Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
1,170 Views

  Favorite

สาระโดยรวมของกฎหมายตราสามดวง
กฎหมายตราสามดวงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญฉบับหนึ่งของไทย ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาถึงสภาพการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งวัฒนธรรมในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
โครงสร้างของสังคมไทยในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง   เป็นสังคมที่ยึดถือระบบศักดินาเป็นหลัก พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน และพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ได้กำหนดหน้าที่ และสิทธิของพลเมืองให้แตกต่างกันไป ตามศักดินาที่กำหนดขึ้น โดยที่พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชโอรสข้าราชการฝ่ายใน ข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือน ในราชธานีและหัวเมืองทุกกรมกอง พระภิกษุ ไพร่ ทาส ต่างมีศักดินาตามฐานะในสังคมและตำแหน่งของตน เช่น ทาสมีศักดินา ๕ ไพร่ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป มีศักดินา ๒๕ สำหรับผู้มีตำแหน่งจะมีศักดินาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ศักดินา ๕๐ จนถึงศักดินา ๑๐,๐๐๐ ส่วนเจ้านายชั้นสูงจะมีศักดินาได้มากกว่านี้ ทั้งนี้ศักดินาจะเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการทำความดีความชอบในราชการ หรือประกอบอาชีพที่ทำประโยชน์แก่สังคม ในทางตรงกันข้าม ศักดินาก็ลดลงได้เช่นกัน ถ้าทำผิดกฎหมาย กล่าวโดยสรุปคือ ศักดินาซึ่งทุกคนมีอยู่ประจำตัวเป็นเครื่องกำหนดสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบและฐานะของคนทุกกลุ่มในสังคม ระบบศักดินาจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ของการจัดระบบสังคมในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะสูงสุดของสังคม รองลงมาคือ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส สังคมไทยจึงแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มอย่างกว้างๆ คือ ชนชั้นผู้ปกครอง และชนชั้นผู้ถูกปกครอง

ก. ชนชั้นผู้ปกครอง
พระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครอง ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ผู้ที่ล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เช่น เอาเท้าถีบประตูวัง จะถูกตัดเท้า หากเจรจามี เลศนัยต่อหน้าพระที่นั่ง จะต้องโทษประหาร และหากกระทำการเป็นกบฏ จะถูกประหารชีวิตด้วยวิธีทรมานและทารุณ การลักพระราชทรัพย์ จะถูกลงโทษหนักกว่าโทษลักทรัพย์คนธรรมดามาก พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้กำหนด และพระราชทานศักดินาแก่บุคคลต่างๆ  คือ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ และทาส แต่ถึงแม้จะทรงพระราชอำนาจถึงขนาดเป็นเจ้าชีวิตของคนทั้งปวง พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงปกครองบ้านเมือง โดยยึดถือหลักทศพิธราชธรรมมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างเช่น ในกฎมนเทียรบาลมีข้อบัญญัติว่า ขณะพระมหากษัตริย์ทรงพระพิโรธ และเรียกหาพระแสงดาบ ห้ามมิให้ผู้ใดยื่นพระแสงดาบให้ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษถึงตาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ทรงลงโทษผู้ใดโดยหุนหันพลันแล่น หรือเมื่อทรงพระราชวินิจฉัยข้อราชการใด หรือตัดสินคดีใดแล้ว ให้กระทำตามต่อเมื่อพระบรมราชวินิจฉัยนั้นชอบด้วยกฎหมาย และประเพณีแล้ว หากไม่เป็นดังนั้น ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทูลคัดค้านให้ได้ ๓ ครั้ง หากยังไม่ทรงฟังคัดค้าน ต้องทูลคัดค้านในที่รโหฐานอีก ๑ ครั้ง ถ้ายังไม่ทรงฟังอีก จึงจะนำพระบรมราชวินิจฉัยนั้นไปปฏิบัติตามได้
ชนชั้นผู้ปกครองลำดับรองลงมา คือ พระมหาอุปราช ทรงศักดินา ๑๐๐,๐๐๐ และเจ้านายลำดับต่างๆ ลดหลั่นลงมา ถัดจากเจ้านายคือ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ชนชั้นผู้ปกครองทั้งเจ้านาย และขุนนาง ต่างก็ได้รับประโยชน์จากแรงงานของไพร่ที่อยู่ในสังกัด และได้รับสิทธิพิเศษคือ ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ทั้งตัวขุนนางเองและคนในครอบครัว ปรากฏในพระราชกำหนดว่า ลูกเจ้านาย และขุนนาง ไม่ต้องถูกสักเลก ซึ่งเป็นการใช้เหล็กแหลมแทงตามเส้นหมึกที่เขียนชื่อเมืองและชื่อมูลนายไว้บริเวณข้อมือของไพร่    เป็นการสักแสดงเครื่องหมายว่า หมู่ชายฉกรรจ์ผู้ที่ผ่านการสักเรียกว่า "เลก" อยู่ในสังกัดของนายคนใด โดยจะมีการทำทะเบียนเก็บไว้ที่หอสัสดีกับมูลนาย เพื่อเตรียมเกณฑ์ราชการ ซึ่งจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี จนถึง ๗๐ ปี จึงจะปลดชรา นอกจากนี้ขุนนางศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป เมื่อเกิดคดีความ ไม่ว่าเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยไม่ต้องไปศาลด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีส่งตัวแทนไปศาล เพื่อดำเนินคดีแทน มีสิทธิเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ในการเสด็จออกขุนนาง และมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายมากหรือน้อยตามศักดินา ในกรณีที่ถูกทำร้ายจากบุคคลที่มีฐานะต่ำกว่า แต่ในทางกลับกัน หากขุนนางไปทำร้ายผู้ที่มีศักดินาต่ำกว่า จะต้องเสียค่าปรับตามศักดินาของตน ไม่ใช่ตามศักดินาของผู้ที่ถูกทำร้าย ตามกฎหมายลักษณะมรดก ก็ให้สิทธิแก่ผู้ถือศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป ต่างจากคนสามัญ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งขุนนางออก เป็น  ๒  ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร และพลเรือน  แต่เมื่อเกิดศึกสงคราม ขุนนางทั้ง ๒ ฝ่ายต้องถูกเกณฑ์ไปรบทั้งหมด ตามกฎหมายตราสามดวง สำหรับผู้ที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไปถือว่า เป็นมูลนาย ส่วนผู้ที่มีศักดินาต่ำลงมาเป็นไพร่ ดังที่ปรากฏในพระอัยการลักษณะบานแผนก
นอกจากศักดินาแล้ว ทำเนียบข้าราชการยังกำหนดศักดิ์อีก ๓  อย่างคือ ยศ (หรือที่เรียกกันต่อมาว่า บรรดาศักดิ์) ราชทินนาม และตำแหน่ง ยศ ได้แก่ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ราชทินนามคือ ชื่อที่ผูกติดกับตำแหน่ง เช่น พระยามหาเสนาบดี ส่วนตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดทูลฉลอง เจ้ากรม

ข. ชนชั้นผู้ถูกปกครอง
ตามที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง คือ ไพร่ และทาส ไพร่เป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม โดยเป็นสามัญชนทั่วไปที่มิได้เป็นมูลนายและมิได้เป็นทาส กฎหมายบังคับให้ไพร่ต้องอยู่ใต้สังกัดของมูลนาย โดยจดทะเบียนว่าอยู่ที่ใดและอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใด ผู้เป็นมูลนาย มีหน้าที่เกณฑ์ไพร่ใต้บังคับบัญชาของตนเข้าประจำกองทัพ เมื่อมีศึกสงคราม หน้าที่หลักของไพร่คือ ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานด้านต่างๆ ไพร่มี ๒ ประเภท คือ ไพร่หลวง และไพร่สม ไพร่หลวงเป็นชายฉกรรจ์ที่มีหน้าที่รับใช้บ้านเมือง หรือพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทรงแจกจ่ายให้อยู่ในปกครองของขุนนางกรมต่างๆ ไพร่หลวงเหล่านี้ต้องทำงานโยธา เช่น สร้างวังเจ้านาย สร้างวัด ป้อม เขื่อน ทั้งในกรุงและนอกกรุงโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หากไพร่หลวงไม่ต้องการเข้าเกณฑ์แรงงาน ก็ต้องเสียส่วยเป็นเงินหรือสิ่งของให้กับทางราชการแทน ส่วนไพร่สม เป็นไพร่ที่สังกัดเจ้านายและขุนนาง ขึ้นกับนายของตน ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานไปรับราชการ แต่ต้องรับใช้การงานของผู้เป็นนายของตน ไพร่สมมีหน้าที่นำส่วยมาให้มูลนาย และทำงานโยธา เช่น สร้างวัด และต้องถูกเกณฑ์เข้ากองทัพในยามศึกสงครามเช่นเดียวกับไพร่หลวง สิ่งที่ไพร่จะได้รับจากมูลนายคือ ได้รับการปกครองดูแล และได้รับความช่วยเหลือ คุ้มครอง ส่วนผู้ที่ไม่มีมูลนาย นอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ แล้ว ยังถือว่าไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ด้วย ดังที่กำหนดไว้ในพระอัยการลักษณะรับฟ้องว่า ผู้ที่จะมาร้องฟ้องคดี ถ้าไม่ได้สังกัดมูลนาย ห้ามมิให้ศาลใดรับฟ้องไว้ ทั้งยังต้องจับคนผู้นั้นส่งให้สัสดีเอาตัวเป็นคนหลวงด้วย นอกจากนั้น ไพร่ถูกจัดเป็นสมบัติของมูลนาย และอยู่ในหมวดทรัพย์สินของมูลนายเช่นเดียวกับทาส ภรรยา และบุตร ผู้ใดลักพาไพร่ของผู้นั้นไป ถือเป็นความผิดต้องถูกปรับโทษตามบรรดาศักดิ์

 

ไพร่ต้องอยู่ใต้สังกัดของมูลนาย
ไพร่ต้องอยู่ใต้สังกัดของมูลนาย ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานด้านต่างๆ และเข้าประจำกองทัพ เมื่อมีศึกสงคราม 
ภาพเขียนนี้ แสดงการเดินทัพของไพร่พลในสมัยโบราณ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30

 

 

สตรีสามัญชน
สตรีสามัญชน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


ส่วนทาสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่ ตกเป็นทาสเพราะยากจน ต้องขายตัวให้กับนายเงิน และต้องทำงานให้นายเงินตามแต่จะใช้สอย ทาสจะพ้นจากความเป็นทาสเมื่อมีเงินมาไถ่ตัว อย่างไรก็ดีสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่ทารุณโหดร้าย ทาสได้รับการเลี้ยงดูตามสมควร ตัวอย่างเช่น กฎหมายรับรองสิทธิของทาสว่า ให้นายเงินค่อยใช้ค่อยสอย อย่าให้ทำร้าย ถ้าจะตีก็ให้พอหลาบจำพอให้กลัว ห้ามมิให้ตีให้ล้มตาย ในกรณีที่ทาสพิพาทกับนายเงิน กฎหมายห้ามมิให้ทาสฟ้องนายเงิน ถ้ายังไม่ใช้ค่าตัว แต่หากนายเงินทำผิดต่อทาส ซึ่งเป็นความผิดมหันตโทษ กฎหมายก็อนุญาตให้ทาสฟ้องคดีนายเงินได้ โดยไม่ต้องใช้เงินค่าตัวก่อน
สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ความเกี่ยวพันในทางทรัพย์สินและการทำมาค้าขาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของรายได้ที่เกิดจากการประกอบการเกษตร และการค้าขายสินค้า หรือเกี่ยวเนื่องมาจากการประกอบการเกษตร ลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในพระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องที่ดินทำกิน สัตว์พาหนะที่ใช้ในการเกษตร การลักทรัพย์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การรุกล้ำที่ทำกิน การรับจ้างประกอบการงานต่างๆ การฝากทรัพย์สิ่งของกันไว้ การซื้อขาย การยืม และการให้ทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเน้นไปที่ที่ดินในการประกอบการเกษตร และพืชผลต่างๆ ตลอดจนสัตว์พาหนะต่างๆ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่มีมาแต่โบราณคือ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ครอบครัวไทยโบราณ เป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวมีภรรยาหลายคน จึงมีการกำหนดประเภทของภรรยาต่างๆ ไว้ในกฎหมาย ได้แก่ หญิงที่บิดามารดาชายสู่ขอให้ ถือเป็นภรรยาหลวง มีคนเดียว เรียกว่า เมียกลางเมือง ส่วนหญิงที่ชายขอมาเลี้ยงเป็นอนุภรรยา รองจากภรรยาหลวงลงมา เรียกว่า เมียกลางนอก และหญิงที่มีทุกข์ยาก ชายไปไถ่มาเลี้ยงเป็นเมีย เรียกว่า เมียกลางทาสี ทั้งเมียกลางนอกและเมียกลางทาสีนั้น กฎหมายไม่กำหนดจำนวนไว้

นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานหญิงมาให้เป็นภรรยาของชาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้าราชการที่มีความชอบในราชการ เรียกว่า เป็นภรรยาพระราชทาน มีศักดิ์สูงกว่าภรรยาใดๆ กฎหมายได้กำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อกันระหว่างชายกับหญิงผู้เป็นภรรยาต่างๆ ไว้มากน้อยลดหลั่นกันตามศักดิ์ฐานะของแต่ละคน  ความเกี่ยวพันในครอบครัวนี้ส่งผลให้เกิดหลักเกณฑ์ หรือกฎหมายต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีกมาก เช่น ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้กำหนดให้การกู้ยืมในระหว่างผู้ที่เป็นเมียหลวง เมียกลางนอก และเมียอื่นๆ ห้ามคิดดอกเบี้ย เพราะถือว่า ร่วมสามีกัน เรื่องนี้ยังมีผลไปถึงกฎหมายลักษณะมรดกอีกด้วย เมื่อสามีถึงแก่กรรม มรดกก็แบ่งปันไปยังบุตรภรรยาตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามสถานะ สะท้อนให้เห็นสังคมไทยในสมัยโบราณว่า หญิงเป็นสมบัติของชาย และขาดความเท่าเทียมกับชาย
ธรรมดาของผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมมีทั้งดีและร้าย พระอัยการลักษณะวิวาทตีด่ากัน และพระอัยการลักษณะอาชญาราษฎร์ เป็นกฎหมายที่กล่าวถึงการกระทำความผิดต่อชีวิต ร่างกาย การทะเลาะวิวาท ข่มเหง รังแกกันในลักษณะต่างๆ ซึ่งหลายอย่างฟังดูแปลกๆ เช่น วิวาทชกตี ทุบ ถอง ตบ บิดข่วนด้วยมือก็ดี เอาถุงเอาผ้าฟาดตีก็ดี จับเอาดินเปียก ข้าวเปียก ชิ้นเนื้อ ชิ้นปลาสด ทรายเปียก ขว้างใส่ทำร้ายผู้อื่นก็ดี มีโทษเท่ากับการทำร้ายด้วยมือเปล่า แต่ถ้าเอาน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน หรือเมล็ดข้าวเปลือกสาดใส่ทำร้ายกัน จะถูกปรับโทษเพียงครึ่งหนึ่งของการทำร้ายกันด้วยมือเปล่า กฎหมายยังบัญญัติไปถึงการทำร้ายกัน จนถึงได้รับอันตรายแก่กาย หรืออันตรายสาหัสถึงพิกลพิการ การกระทำผิดโดยใช้อาวุธที่เป็นไม้ หรือเป็นเหล็กการทำร้ายร่างกายผู้ทรงศีล เช่น สมณะ พราหมณ์ และการทำร้ายบุพการี ได้แก่ บิดามารดาปู่ย่าตายาย เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี
รายได้ของแผ่นดินในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการกำหนดตัวข้าราชการผู้มีหน้าที่เก็บภาษีค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้ในพระธรรมนูญ มีทั้งอากรสุราอากรบ่อนเบี้ย อากรขนอนซึ่งเป็นการเก็บจากสินค้าที่ผ่านด่าน อากรค่าน้ำ ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการทำประมง อากรค่าตลาด ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมในการค้าขาย และสมพัตสร ซึ่งเป็นอากรค่าธรรมเนียมที่เก็บจากพืชผลการเกษตรที่เป็นไม้ยืนต้น นอกจากนี้พระอัยการอาชญาหลวงมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนในกรณีต่างๆ  เช่น การไม่จ่ายอากรค่าธรรมเนียม หรือเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังอากรค่าธรรมเนียม
กฎหมายตราสามดวงยังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมในสมัยโบราณ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญกฎหมายลักษณะรับฟ้อง ลักษณะตุลาการ ลักษณะพยาน ลักษณะดำน้ำลุยเพลิง และลักษณะอุทธรณ์ จะเห็นได้ว่า ศาลหรือตุลาการสมัยนั้น กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยราชการต่างๆ ไม่เป็นระบบเดียวกัน และไม่มีการแยกเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครองดังเช่นปัจจุบัน ตัวบทกฎหมายถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และไม่จำเป็นที่ประชาชนต้องล่วงรู้ จะรู้อยู่เฉพาะในชนชั้นผู้ปกครอง และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา และตุลาการเท่านั้น
นอกจากนั้น ในพระราชกำหนดเก่าและพระราชกำหนดใหม่ และกฎ ๓๖ ข้อ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดี การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งทำให้ประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอๆ เช่น การทรมานผู้ถูกกล่าวหาว่าทำผิดให้รับสารภาพ การตบปากผู้ที่โต้เถียงผู้พิพากษา การจำคุก การจำขังทั้งตัวโจทก์และจำเลยผู้มีคดีไว้ในศาล ระหว่างพิจารณา การเรียกค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่างๆ ของการพิจารณาคดีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งการขาดเหตุผลในการพิสูจน์ความถูกผิดในคดีที่ขาดพยานหลักฐาน โดยให้คู่ความดำน้ำหรือลุยเพลิง หรือล้วงตะกั่วร้อนๆ เป็นการพิสูจน์ข้อแพ้ชนะกัน
ด้วยสภาพปัญหาต่างๆ ในการจัดระบบงานศาลและระบบงานการยุติธรรมดังกล่าว เป็นสาเหตุให้มีการปฏิรูปกฎหมายและการศาลครั้งใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายตราสามดวงในที่สุด

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow