Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
2,334 Views

  Favorite

การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย

• ในระยะนี้ได้มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินสู่ศาลบ่อยขึ้น ผลของการจัดระเบียบที่ดินที่หนักไปในแง่สำรวจ ตรวจเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของที่ดินยึดถือไว้นั้นไม่อาจระงับข้อพิพาทโต้แย้งในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ได้ เพราะหนังสือสำคัญของเจ้าพนักงานภาษีอากรมีข้อความไม่กระจ่างว่าผู้ใดมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินเพียงใด อย่างใดส่วนมากมักระบุเพียงว่าได้ทำอาสิน (ผลประโยชน์รายได้อันเกิดจากต้นผลไม้) ปลูกไม้ผลพืชพันธุ์อะไรอันควรเรียกเก็บอากรได้บ้าง จึงไม่เป็นหลักฐานพอที่จะใช้สืบผันสิทธิ์กันระหว่างคู่พิพาทได้ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงประสบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในกรณีพิพาทเรื่องที่ดินดังกล่าว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กระทรวงเกษตรพาณิชยการจัดดำเนินงานเรื่องสิทธิในที่ดินให้รัดกุมยิ่งขึ้น แต่การที่จะสร้างหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินให้เห็นได้ชัดแจ้งลงไว้ในโฉนด จะต้องมีการทำแผนที่ระวางรายละเอียดเรียกว่า การทำแผนที่โฉนด (cadastral survey) เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์มาดำรงตำแหน่งเสนาบดีวันที่ ๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) การทำทะเบียนที่ดินให้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังและรีบด่วน ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าที่ดินมีราคาสูงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ย่อมเป็นเหตุให้ราษฎรมีคดีพิพาทกันด้วย เรื่องที่ดินชุกชุมขึ้นสมควรจัดระเบียบสิ่งสำคัญอันเป็นหลักฐานสำหรับที่ดินให้มีสิ่งหมายเขตที่ดินนั้น ๆ ให้มั่นคงยิ่งขึ้นตามกาลสมัย

• ในการทำแผนที่รังวัดที่ดินสำหรับออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์แผนที่ที่ทันสมัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศ พระบรมราชโองการลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ให้พระยาประชาชีพบริบาล (ผึ่ง ชูโต) เป็นข้าหลวงเกษตรให้อยู่ในบังคับบัญชาของเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ออกไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินโดยกำหนดท้องที่ทิศใต้ตั้งแต่แยกบางไทรขึ้นไปตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันตกและตามฝั่งแม่น้ำแควอ่างทองทิศตะวันออก ไปจนถึงคลองตะเคียนเป็นที่สุดฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ทำการทั้งธุรการและตุลาการเช่นข้าหลวงพิเศษครั้งก่อน 

• นายกิบลิน (ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้ากรมแผนที่ต่อจากพระวิภาคภูวดล) ได้รับแต่งตั้งจากเจ้ากรมให้เป็นผู้ควบคุมงานด้านนี้ ทุกแผนกได้ใช้เวลามากในการค้นคิดรูปแบบที่จะให้ผลงานสำเร็จออกมาจนเป็นรูปโฉนดที่ใช้ในสมัยนั้น และนำระบบทะเบียนที่ดินของเซอร์ โรเบิร์ต ทอเรนส์ (Sir Robert Torens) มาใช้ประกอบการทำทะเบียนเป็นทางให้แก้ไข และขจัดความยุ่งยากในกิจการผลิตหนังสือสำคัญสำหรับแสดงกรรมสิทธิ์ได้อย่างมีหลักเกณฑ์ที่ดี 

• การแผนที่ได้เริ่มทำแผนที่รังวัดที่ดินโดยด่วนสามารถให้ข้าหลวงและเจ้าพนักงานแผนที่เริ่มทำการเดินสำรวจปักที่หมายเขตที่ดินเป็นครั้งแรกในวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้วมีประกาศตั้งหอทะเบียนที่ดินเมืองกรุงเก่าขึ้นที่ประภาคารราชประยูรในพระราชวังบางปะอิน เป็นหอทะเบียนแห่งแรกในประเทศไทยและปลัดกรมแผนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน 

• วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นประวัติการณ์ที่ได้มีการประกอบพิธีพระราชทานโฉนดแก่ราษฎรผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยพระหัตถ์ ในวันนั้นเป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอินเป็นโฉนดสำหรับนาหลวง ๑ โฉนดและที่ดินของเอกชน ๓ โฉนด 

• ตั้งแต่วันพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโฉนดที่พระราชวังบางปะอิน งานแผนที่ของกรมแผนที่ส่วนใหญ่เป็นงานทำแผนที่รายละเอียดในการสร้างหนังสือสำคัญ (โฉนดที่ดิน) ได้มีการทำแผนที่เมือง อำเภอและพื้นที่บริเวณบางแห่งมีลักษณะเป็นแผนที่ภูมิประเทศรังวัดด้วยโต๊ะราบ (plane table) 

• อีก ๘ ปีต่อมาได้มีคำสั่งให้โอนสังกัดกรมแผนที่จากกระทรวงเกษตราธิการไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม 

• ภายหลังกรมแผนที่ได้โอนไปสังกัดกระทรวงกลาโหม ๑ ปีเศษ ทางกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้โอนพนักงานในกองแผนที่รายละเอียดทั้งหมด ๖๘ นาย ไปให้กระทรวงเกษตราธิการ กองนี้ได้เปลี่ยนสภาพต่อมาเป็นกรมรังวัดที่ดินมีเจ้ากรมเป็นหัวหน้ากรม คือ พระยาคำนวณคัคนานต์เป็นเจ้ากรมคนแรก ท่านผู้นี้เคยเป็นปลัดกรมแผนที่และเคยร่วมงานกับพระวิภาคภูวดล และในเวลาใกล้เคียงกัน (พ.ศ. ๒๔๔๔) ทางกระทรวงเกษตราธิการได้ตั้งกรมใหม่ให้ชื่อว่ากรมทะเบียนที่ดินมีนายเกรแฮม (Greham) ที่ปรึกษากระทรวงเกษตราธิการรักษาการเป็นเจ้ากรม 

• ภายใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการยุบและรวม ๓ กรมในกระทรวงเกษตราธิการคือ กรมรังวัดที่ดิน กรมทะเบียนที่ดินและกรมราชโลหกิจเข้าเป็นกรมเดียวกันให้ชื่อว่ากรมที่ดินในสังกัดกระทรวงมหาดไทย 

• ต่อมามีการตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ย้ายงานของกรมราชโลหกิจไปขึ้นกับกระทรวงอุตสาหกรรมให้ชื่อว่ากรมทรัพยากรธรณี 

• เมื่อกรมแผนที่ได้มาขึ้นกับกระทรวงกลาโหมอีก ทางราชการต้องการการสำรวจแผนที่ภูมิประเทศมาตรฐานให้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศให้ได้เร็วเท่าที่จะจัดทำไปได้ 

• แผนที่ภูมิประเทศมาตรฐานกำหนดมาตราส่วนไว้ ๑:๕๐,๐๐๐ แตกต่างกันกับแผนที่รังวัดที่ดินซึ่งมีมาตราส่วนใหญ่ ๑:๑,๐๐๐ ถึง ๑: ๔,๐๐๐ ตามลักษณะพื้นที่ภูมิประเทศโดยทั่วไปสำหรับไร่นาสวนโดยปกติใช้มาตราส่วน ๑: ๔,๐๐๐ 

• ในการวางโครงหมุดหลักฐานชั้นที่ ๑ ซึ่ง ต้องทำก่อนทางกรมแผนที่ได้ทำไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังต้องทำอีกมากเมื่อกรมแผนที่กลับมาสังกัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๔๕๒ มีที่ได้ทำไปส่วนหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยเริ่มสายสามเหลี่ยมที่เชียงใหม่ไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือพอทำไปจนเลยหลวงพระบางไม่มากก็ต้องหยุดชะงักลงเพราะเกิดคดีพิพาทกับฝรั่งเศส สายสามเหลี่ยมนี้ได้มีการโยงยึดติดต่อกับสายสามเหลี่ยมของสถาบันการแผนที่อินเดียที่เหนือเชียงใหม่ส่วนใหญ่ของสายสามเหลี่ยมนี้ตกไปอยู่ในดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศส 

งานทำแผนที่ของกรมแผนที่คงดำเนินไปตามที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องภารกิจหลักของสถาบันการทำแผนที่ การสำรวจเพื่อทำแผนที่ทางพื้นดิน ในเวลาต่อมาได้มีการสำรวจโดยใช้รูปถ่ายทางอากาศซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow