสดงอาวุโสชาย แต่งกายแบบแขกมลายูบ้าง ฮินดูบ้าง มีผู้ช่วยเป็นตัวตลกถือขันน้ำตามออกมาแขกร้องเพลงออกแขกชื่อว่า เพลงซัมเซ เลียนเสียงภาษามลายู จบแล้วกล่าวสวัสดีและทักทายกันเองออกมุขตลกต่าง ๆ เล่าเรื่องที่จะแสดงให้ผู้ชมทราบจบลงด้วยแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การแสดงและเป็นการอวยพรผู้ชมการออกแขกรดน้ำมนต์ไม่ค่อยมีแสดงในปัจจุบัน 

ออกแขกหลังโรง 

 

การร้องออกแขกหลังโรง

 

      โต้โผหรือผู้แสดงชายที่แต่งตัวเสร็จแล้วช่วยกันร้องเพลงซัมเซอยู่หลังฉากหรือหลังโรงแล้วจึงต่อด้วยเพลงประจำคณะที่มีเนื้อเพลงอวดอ้างคุณสมบัติต่าง ๆ ของคณะ จากนั้นเป็นการประกาศชื่อและอวดความสามารถของศิลปินที่มาร่วมแสดงประกาศชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องย่อที่จะแสดงแล้วลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม 

ออกแขกรำเบิกโรง 

 

การออกแขกรำเบิกโรง 

 

      คล้ายออกแขกหลังโรง โดยมีการรำเบิกโรงแทรก ๑ ชุด ก่อนลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม รำเบิกโรงนี้มักแสดงโดยลูกหลานของผู้แสดงที่มีอายุน้อย ๆ เป็นการฝึกเด็ก ๆ ให้เจนเวที เป็นการรำชุดสั้น ๆ สำหรับรำเดี่ยว เช่น พม่ารำขวาน พลายชุมพล มโนห์ราบูชายัญ หรือชุดที่คิดขึ้นเอง เช่น ชุดแขกอินเดีย ในกรณีที่เป็นการแสดง เพื่อแก้บน รำเบิกโรงจะเป็นรำเพลงช้าเพลงเร็ว โดยผู้แสดงชาย - หญิง ๒ คู่ ตามธรรมเนียมของการรำแก้บนละครซึ่งเรียกว่า รำถวายมือ เมื่อจบรำเบิกโรงแล้วข้างหลังโรงจะร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม 

ออกแขกอวดตัว 

 

 

      คล้ายออกแขกรำเบิกโรงแต่เปลี่ยนจากรำเดี่ยวหรือรำถวายมือมาเป็นการอวดตัวแสดงทั้งโรง ผู้แสดงทุกคนจะแต่งเครื่องลิเกนำโดยโต้โผหรือพระเอกอาวุโสร้องเพลงประจำคณะต่อด้วยการแนะนำผู้แสดงเป็นรายตัว จากนั้นผู้แสดงออกมารำเดี่ยวหรือรำหมู่หรือรำพร้อมกันทั้งหมดคนที่ไม่ได้รำก็ยืนรอเมื่อรำเสร็จแล้วก็ร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชมแล้วทยอยกันกลับเข้าไป

ละคร

      เป็นการแสดงลิเกเรื่องราว ที่โต้โผ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกำหนดขึ้น ก่อนการแสดงเพียงเล็กน้อย แล้วเล่าเรื่องพร้อมทั้งแจกแจงบทบาทด้วยปากเปล่าให้ผู้แสดงแต่ละคนฟังที่หลังโรงในขณะกำลังแต่งหน้าหรือแต่งตัวกันอยู่  โดยจะเริ่มต้นแสดงหลังจากจบออกแขกแล้วโต้โผจะคอยกำกับอยู่ข้างเวทีจนกว่าเรื่องจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย  ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแสดงเชื่องช้า ตลกฝืด ตัวแสดงบาดเจ็บโต้โผก็จะพลิกแพลงให้เรื่องดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ผู้แสดงทุกคนต้องรู้บท รู้หน้าที่ และด้นบทร้องบทเจรจาของตนให้เป็นไปตามแนวเรื่องของโต้โผได้ตลอดเวลา

 

ลาโรง

 

 

      เป็นธรรมเนียมการแสดงละครไทยที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ลาโรง ผู้แสดงกราบอำลาผู้ชมโต้โผกล่าวขอบคุณผู้ชมและเชิญชวนให้ติดตามชมการแสดงคณะของตนในโอกาสต่อไป ลิเกเริ่มการแสดงเป็นละครด้วยฉากตัวพระเอก แต่ในระยะหลัง ๆ นี้ มักเปิดการแสดงด้วยฉากตัวโกงเพื่อให้การดำเนินเรื่องรวบรัดและฉากตัวโกงก็อึกทึกครึกโครมทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและติดตามชมการแสดง การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็นฉากสั้น ๆ ติดต่อกันไปอย่างรวดเร็วยิ่งดึกยิ่งใกล้จะจบการแสดงก็ยิ่งคึกคัก ตื่นเต้น โลดโผน ตลกโปกฮา จนถึงมีฉากตลกเป็นฉากใหญ่ให้ผู้ชม ครื้นเครง แล้วรีบรวบรัดจบเรื่องซึ่งบางครั้งก็ไม่จบบริบูรณ์แต่ผู้ชมก็ไม่ติดใจสงสัย 
      การแสดงในฉากแรก ๆ เป็นการเปิดตัวละครสำคัญในท้องเรื่องผู้แสดงจะส่งสัญญาณให้นักดนตรีบรรเลงเพลงสำหรับรำออกจากหลังเวที เช่น เพลงเสมอ หรือเพลงมะลิซ้อน เมื่อรำถวายมาถึงหน้าตั่งหรือเตียงที่วางอยู่กลางเวทีก็นั่งลงหรือทำท่าถวายมือยกเท้าจะขึ้นไปนั่ง แต่กลับยืนอยู่หน้าเตียงแล้วร้องเพลงแนะนำตัวเองและตัวละครที่สวมบทบาทพร้อมทั้งร้องเพลงขอบคุณผู้ชมและออดอ้อนแม่ยก เพลงที่ร้องเป็นเพลงไทยอัตราสองชั้นด้นเนื้อร้องเอาเองจากนั้นเป็นการร้องเพลงลูกทุ่งยอดนิยมอีก ๑ เพลง แล้วจึงดำเนินเรื่องร้องรำและเจรจาด้วยการด้นตลอดไปจนจบฉาก เพลงที่ใช้ร้องด้นดำเนินเรื่องเรียกว่า เพลงลิเก ที่มีชื่อว่า เพลงรานิเกลิง หรือ ราชนิเกลิง เมื่อตัวแสดงหมดบทในการออกมาครั้งแรกแล้ว ก็ลาโรงด้วยการร้องเพลงแจ้งให้ผู้ชมทราบว่า ตนคิดอะไรและจะเดินทางไปไหนจากนั้นปี่พาทย์ทำเพลงเสมอให้ผู้แสดงรำออกไป 
      การแสดงในฉากต่อ ๆ มา ผู้แสดงมักเดินกรายท่าออกมา ผู้แสดงบนเวที หรือผู้บรรยายหลังโรงจะแจ้งสถานที่และสถานการณ์ในท้องเรื่องให้ผู้ชมทราบแล้วจึงดำเนินเรื่องไปจนจบฉากอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้แสดงหมดบทบาทของตนเองแล้วก็จะร้องเพลงด้วยเนื้อความสั้น ๆ แล้วกลับออกไปด้วยเพลงเชิดซึ่งใช้สำหรับการเดินทางที่รวดเร็ว 
      การแสดงในฉากตลกใหญ่ ซึ่งเป็นฉากสำคัญที่ผู้ชมชื่นชอบนั้น ผู้แสดงจะเวียนกันออกมาแสดงมุขตลกต่าง ๆ โดยมีตัวตลกตามพระคือผู้ติดตามพระเอกกับตัวโกงเป็นผู้แสดงสำคัญในฉากนี้ เนื้อหามักเป็นการที่ตัวตลกตามพระหามุขตลกมาลงโทษตัวโกงทำให้คนดูสะใจและพึงพอใจที่คนไม่ดีได้รับโทษตามหลักคำสอนของศาสนา ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 
      การแสดงในฉากจบ มักเป็นฉากที่ตัวโกงพ่ายแพ้แก่พระเอก ผู้แสดงเกือบทั้งหมดออกมาไล่ล่ากัน ประฝีปากและฝีมือกัน โดยในตอนสุดท้ายพระเอกเป็นฝ่ายชนะส่วนตัวโกงพ่ายแพ้และได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องหนีไปหรือยอมจำนนอยู่ ณ ที่นั้น การแสดงก็จบลงโดยไม่มีการตายบนเวทีเพราะถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคลผู้แสดงมักทำท่านิ่งเพื่อแสดงให้ทราบว่าการแสดงจบลงแล้ว

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow