Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

บทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายตราสามดวง

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
2,444 Views

  Favorite

บทบัญญัติต่างๆ ในกฎหมายตราสามดวง
คำว่า "กฎหมาย" ในสมัยนั้น มิได้หมายถึงตัวบทกฎหมายดังที่เข้าใจกันในปัจจุบัน แต่หมายถึงการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรือทำหนังสือไว้เป็นหลักฐาน ส่วนคำที่หมายถึงตัวบทกฎหมาย จะใช้ว่า "พระไอยการ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด และกฎ" ดังจะเห็นได้จากตัวบทกฎหมายลักษณะต่างๆ ที่ประมวลไว้ในกฎหมายตราสามดวง

 

พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์
กฎมนเทียรบาลมีบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ ในภาพคือ 
การทรงเครื่องโสกันต์ของพระบรมวงศานุวงศ์ในพิธีโสกันต์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


สาระสำคัญของกฎหมายตราสามดวงประกอบด้วยส่วนต่างๆ รวม ๒๖ ส่วน ดังนี้
๑. ประกาศพระราชปรารภ
คือ การประกาศถึงเหตุผลและความจำเป็นในการรวบรวมชำระสะสางตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น นำมารวมเข้าไว้เป็นกฎหมายตราสามดวง เพื่อใช้เป็นหลักในการ อำนวยความยุติธรรมให้แก่ราษฎร และเน้นถึงความสำคัญของดวงตราประทับว่า ตัวบทกฎหมายที่ชำระเสร็จ สามารถใช้บังคับและอ้างอิงได้ ต้องมีตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้วประทับไว้ที่กฎหมายเท่านั้น หากไม่มีตราสามดวงนี้ ห้ามมิให้เชื่อฟังเป็นอันขาด

๒. พระธรรมศาสตร์
เริ่มด้วยการกล่าวถึงตำนานการตั้งแผ่นดิน การกำเนิดมนุษย์การกำเนิดรัฐ และเจ้าผู้ครองรัฐ การพบคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เมื่อพระมโนสารฤๅษี เหาะไปที่กำแพงจักรวาล ได้พบรอยจารึกเป็นภาษาบาลีตัวโตเท่ากายช้างสาร แล้วจดจำมา บันทึกเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอบให้พระเจ้าแผ่นดินใช้เป็นหลักในการดำรงความยุติธรรมในแผ่นดิน ส่วนนี้เป็นไปตามคติความเชื่อของอินเดีย ซึ่งมอญและไทยได้รับอิทธิพลมาตามลำดับ
ในส่วนสำคัญของพระธรรมศาสตร์ที่เป็นสาระสำคัญทางกฎหมาย ได้แก่ การวางบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เป็นผู้พิพากษาตุลาการ ในการตัดสินคดีข้อพิพาททั้งหลายของราษฎร โดยผู้ที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการที่ดี ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในข้อกฎหมาย และรู้เท่าทันข้อเท็จจริง ตั้งแต่มูลเหตุแห่งคดีทั้งหลาย ฐานะแห่งคดีตามสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้าง และข้อต่อสู้คดี การวางตนให้คู่ความเชื่อถือและเชื่อฟังความ ไม่เกียจคร้านในหน้าที่ ความมั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ไม่ยอมให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายใด การใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย โดยเสมอภาค และการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง รวมทั้งเนื้อความว่าด้วยมูลคดี ซึ่งมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ มูลคดี แห่งผู้พิพากษาตุลาการ ๑๐ ประการ และมูลคดีแห่งบุคคลอันเกิดพิพาทกันรวม ๒๙ ประการ

๓. หลักอินทภาษ
เป็นการวางหลักธรรมในการดำรงตนและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการว่า ผู้พิพากษาตุลาการต้องพิจารณาตัดสินอรรถคดีด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด  อันเกิดจากอคติ ๔ ประการ ได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรักชอบเห็นแก่อามิสสินบน โทษาคติ คือ ลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง และเปรียบเทียบว่า ผู้พิพากษาตุลาการที่ตัดสินคดีความโดยลำเอียงขาดความเที่ยงธรรม เป็นผู้มีบาปกรรมอันหนักยิ่งกว่าบาปอันเกิดจากการฆ่าประชาชนผู้หาความผิดมิได้ และผู้ทรงศีลจำนวนมากเสียอีก แม้จะทำบุญมากมายจนมิอาจประมาณได้ ก็ยังไม่อาจลบล้างบาปกรรมนี้ได้ นอกจากนี้ ผู้พิพากษาตุลาการต้องเป็นผู้รอบรู้ และเชี่ยวชาญในขั้นตอนของวิธีพิจารณาความในศาล ตั้งแต่รับและตรวจคำฟ้อง คำให้การ ให้รู้กระจ่างว่า ส่วนใดเป็นข้อสำคัญ ส่วนใดเป็นข้อปลีกย่อย การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่เรียกว่า ชี้สองสถาน พิเคราะห์คำพยานต่างๆ เพื่อค้นหาความจริงให้ได้ เสมือนนายพรานล่าเนื้อตามแกะรอยสัตว์ที่ล่าจนได้ตัว การตัดสินคดีต้องถูกต้องแม่นยำ ประดุจเหยี่ยวโฉบจับปลาตัวที่มุ่งหมายไว้ ต้องยึดถือพระธรรมศาสตร์และหลักกฎหมายทั้งปวงเป็นหลักมั่น และตัดสินความด้วยกิริยาอันองอาจประดุจพญาราชสีห์
หลักอินทภาษจึงแฝงไว้ทั้งหลักธรรมแห่งผู้พิพากษาตุลาการพึงยึดถือปฏิบัติ และคติความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษอันเกิดแก่ ผู้ที่ปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษนี้

๔. กฎมนเทียรบาล
เนื้อหาโดยรวมของกฎมนเทียรบาลตามกฎหมายตราสามดวง เป็นบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับพระราชฐานพระราชวงศ์ การถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ แต่มิได้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนในการกำหนดลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์ไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่กำหนดลำดับชั้นเครื่องอิสริยยศ ลำดับที่นั่งขณะเข้าเฝ้า และหลักปฏิบัติต่างๆ ของพระราชโอรสอันเกิดจากพระมารดาที่มีศักดิ์ฐานะต่างกันไว้ มีการกล่าวถึงลำดับชั้นและเครื่องอิสริยยศของพระราชโอรส พระมเหสี และเจ้านายในราชสำนัก ลำดับศักดิ์และเครื่องยศของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กฎและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และเขตพระราชฐาน ตลอดจนขบวนเสด็จต่างๆ การบำเหน็จรางวัลแก่ผู้มีความชอบ และการลงโทษผู้ที่มีความผิดในราชการต่างๆ เช่น ราชการสงคราม การปฏิบัติตน การรักษาวินัยของข้าราชการ และการลงโทษข้าราชการที่กระทำผิด พระราชานุกิจอันเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหมายกำหนดการประจำวัน ในการประกอบพระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินในช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ซึ่งมีมากมาย อันเป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินของไทยแต่โบราณกาลมาแล้ว ทรงมีเวลาบรรทมและพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์น้อยมาก มีรายละเอียดและลักษณะเครื่องแต่งกายของกษัตริย์ เจ้านายในราชสำนัก และข้าราชการระดับต่างๆ ไว้ พระราชพิธีต่างๆ ที่ต้องประกอบเป็นประจำในแต่ละเดือนครบทั้งสิบสองเดือน ดังที่เรียกว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน การลงพระราชอาญาแก่พระราชโอรส พระสนม และเจ้านายในราชสำนัก ตลอดจนการใช้ราชาศัพท์ในการเรียกเครื่องอุปโภคทั้งปวงของพระมหากษัตริย์ และที่ใช้ในการสื่อสารกับพระมหากษัตริย์
นักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า กฎมนเทียรบาลนี้คงมีมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว และมีข้อน่าสังเกตว่า หลักการและข้อบัญญัติต่างๆ ในกฎมนเทียรบาล มิได้มีการอ้างอิงว่า นำมาจากหลักในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของอินเดียและมอญแต่อย่างใด จึงเป็นกฎหมายที่แสดงให้เห็นถึงรากฐานขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย ที่สร้างสมสืบต่อกันมายาวนาน

๕. พระธรรมนูญ
กฎหมายลักษณะพระธรรมนูญตอนต้น บัญญัติถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ว่าด้วยเขตอำนาจศาลต่างๆ ในการพิจารณาพิพากษาคดีแต่ละประเภท ตลอดจนอำนาจหน้าที่ของขุนนางตำแหน่งต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการ การเริ่มต้นคดีต้องทำการฟ้องร้องให้ถูกต้องตามเขตอำนาจศาล และต้องฟ้องยังหน่วยราชการที่มีโรงศาลในสังกัดเท่านั้น ซึ่งมีหลายแห่งที่ผู้ว่าราชการกรมไม่มีโรงศาลในสังกัด จึงไม่มี อำนาจรับฟ้องคดีได้
บทบัญญัติในตอนกลางและตอนปลายเป็นการบัญญัติอำนาจหน้าที่ของข้าราชการใหญ่น้อยทั่วราชอาณาจักรทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยสื่อความหมายผ่านทางตราประจำตำแหน่ง ในส่วนนี้หากเปรียบเทียบกับกฎหมายปัจจุบันก็คือ กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทบวง กรมต่างๆ นั่นเอง

๖. พระอัยการกรมศักดิ์
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าตัวของบุคคลตามเพศ วัย และสถานะต่างๆ เมื่อต้องคิดค่าสินไหมทดแทน กรณีทำให้ผู้อื่นเสียหายแก่ชีวิต หรือร่างกาย และเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ ที่ผู้พิพากษาจะกำหนดค่าสินไหมทดแทนและค่าปรับในกรณีต่างๆ โดยยึดศักดินาของผู้เสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และผู้ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวเป็นหลัก

๗. พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน
กฎหมายลักษณะนี้รวมทั้งพระอัยการตำแหน่ง นาทหารหัวเมือง ไม่มีการอ้างอิงว่า มาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์แต่อย่างใด จึงเป็นกฎหมายในส่วน "พระราชนิติศาสตร์ หรือพระราชนิติคดี" อันเกิดจากรากฐานวัฒนธรรม ประเพณีการปกครอง และภูมิปัญญาของชนชาติไทย ที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จนบัญญัติเป็นกฎหมายที่เป็นการกำหนดศักดินา ตำแหน่ง ยศ และหน้าที่ของข้าราชการไทยโบราณ โดยแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายใหญ่ๆ  คือ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนเป็นกฎหมายที่กำหนดตำแหน่ง ยศ และหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน กำหนดศักดินา และหลักเกณฑ์การลงโทษเจ้านายเชื้อพระวงศ์ระดับสูง กำหนดศักดินาและหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายในต่างๆ ไว้ด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีศักดินาสูงสุดคือ พระมหาอุปราช ดำรงศักดินาสูงถึง ๑๐๐,๐๐๐
ข้าราชการฝ่ายหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนระดับสูงสุดคือ "เจ้าพญาจักรีศรีองครักษ" สมุหนายก ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดี ถือศักดินาสูงเป็นพิเศษ เรียกว่า ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เอกอุราชสีห ถือตรา "พระราชสีห์" เป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง ตราพระราชสีห์คือ ตราสำคัญดวงแรกในตราสามดวง
ตำแหน่งโกษาธิบดี หรือเจ้าพระยาพระคลัง มี "ออกพญาศรีธรรมราชฯ" เป็นผู้ปกครอง มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ถือตรา"บัวแก้ว" ก็กำหนดไว้ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนเช่นกัน

๘. พระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง
เป็นกฎหมายที่กำหนดศักดินา ยศ และหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายทหาร รวมทั้งข้าราชการหัวเมือง ตำแหน่งสูงสุดคือ "เจ้าพญามหาเสนาบดีฯ" สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งปวง ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เป็นผู้ถือตราพระคชสีห์ ตราสำคัญดวงที่ ๒ ในตราสามดวง
นอกจากนี้ ในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ยังมีการเทียบศักดินากับพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาด้วย เช่น สามเณรรู้ธรรมและไม่รู้ธรรม มีศักดินาเทียบเท่าฆราวาสผู้มีศักดินา ๓๐๐ และ ๒๐๐ ตามลำดับ พระภิกษุรู้ธรรมและไม่รู้ธรรม มีศักดินาเทียบเท่าฆราวาสผู้มีศักดินา ๖๐๐ และ ๔๐๐ ตามลำดับ
กฎหมายทั้งพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง กำหนดให้คนระดับล่างสุดของสังคม คือ ยาจก วณิพก และทาสลูกทาส ถือศักดินาคนละ ๕ ด้วย แสดงว่าศักดินา ๕ คือ คนระดับต่ำที่สุดในสังคมไทย

๙. พระอัยการบานผแนก
เป็นกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันกำลังพลของฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตามลักษณะการปกครองสมัยโบราณ โดยแบ่งกำลังพลเป็น "สมใน" คือ ผู้ที่เป็นฝ่ายใน และ "สมนอก" คือ ผู้ที่เป็นฝ่ายหน้า
กำลังพลดังกล่าวต้องมีสังกัด "มูลนาย" คือ ผู้มีศักดินาเกิน ๔๐๐ ขึ้นไป ได้แก่ เจ้าพระยา พระยา พระมหาราชครู พระหลวงเมือง เจ้าราชนิกุล ขุนหมื่น พันทนาย ซึ่งมีหลักฐานสำคัญคือ "ทะเบียนหางว่าว" แสดงหมู่ไพร่หลวง ไพร่สม ทั้งที่เป็นไทและเป็นทาส จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มูลนายทำทะเบียนหางว่าวไพร่หลวง ไพร่สม ทาสที่อยู่ในสังกัด และแจ้งให้แก่ทางการอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเรื่องการแบ่งปันบุตรชายหญิงที่เกิดจากกำลังพล ที่ฝ่ายพ่อและแม่เป็นทหารด้วยกัน หรือเป็นพลเรือนด้วยกัน หรือพ่อเป็นทหาร แม่เป็นพลเรือน หรือพ่อเป็นพลเรือน แม่เป็นทหาร พ่อและแม่อยู่สังกัดเดียวกัน หรืออยู่ต่างสังกัดกัน

๑๐. พระอัยการลักษณะรับฟ้อง
กฎหมายลักษณะนี้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีความสามารถและมีอำนาจฟ้องคดี เช่น คนวิกลจริตบ้าใบ้ คนตาบอด คนขอทาน คนสูงอายุหลงใหลแล้ว เด็กอ่อนอายุยังไม่รู้ความ มาฟ้องร้องเรื่องใด ผู้เป็นตุลาการต้องไต่สวนก่อนว่า คดีมีมูลหรือไม่ จะรับฟ้องทันทีมิได้ หรือบุคคลภายนอกจะนำคดีที่มิใช่คดีของตน และคดีที่มิใช่เป็นคดีของบิดามารดาปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาบุตรภรรยาพี่น้องของตน มาฟ้องเป็นคดีมิได้ นอกจากนี้ยังกำหนดลักษณะต้องห้าม ซึ่งเป็นเหตุตัดฟ้อง ๒๐ ประการ ซึ่งเมื่อคู่ความยกเหตุตัดฟ้องประการใดประการหนึ่งขึ้นต่อสู้ ตุลาการต้องยกฟ้องทันที เช่น ตัดฟ้องว่า เป็นคดีอุทลุมคือ บุตรหลานมาเป็นโจทก์ฟ้องพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นจำเลย หรือเป็นญาติพี่น้องเจ้ามรดกผู้ตาย แต่ได้ความว่า มิได้ช่วยรักษาพยาบาลและทำศพเจ้ามรดก กลับมาฟ้องร้องเรียกมรดก ถ้าได้ความดังนี้ ตุลาการต้องยกฟ้องทันที ลักษณะตัดสำนวน ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลรับฟ้องแล้ว ระหว่างพิจารณาหากคู่ความมีการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อห้าม ถือเป็นการตัดสำนวน ผู้ละเมิดข้อห้ามเป็นฝ่ายแพ้คดี เช่น คดีฝ่ายที่ถูกพบหลักฐานว่า ให้สินจ้างสินบนตุลาการให้เข้าข้างตน ต้องถูกปรับเป็นแพ้คดี หรือตุลาการนัดคู่ความฝ่ายใดพิจารณาเรื่องใดฝ่ายนั้นขาดนัดถึง ๓ ครั้ง ต้องถูกปรับให้แพ้คดี
กฎหมายฉบับนี้ยังบัญญัติถึงลักษณะตัดพยานอันเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบเกี่ยวกับพยานในการพิจารณาคดี เช่น แนะนำเสี้ยมสอนให้พยานให้การเข้าข้างตน ขู่เข็ญพยานผู้ปฏิบัติดังกล่าวต้องถูกปรับให้แพ้คดี และการประวิงความ โดยกระทำการหน่วงเหนี่ยวแกล้งให้คดีความเกิดล่าช้า เช่น ไม่ยอมมาศาล  อ้างว่าป่วย แต่ความจริงสบายดี ศาลตรวจพบว่า ไม่จริง ฝ่ายที่หน่วงเหนี่ยวจะถูกปรับคดีเป็นแพ้ สุดท้ายคือ ลักษณะว่าต่างแก้ต่างแทนกัน หมายถึง การกำหนดประเภทคดีที่บุคคลสามารถเข้ามาฟ้องคดีหรือต่อสู้คดี แทนผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหาได้ และการห้ามมิให้เข้ามาฟ้องคดีหรือสู้คดีแทนกัน ในคดีบางประเภท เช่น การทำเงินตราปลอม การวางเพลิง การเป็นชู้

๑๑. พระอัยการลักษณะพยาน
กฎหมายลักษณะพยานกล่าวถึงความสำคัญของพยานที่มีต่อคดี และบาปบุญคุณโทษ อันได้แก่ พยานที่เบิกความตามจริง และผู้เป็นพยานเท็จ ผู้พิพากษาต้องมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะพยานบุคคล ๓๓ จำพวกที่ไม่ให้ฟังเป็นพยาน เว้นแต่คู่ความยินยอม เช่น พยานที่เป็นคนจรจัด คนขอทาน เด็กไม่รู้ความ และได้กำหนดลักษณะพยานบุคคลที่เรียงตามลำดับความน่าเชื่อถือจากมากไปหาน้อย ๓ จำพวก คือ ทิพพยาน ได้แก่ พยานที่เป็นพระภิกษุผู้ทรงศีล นักปราชญ์ราชบัณฑิต และขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ อุดรพยาน ได้แก่ ข้าราชการผู้น้อย พ่อค้า ประชาชน และอุตริพยาน ได้แก่ พี่น้องเพื่อนฝูงของคู่ความ และคนหูหนวกตาบอด คนเป็นโรคร้าย คนขอทาน การสืบพยาน และการรับฟังพยานในกรณีต่างๆ

 

จิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสวิหาร แสดงภาพการจำขื่อคาและเฆี่ยนตี
จิตรกรรมฝาผนังวัดโสมนัสวิหาร แสดงภาพการจำขื่อคาและเฆี่ยนตี เพื่อสอบสวนคนร้าย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


๑๒. กฎหมายพิสูจน์ดำน้ำพิสูจน์ลุยเพลิง
กฎหมายฉบับนี้เป็นมาตรการสุดท้ายที่จะหาเกณฑ์ตัดสินข้อแพ้ชนะในระหว่างคู่ความ โดยยึดถือปรากฏการณ์ที่เหนือหรือเกินเกณฑ์มาตรฐานตามธรรมชาติเป็นตัวชี้วัด เช่น วิธีให้คู่ความลุยเพลิงถ่านไฟหนา ๑ คืบ ยาว ๖ ศอก กว้าง ๑ ศอก ฝ่ายใดฝ่าเท้าไม่พองเป็นฝ่ายชนะ แต่ก่อนจะมาถึงวิธีการนี้ คดีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนพิจารณาที่ควรจะทำมาทั้งหมดแล้ว แต่ปรากฏว่า คดีดังกล่าว ขาดทั้งประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม และพยานหลักฐานอื่นๆ ไม่อาจค้นหาความจริงได้ จึงยอมให้ใช้วิธีพิสูจน์ซึ่งมี ๗ ประการ ได้แก่ 
๑. ล้วงตะกั่ว 
๒. สาบาน  
๓. ลุยเพลิงด้วยกัน 
๔. ดำน้ำด้วยกัน 
๕. ว่ายขึ้นน้ำแข่งกัน 
๖. ว่ายข้ามฟากแข่งกัน 
๗. จุดเทียนคนละเล่ม แล้วดูว่า ผู้ใดหมดก่อน เป็นเกณฑ์แพ้ชนะกัน
กฎหมายลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นความเชื่อถือ ในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจเหนือธรรมชาติที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาช้านานแล้ว


๑๓. พระอัยการลักษณะตุลาการ
กฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากการสำแดงลักษณะอคติ ๔ ประการ ได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ ที่ผู้เป็นผู้พิพากษาตุลาการต้องกระทำตนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เที่ยงตรง ไม่ลำเอียงไปโดยอคติ ๔ ดังกล่าว รวมทั้งกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวกับข้อพึงปฏิบัติ ข้อห้าม ข้อกำหนดต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาเจ้าพนักงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคู่ความ

๑๔. พระอัยการลักษณะอุทธรณ์
เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการ ดำเนินกระบวนพิจารณาลักษณะต่างๆ ในศาลชั้นต้นอันเป็นเหตุให้อุทธรณ์คดีต่อศาลสูงได้ รวมทั้งผลที่จะเกิดแก่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และคู่ความกรณีที่รับฟังได้หรือไม่ได้ ในการอุทธรณ์ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทำงานผิดพลาด ตัดสินความไม่ยุติธรรมจะถูกลงโทษ และต้องรับผิดในค่าเสียหาย ที่เกิดแก่คู่ความฝ่ายที่เสียหายด้วย

๑๕. พระอัยการลักษณะผัวเมีย
เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยา บุตร บิดามารดา ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา เช่น การสมรส การเป็นชู้ (ใช้เฉพาะหญิงผู้เป็นภรรยามีชู้) การข่มขืนกระทำชำเราหญิงและเด็กหญิง ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา การชดใช้ค่าเสียหาย และการลงโทษในกรณีละเมิดข้อห้ามต่างๆ ทางกฎหมาย

๑๖. พระอัยการทาส
เป็นบทบัญญัติ เกี่ยวกับลักษณะทาส ๗ ประการ ได้แก่ ทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย ทาสได้มาข้างบิดามารดา ทาสมีผู้ให้ ทาสที่ได้ช่วยเมื่อต้องโทษทัณฑ์ ทาสที่เลี้ยงดูมาในยามข้าวยากหมากแพง ทาสเชลย และทาสสินไถ่ การตกเป็นทาสประเภทต่างๆ การตั้งค่าตัว การไถ่ถอน การปฏิบัติตน สิทธิหน้าที่ของทาสประเภทต่างๆ ระหว่างทาสกับนายเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ รวมทั้งกำหนดว่า ทาสคือ คนของพระมหากษัตริย์ ที่นายเงินจะลงโทษถึงตายไม่ได้

 

ภาพนักโทษและการไต่สวน
ภาพนักโทษและการไต่สวนผู้ร้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30



๑๗. พระอัยการลักษณะลักพาลูกเมียผู้คนท่าน
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานลักพาเอาข้าคน ลูกเมีย ทาส ของผู้อื่นไปในลักษณะต่างๆ เช่น ถ้าลักพาลูกเมียผู้อื่นไปซ่อนไว้ในเรือน จะถูกปรับไหม และลงโทษในอัตราหนึ่ง หากลักพาหนีไปนอกเมือง จะถูกปรับไหม และลงโทษในอีกอัตราหนึ่ง

๑๘. พระอัยการลักษณะมรดก
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกผู้ที่เป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ พ่อค้า และประชาชนธรรมดาให้แก่ทายาทโดยธรรม เช่น คู่สมรสระดับต่างๆ ได้แก่ ภริยาพระราชทาน ภริยาสู่ขอ อนุภริยา ทาสภริยา และบุตรที่เกิดจากภริยาต่างๆ การทำบัญชีทรัพย์มรดก การทำพินัยกรรม

๑๙. พระอัยการลักษณะกู้หนี้
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันในลักษณะต่างๆ ๑๓ ประการ เช่น การกู้เงินระหว่างผู้มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกัน ได้แก่ บุตร บุตรเขย ลูกสะใภ้ พี่น้อง หลานข้างบิดา หรือข้างมารดา หลานเขย ภรรยาหลวง ภรรยาน้อย หากกู้ยืมเงินกัน ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร รวมทั้งการกู้เงินในลักษณะทั่วไป และลักษณะอื่นๆ

๒๐. พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด)
เป็นบทบัญญัติที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ หลายด้าน เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบ และการชดใช้ค่าเสียหาย อันเกิดจากทำไร่ ทำนา ทำสวนรุกล้ำกินแดนกัน หรือเกิดจากการกระทำของสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยืม การฝากทรัพย์ การซื้อขาย การเช่า การเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการจราจรทั้งทางบก เช่น เกวียนโดนกัน และทางน้ำ เช่น เรือโดนกัน การเล่นการพนัน แม้กระทั่งการเกิดอันตรายจากการทำไสยศาสตร์ การกระทำคุณไสย การวางยาพิษ และการทำให้แท้งลูก เนื่องจากมีบทบัญญัติหลากหลายมาก จึงเรียกชื่อว่า พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด)

๒๑. พระอัยการลักษณะวิวาทตีด่ากัน
เป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดทะเลาะวิวาทด่าทอกัน และทำร้ายร่างกายกัน ทั้งที่เป็นการชกต่อยกัน หรือใช้อาวุธทั้งของมีคม และไม่มีคมทำร้ายกัน เป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตราย หรือบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย โดยแบ่งลักษณะการกระทำผิดเป็นหลายลักษณะ และกำหนดโทษ และค่าเสียหาย สำหรับการกระทำแต่ละลักษณะไว้แตกต่างกัน และมีบทบัญญัติที่แสดงถึงผู้ใหญ่ต้องมีเมตตา และผู้น้อยควรให้ความเคารพผู้ใหญ่ การให้อภัย และการรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว อันเป็นลักษณะของคนไทย เช่น ในกรณีที่เกิดการทะเลาะกันในครัวเรือนระหว่างพ่อตา แม่ยาย ลูกเขย ลูกสะใภ้ พ่อผัว แม่ผัว เมียหลวง เมียน้อย ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หากผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายถึงสาหัส ให้ผู้ปกครองบ้านเมือง เช่น นายร้อย นายแขวง นายอำเภอ ว่ากล่าวตามความผิด และตามลำดับการเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย โดยให้ขอขมาทำขวัญกัน หรือหากผู้ใหญ่บันดาลโทสะตีทารกก็จะต้องเสียค่าเสียหายเป็นทวีคูณ

๒๒. พระอัยการลักษณะโจร
เป็นบทบัญญัติในการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ ที่มีลักษณะการกระทำผิดหนักเบาแตกต่างกัน โดยคำนึงถึงตัวทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย ตัวเจ้าทรัพย์ และองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อมีบทกำหนดโทษที่แตกต่างกัน
มีการแบ่งโจรออกเป็น ๘ จำพวก ซึ่งประกอบด้วย "องคโจร" รวม ๓ จำพวก และ "สมโจร" รวม ๕ จำพวก องคโจร ๓ จำพวก ได้แก่ ผู้เป็นตัวการกระทำเอง ผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำ และผู้สั่งสอนวิชาโจร ส่วนสมโจร ๕ จำพวก ได้แก่ ผู้ให้ที่พักแก่โจร ผู้เป็นมิตรสหายกับโจร ผู้สมรู้ร่วมคิดกับโจร ผู้ให้ที่กำบังหลบซ่อนแก่โจร และผู้อยู่กินอาศัยกับโจร การกระทำผิดก็มีทั้งการปล้น การชิง การลัก ซึ่งบางกรณีมีการทำร้ายเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย ตลอดจนการกระทำผิดขั้นอุกฤษฏ์โทษต่างๆ เช่น  ลักพระพุทธรูป หรือลอกของมีค่าที่องค์พระ เช่น เอาองค์พระพุทธรูปทองไปเผา เพื่อลอกเอาทอง โดยการกำหนดโทษจะหนักเบาลดหลั่นไปตามลักษณะการกระทำผิด

๒๓. พระอัยการอาชญาหลวง
เป็นบทบัญญัติไม่ให้ขุนนาง และราษฎรทำการใดๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ได้แก่ การละเมิดพระราชโองการ พระราชบัญญัติ และพระราชเสาวนีย์ การกระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ การเบียดบังลักพระราชทรัพย์ และค่าภาษีค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ การกระทำที่เป็นภยันตรายแก่ประชาชน และความผิดอื่นๆ เช่น กระทำทุจริตเกี่ยวกับการเกณฑ์กำลังพลไปใช้ในราชการสงคราม การใช้กำลังอาวุธเข้าข่มขู่กรรโชกทรัพย์แก่ราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน การปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งในฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนโดยมิชอบหรือโดยทุจริต

๒๔. พระอัยการอาชญาราษฎร์
เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ที่เป็นการข่มเหงราษฎรด้วยกัน เช่น ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และหลบหนี้เจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ไปพบเข้าก็ใช้กำลังจับกุมมาจองจำเอาไว้โดยพลการ ไม่มอบให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เช่น ไปทำลายพืชผล รั้ว หรือบ้านเรือนผู้อื่นให้เสียหาย

๒๕. พระอัยการกบฏศึก
คำว่า กบฏศึก ตามกฎหมายฉบับนี้ มิได้หมายความเฉพาะการยึดอำนาจปกครองประเทศจากองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำลักษณะร้ายแรงต่างๆ ทั้งที่มีผลต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร และเป็นการกระทำผิดในลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง เช่น ปล้นพระนคร เผาพระราชวัง ปล้นและเผาวัด ฆ่าบิดามารดาครูบาอาจารย์ ลักพา กระทำทารุณตัดมือตัดเท้า และฆ่าเด็กทารก โทษที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำผิดที่มีลักษณะรุนแรงให้ผู้ถูกลงโทษได้รับความทรมาน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดการกระทำของผู้มีหน้าที่ในกองทัพยามเกิดศึกสงครามกำหนดกิจที่พึงกระทำ หรือพึงงดเว้นตามหลักพิชัยสงคราม การลงโทษกรณีฝ่าฝืน และการปูนบำเหน็จให้รางวัลกรณีทำความชอบ และอื่นๆ

๒๖. กฎพระสงฆ์
มีรวม ๑๐ ข้อใหญ่ เป็นการวางหลักปฏิบัติ ข้อพึงปฏิบัติ ข้อห้าม การสอดส่องดูแล การกำกับตรวจสอบ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายประพฤติตนได้สมกับสมณเพศตามพระธรรมวินัย และมีบทลงโทษกรณีต่างๆ ไว้ โดยมีการยกตัวอย่างคดีที่พระสงฆ์กระทำผิด หรือประพฤติไม่สมควรออกนอกลู่นอกทางไว้มากมายหลายกรณี เช่น การเสพเมถุนกับสีกา พูดจา หรือทำกิริยาเกี้ยวพาราสีสีกา เสพสุรา เล่นการพนัน อวดอุตริเป็นผู้วิเศษ

๒๗. กฎ ๓๖ ข้อ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเก่า  และพระราชกำหนดใหม่
ประกอบด้วยกฎ ๓๖ ข้อ พระราชบัญญัติ ๒๒ ฉบับ พระราชกำหนดเก่า ๖๕ ฉบับ เป็นกฎหมายในส่วน "พระราชนิติศาสตร์ หรือพระราชนิติคดี" ที่พระมหากษัตริย์ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในด้านการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน การศาลยุติธรรม รวมทั้งแนวทางพระบรมราชวินิจฉัยคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างคดี และข้อเท็จจริงในคดีตามที่เกิดขึ้นจริง ตลอดจนพระบรมราชวินิจฉัยที่เกี่ยวข้อง แล้ววางเป็นกฎไว้ใช้บังคับต่อไป
หลักอินทภาษ พระธรรมนูญ พระ อัยการกรมศักดิ์ พระอัยการลักษณะรับฟ้อง พระอัยการลักษณะพยานพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง พระอัยการลักษณะตุลาการ พระอัยการลักษณะอุทธรณ์ พระอัยการลักษณะผัวเมีย พระอัยการทาส พระอัยการลักษณะลักพาลูกเมียผู้คนท่าน พระอัยการลักษณะมรดก พระอัยการลักษณะกู้หนี้ พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด) พระอัยการลักษณะวิวาทตีด่ากัน พระอัยการลักษณะโจร พระอัยการอาชญาหลวงอาชญาราษฎร์ และพระอัยการกบฏศึก ล้วนแต่เป็นกฎหมายสาขาคดี ที่นำมูลคดีต่างๆ ตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มาบัญญัติเป็นบทมาตราต่างๆ กฎหมายส่วนนี้จึงเป็น "พระราชศาสตร์"
ส่วนกฎมนเทียรบาล พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน พระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง กฎพระสงฆ์ กฎ ๓๖ ข้อ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนดเก่า และพระราชกำหนดใหม่ เป็นบทบัญญัติที่มิได้นำมูลคดีตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเป็นหลัก กฎหมายส่วนนี้จึงเป็น "พระราชนิติศาสตร์ หรือพระราชนิติคดี"

 

แผ่นภาพสลักหินเรื่องรามเกียรติ์
แผ่นภาพสลักหินเรื่องรามเกียรติ์ ประดับที่พนักระหว่างเสาเฉลียงพระอุโบสถด้านนอก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แผ่นที่ ๖๗ 
ตอนพลลิงเอาสุกรสารเข้าขื่อคาและเฆี่ยนตี สะท้อนถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสอบสวนตามกฎหมายเก่า
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow