Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ส่วนประกอบที่สำคัญของการแสดงลิเก

Posted By Plookpedia | 27 เม.ย. 60
2,834 Views

  Favorite

ส่วนประกอบที่สำคัญของการแสดงลิเก

 

การด้น

      ลิเกเป็นการแสดงละครที่อาศัยการด้นเป็นปัจจัยหลัก การด้น หมายถึง การผูกเรื่องที่จะแสดงบทเจรจาและบทร้อง ท่ารำ อุปกรณ์การแสดง ในทันทีทันใดโดยมิได้เตรียมตัวมาก่อนแต่ทั้งนี้โต้โผ และผู้แสดงมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อนแล้ว ดังนั้นการด้นจึงมักเป็นการนำเรื่อง คำกลอน กระบวนรำ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสม น้อยครั้งที่โต้โผต้องด้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหรือผู้แสดงต้องด้นกลอนร้องใหม่ทั้งเพลง 

การด้นเรื่อง 

      โต้โผหรือหัวหน้าคณะจะแต่งโครงเรื่องสำหรับการแสดงครั้งนั้นโดยพิจารณาจากจำนวนผู้แสดงที่มาร่วมกันแสดง ตลอดจนความชำนาญเฉพาะบทของผู้แสดงแต่ละคน เรื่องที่แต่ง ก็นำมาจากเค้าโครงเรื่องเดิม ๆ ที่เคยใช้แสดง แต่ได้ดัดแปลงให้เหมาะกับการแสดงในครั้งนั้น ๆ ผู้แสดงมีจำนวนประมาณ ๗ - ๑๕ คน ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ผู้ว่าจ้างต้องการลิเกโรงเล็ก หรือโรงใหญ่ สำหรับลิเกโรงเล็กมีผู้แสดงน้อย เนื้อเรื่องจึงมักเน้นพระเอกนางเอกเพียงคู่เดียว ส่วนลิเกโรงใหญ่มีผู้แสดงมากจึงมักสร้างตัวละครตั้งแต่รุ่นพ่อต่อมาถึงรุ่นลูกหรือเป็นเรื่องที่มีพระเอกนางเอก ๒ คู่ 

 

หัวหน้าคณะจะบอกเรื่องให้ผู้แสดงฟังเพื่อนำไปด้นบนเวที
หัวหน้าคณะจะบอกเรื่องให้ผู้แสดงฟังเพื่อนำไปด้นบนเวที

 

การด้นบทร้องบทเจรจา 

      ผู้แสดงจะแต่งบทเจรจาและบทร้องตลอดการแสดงลิเกสำหรับบทเจรจานั้นผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมดเพราะเป็นภาษาพูดที่เข้าใจง่ายไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบทร้องมีเพลงและรูปแบบคำกลอนของเพลงไทยและเพลงราชนิเกลิงกำกับประกอบด้วยคำร้องซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนต้นที่มีหลายคำกลอนและคำลงซึ่งเป็นเนื้อร้องตอนจบที่มีเพียง ๑ คำกลอน การด้นบทร้องมีศิลปะ ๓ ระดับ ระดับสูงคือ ด้นคำร้องและคำลง ขึ้นใหม่หมดทั้งเพลง ระดับกลางคือด้นคำร้อง ให้มาสัมผัสกับกลอนของคำลงที่ตนจำมาใช้ ระดับล่างคือด้นคำร้องและคำลงที่ลักจำมาหรือจ้างคนเขียนให้มาใช้ทั้งเพลง 

 

การด้นบทร้องบทเจรจา
การด้นบทร้องบทเจรจา

 

การด้นท่ารำ 

      ลิเกจะเน้นการร้องทั้งบทกลอนและน้ำเสียงส่วนการรำเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังนั้น ผู้แสดงจึงไม่เคร่งครัดในการรำให้ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่นำแบบแผนมาจากละครรำ การรำของลิเก จึงเป็นการย่างกรายของแขนและขา ส่วนการใช้มือทำท่าทางประกอบคำร้องที่เรียกว่า รำตีบทนั้น ตามธรรมเนียมของละครรำมีเพียงไม่กี่ท่านอกเหนือจากนั้นผู้แสดงจะรำกรีดกรายไปตามที่เห็นงาม การด้นท่ารำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการรำแสดงความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงบางคนในท่ารำชุดที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์เป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว แต่ผู้แสดงลิเกลักจำมาได้ไม่หมดก็ด้นท่ารำของดั้งเดิมให้เต็มเพลง 

การด้นทำอุปกรณ์การแสดง 

      การแสดงลิเกมีการสมมติในท้องเรื่องมากมายและไม่มีการเตรียมอุปกรณ์การแสดงไว้ให้ดูสมจริงนอกจากดาบ ดังนั้นผู้แสดงจำเป็นต้องหาวัสดุใกล้มือขณะนั้นมาทำเป็นอุปกรณ์ที่ตนต้องการใช้ เช่น เอาผ้าขนหนูมาม้วนเป็นตุ๊กตาแทนทารก เอาผ้าขาวม้ามาคลุมตัวเป็นผี เอาดาบผูกกับฝาหม้อข้าวเป็นพัดวิเศษ เอาผ้าขาวม้าผูกเป็นหัวปล่อยชาย แล้วขี่คร่อมเป็นม้าวิเศษการคิดทำอุปกรณ์การแสดงอย่างกะทันหันเช่นนี้มุ่งให้ความขบขันเป็นสำคัญและผู้ชมก็ชอบมาก

 

การด้นทำอุปกรณ์การแสดง
การด้นทำอุปกรณ์การแสดง

 

การร้องการเจรจา

      การร้องและการเจรจาของลิเกมีลักษณะเฉพาะผู้แสดงจะเปล่งเสียงร้องและเสียงเจรจาเต็มที่ แม้จะมีไมโครโฟนช่วยจึงทำให้เสียงร้องและเจรจาค่อนข้างแหลมนอกจากนั้นยังเน้นเสียงที่ขึ้นนาสิกคือ มีกระแสเสียงกระทบโพรงจมูก เพื่อให้มีเสียงหวาน การร้องเพลงสองชั้นและเพลงราชนิเกลิงนั้นผู้แสดงให้ความสำคัญที่การเอื้อนและลูกคอมากในการร้องเพลงสองชั้นผู้แสดงร้องคำหนึ่ง ปี่พาทย์บรรเลงรับท่อนหนึ่งเพื่อให้ผู้แสดงพักเสียงและคิดกลอน ส่วนการเจรจานั้นผู้แสดงพูดลากเสียงหรือเน้นคำมากกว่าการพูดธรรมดาเพื่อให้ได้ยินชัดเจน อนึ่ง คำที่สะกดด้วย “น” ผู้แสดงลิเกจะออกเสียงเป็น “ล” นับเป็นลักษณะของลิเกอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ลิเกนิยมแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่มีกษัตริย์เป็นตัวเอก แต่ผู้แสดงมักใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง ด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ ความไม่รู้และความตั้งใจให้ตลกขบขัน

 

การแสดงฉากตลก
การแสดงฉากตลก

 

การรำ

การแสดงลิเกใช้กระบวนรำและท่ารำตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ รำเพลง รำใช้บท หรือรำตีบท และรำชุด 

รำเพลง 

      คือ การรำในเพลงที่มีกำหนดท่ารำไว้ชัดเจน เช่น เพลงช้า - เพลงเร็ว เพลงเสมอ ผู้แสดงพยายามรำเพลงเหล่านี้ ให้มีท่ารำและกระบวนรำใกล้เคียงกับแบบฉบับมาตรฐานให้มากที่สุด 

รำใช้บทหรือรำตีบท 

      คือ การรำทำท่าประกอบคำร้องและคำเจรจา เป็นท่าที่นำมาจากละครรำและเป็นท่าง่าย ๆ มีประมาณ ๑๓ ท่า คือ ท่ารัก ท่าโศก ท่าโอด ท่าชี้ ท่าฟาดนิ้ว ท่ามา ท่าไป ท่าตาย ท่าคู่ครอง ท่าช่วยเหลือ ท่าเคือง ท่าโกรธ และท่าป้อง ซึ่งเป็นท่าให้สัญญาณปี่พาทย์หยุดบรรเลง 

 

แสดงท่ารำ
แสดงท่ารำ

 

รำชุด

      คือ การรำที่ผู้แสดงลิเกลักจำมาจากท่ารำชุดต่าง ๆ ของกรมศิลปากร เช่น มโนห์ราบูชายัญ ซัดชาตรี และพลายชุมพล แต่ผู้แสดงจำได้ไม่หมดจึงแต่งเติมจนกลายไปจากเดิมมากท่ารำบางชุดเป็นท่ารำที่ลิเกคิดขึ้นเองมาแต่เดิม เช่น พม่ารำขวาน และขี่ม้ารำทวน จึงมีท่ารำต่างไปจากของกรมศิลปากรโดยสิ้นเชิง การรำของลิเกต่างกับละครกล่าวคือ ละครรำเป็นท่าแต่ลิเกรำเป็นทีซึ่งหมายความว่า การรำละครนั้นผู้รำจะรำเต็มตั้งแต่ท่าเริ่มต้นจนจบกระบวนท่าโดยสมบูรณ์ แต่การรำลิเกนั้นผู้แสดงจะรำเลียนแบบท่าของละคร แต่ไม่รำเต็มกระบวนรำมาตรฐาน เช่น ตัดทอนหรือลดท่ารำบางท่า รำให้เร็วขึ้นลดความกรีดกราย ในขณะเดียวกันผู้แสดงลิเกตัวพระนิยมยกขาสูงและย่อเข่าต่ำกว่าท่าของละครรำอีกทั้งนิยมเอียงลำตัวและเอนไหล่ให้ดูอ่อนช้อยกว่าละคร

การแต่งกาย

      เครื่องแต่งกายของลิเกมีลักษณะเฉพาะซึ่งต่างไปจากละครรำ เครื่องแต่งกายของผู้แสดงชายมีแบบแผนที่ชัดเจนกว่าผู้แสดงหญิง เครื่องแต่งกายของลิเกแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ ชุดลิเกทรงเครื่อง ชุดลิเกลูกบท และชุดลิเกเพชร 

ชุดลิเกทรงเครื่อง 

      เป็นรูปแบบการแต่งกายของลิเกแบบเดิมเมื่อเริ่มมีลิเกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเลียนแบบการแต่งกายของข้าราชสำนักในยุคนั้นและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อมาบ้างจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องแต่งกายลิเกที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดแคลน ชุดลิเกทรงเครื่องก็หมดไปคงเหลือให้เห็นเฉพาะในการแสดงสาธิตเท่านั้น

 

ตัวพระ-นางลิเกทรงเครื่อง
ตัวพระ-นางลิเกทรงเครื่อง

 

ชุดลิเกลูกบท 

      เป็นชุดเครื่องแต่งกายลำลองของคนไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นิยมแต่งในการแสดงเพลงพื้นบ้าน เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างชุดลิเกทรงเครื่องขาดแคลนผู้แสดงจึงหันมาแต่งกายแบบลำลองที่เรียกว่า ชุดลิเกลูกบท 

ชุดลิเกเพชร 

      เป็นชุดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยการนำเพชรซีก และแถบเพชรมาประดับเครื่องแต่งกายชุดลิเกลูกบทสวมเสื้อกั๊กทับเสื้อตัวเดิมให้ดูหรูหราขึ้นจากนั้นก็เพิ่มความวิจิตรขึ้นจนกลายเป็นเครื่องเพชรแทบทั้งชุด สำหรับชุดของผู้แสดงหญิงมีแบบหลากหลายแต่ไม่ประดับเพชรมากเท่าชุดของผู้แสดงชาย

 

ชุดลิเกเพชรของผู้แสดงหญิง
ชุดลิเกเพชรของผู้แสดงหญิง

 

เวที

เวทีลิเกมี ๒ แบบ คือ เวทีลิเกแบบเดิม และเวทีลิเกลอยฟ้า 

เวทีลิเกแบบเดิม 

      เป็นเวทีติดดินหรือยกพื้นเล็กน้อยทำด้วยไม้มีหลังคาที่เป็นทรงหมาแหงน แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนคือ เวทีแสดง หลังเวทีซึ่งใช้สำหรับเตรียมตัวก่อนออกแสดงหรือพักผ่อนและเวทีดนตรี เวทีลิเกมีขนาดมาตรฐานคือ กว้าง ๖ เมตร ลึก ๖ - ๘ เมตร มีฉากผ้ากั้นกลางสูง ๓.๕ เมตร หน้าฉากเป็นเวทีแสดงหลังฉากเป็นหลังเวทีถัดจากเวทีแสดงไปทางขวามือของผู้แสดงเป็นเวทีดนตรีสูงเสมอกัน ขนาดกว้าง ๓ เมตร ลึก ๔ เมตร บนเวทีแสดงมีตั่งอเนกประสงค์ตั้งกลางประชิดกับฉาก 

เวทีลิเกลอยฟ้า 

      เป็นเวทีที่พัฒนาขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยขยายความกว้างของเวทีแสดงออกไปเป็น ๑๐ - ๑๒ เมตร ลึก ๔ - ๕ เมตร สูง ๑ เมตร เวทีดนตรีอยู่ตรงกลางระหว่างเวทีแสดงกับหลังเวทียกสูงจากพื้นเวทีแสดง ๑.๕๐ - ๒.๐๐ เมตร ลึกประมาณ ๒.๕ เมตร มีฉากไม้อัดเขียนลายอยู่ด้านหลังวงดนตรี หลังเวทีกว้าง ๑๒ เมตร ลึก ๔ - ๕ เมตร ไม่มีหลังคา หน้าเวทีแสดงมีเสาแขวนป้ายผ้าบอกชื่อคณะลิเกยาวตลอดหน้ากว้างของเวทีสองข้างเวทีมีหลืบไม้อัดสำหรับบังผู้แสดงเข้าออกตรงกลางเวทีแสดงตั้งตั่งอเนกประสงค์

ฉาก

ฉากลิเกเป็นฉากผ้าใบเขียนเป็นภาพต่าง ๆ ด้วยสีที่ฉูดฉาด ฉากลิเกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ฉากชุดเดี่ยว ฉากชุดใหญ่ และฉากสามมิติ 

ฉากชุดเดี่ยว 

      คือ มีฉากผ้าใบ ๑ ชั้น เป็นฉากหลัง เขียนภาพท้องพระโรงขนาด ๓.๕ x ๕ เมตร และ/หรือผ้าใบ ๒ ผืน อยู่ทางด้านซ้าย - ขวาของเวที เขียนเป็นภาพประตูสมมติให้เป็นทางเข้า - ออกของผู้แสดง และมีระบายผ้าเขียนชื่อคณะลิเกอีก ๑ ผืน ฉากชุดเดี่ยวนี้เป็นฉากมาตรฐานของลิเกที่จัดแสดงเพียงคืนเดียว 

 

ฉากชุดเดี่ยว
ฉากชุดเดี่ยว

 

ฉากชุดใหญ่ 

      คือ ฉากผ้าใบเช่นเดียวกับฉากชุดเดี่ยวแต่ฉากหลังมีหลายผืนเขียนเป็นภาพแสดงสถานที่ต่าง ๆ ที่การแสดงลิเกมักใช้ดำเนินเรื่อง เช่น ฉากท้องพระโรงแทนเมือง ฉากป่า ฉากอุทยาน ฉากกระท่อม ฉากแต่ละผืนจะม้วนกับแกนไม้ไผ่ แขวนซ้อนกันอยู่เหนือเวทีหลังตั่งอเนกประสงค์โดยจะคลี่ออกมาใช้หรือม้วนเก็บขึ้นไป เมื่อเปลี่ยนฉากฉากชุดใหญ่จะมีสีสันถ้าเจ้าภาพต้องการเป็นพิเศษ หรือมีการแสดงติดต่อกันหลายเดือน 

ฉากสามมิติ 

      คือ ฉากผ้าใบที่เขียนให้ดูคล้ายจริง เช่น ฉากป่าจะมีฉากหลังเขียนเป็นทิวทัศน์ของป่าจริง ๆ และมีผ้าใบเขียนเป็นต้นไม้เถาวัลย์ ฯลฯ ตัดเจาะเฉพาะลำต้นและใบแขวนห้อยสลับซับซ้อนกันมีแสงสีสาดส่องเห็นฉากลึกเป็นสามมิติ  ฉากสามมิติจะมีหลายฉากเพื่อให้เหมาะแก่การแสดงลิเกประเภทปิดวิกซึ่งเก็บค่าเข้าชมการแสดงโดยแสดงเรื่องหนึ่งติดต่อกันหลายคืนจนจบและต้องแสดงความงดงามสมจริงของฉากเพื่อให้ผู้ชมติดใจกลับมาชมอีก

 

ฉากสามมิติ
ฉากสามมิติ

 

ดนตรี

      ดนตรีสำหรับการแสดงลิเก บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ ๒ แบบ คือ วงปี่พาทย์ไทย และวงปี่พาทย์มอญ เพลงที่ใช้บรรเลงเป็นเพลงในอัตราสองชั้นที่ใช้กับละครรำของไทยกับเพลงลูกทุ่งยอดนิยม ที่ผู้แสดงลิเกนำมาร้องเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม  

      วงปี่พาทย์ไทยและวงปี่พาทย์มอญมีเครื่องดนตรีคล้ายคลึงกันต่างกันที่ตะโพนกับฆ้องวงตะโพนมอญมีขนาดใหญ่กว่าตะโพนไทยฆ้องวงมอญวางตั้งฉากกับพื้น ส่วนฆ้องวงไทยวางราบกับพื้น เครื่องดนตรีที่สำคัญ ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ปี่ใน ปี่นอก ปี่มอญ ปี่ชวา ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ กลองทัด ตะโพนไทย ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก เครื่องดนตรีดังกล่าวของปี่พาทย์แต่ละวงมีจำนวนต่างกัน เครื่องดนตรีที่สำคัญและจะขาดไม่ได้คือ ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ตะโพนมอญ ตะโพนไทย และฉิ่ง

 

การแสดงลิเก
การแสดงลิเก ผู้แสดงมักนำเพลงลูกทุ่งมาร้องเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow