Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หลักฐานการเห่เรือในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
1,642 Views

  Favorite

หลักฐานการเห่เรือในประเทศไทย

แม้ว่าการเห่เรือจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีลอยพระประทีปก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานว่า การเห่เรือน่าจะมีมาก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเท่าที่ปรากฏหลักฐานแล้วเท่านั้น คือ

๑. สมัยอยุธยา 
สมัยอยุธยาตอนต้นปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งได้บรรยายถึงการยกกระบวนพยุหยาตราทัพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งทางสถลมารค และชลมารคอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะทางชลมารค ได้พรรณนากระบวนทัพ ความว่า


"รายเรือแผดงคู่ถ้วน     แถวคับ  ค่งงแฮ
สยงสรางชิงไชย           ชื่นฝ้าย
เรือโยงแย่งโยงตับ       แต่งต่อ กนนแฮ
หลงงก่อนขวาซ้ายซ้อง  ซับกนน
เรือแห่เรือแหนแหน      แห่ห้อม
พิทยพิทนนแซ             ชามาก
ทุกท่าทุกท่งล้อม         หน่นนหนา ฯ"


นอกจากนั้น ยังมีความบางตอนที่แสดง ลักษณะเสียงที่ปรากฏในกระบวนพยุหยาตราทัพเหมือนอย่างการเห่เรือ แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปัจจุบันอยู่บ้างคือ มีดนตรีจำพวกพิณพาทย์เข้ามาประกอบด้วย ดูเหมือนกับการขับร้องประกอบดนตรี แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า เป็นลักษณะของการเห่เรือ คือ


"สยงสโพนพิณพาทยก้อง     กาหล
สยงสู่ศรีสารจยน                จ่นนแจ้ว
สยงคณคนคฤม                 คฤโฆษ
 สยงพวกพลกล้าแกล้ว        โห่หรรษ์ ฯ"


สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารคอย่างสม่ำเสมอทุกรัชกาล ดังปรากฏหลักฐาน การบันทึกรายละเอียดไว้ชัดเจนในต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเรื่อง กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งบันทึกขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยบอกรายละเอียดว่า คัดมาจากฉบับของเก่าครั้ง พ.ศ. ๒๒๑๙ แม้จะไม่ได้บันทึกรายละเอียดปลีกย่อยแสดงการเห่เรือไว้เลยก็ตาม แต่หากเป็นกระบวนพยุหยาตราไปในการพระราชกุศล เหล่าทหารผู้แห่แหนย่อมมีความรื่นเริงเบิกบานใจในบุญกุศลที่ได้โดยเสด็จด้วย ก็จะมีการเห่เรือ เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางเรืออย่างเอิกเกริก ไม่เพียงแต่เท่านั้น กระบวนพยุหยาตราทัพทางชลมารคครั้งไปตีเมืองเชียงใหม่ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ในกระบวนเรือ ทำหน้าที่ให้จังหวะสัญญาณในการพายเรือ และเห่เรือด้วย ดังความว่า

“...ยังเกณฑ์ถือฟูกสำหรับตีเป็นสำคัญนั้นนั่งไปน่าเรือสอง ท้ายเรือสองเปนสี่คน สำหรับเป็นสัญญาณพายถวายลำ สำคัญเสียงฟูกเป็นสัญญาณเมื่อจะพายกรายก็ดี พายนกบินก็ดี จะเห่โห่ก็ดี มิว่าพายกรายพายไหว เมื่อได้ฤกษ์จะออกจากที่คนตีฟูกก็เยื้องทำท่าออกนั้นทีเป็นเพลงมา...”

นอกจากนั้นยังมีวรรณคดีสำคัญที่แต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ สมุทรโฆษคำฉันท์กล่าวถึงการละเล่นแข่งเรือพระที่นั่งว่า

“ถ้อยขึ้นถ้องแขงมีมี่    ไชยเมื่อถึงที่ จะใกล้ที่แดนยอพาย” 

คำประพันธ์นี้แสดงภาพชัดเจน สอดคล้องกับธรรมเนียมการเห่เรือในปัจจุบัน คือ เมื่อเรือเข้าถึงจุดหมาย ฝีพายจะโห่ร้องแสดงความยินดีว่า “ไชย...” ซึ่งเป็นลักษณะของการเห่เรือแบบ “สวะเห่” ถือเป็นทำนองเห่สุดท้าย เป็นการส่งสัญญาณให้ฝีพายทราบว่า เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้จะต้องเก็บพายทันที วรรคสุดท้ายของสวะเห่มีเนื้อร้องว่า “ศรีชัยแก้วพ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับว่า “ชัยแก้วพ่ออา”

บทเห่เรือที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาอีกบทหนึ่ง ที่นับเป็นบทเห่เรือที่ได้รับความนิยม นำมาใช้ในการเห่เรือพระราชพิธีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันคือ บทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แต่ก็มีความที่ชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีการเห่เรือในยุคนั้นแล้ว คือ

“พลพาย กรายพายทอง     ร้องโห่เห่โอ้เห่มา”

อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมสมัยอยุธยาหลายเรื่องว่า มีการจัดริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี เสด็จประพาสต้อนรับราชทูตต่างประเทศ ตลอดจนประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่จัดขึ้นในรอบปี ได้แก่ พระราชพิธีอาศวยุธแข่งเรือ และพระราชพิธีไล่เรือ

๒.  สมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์มีวรรณคดีที่ได้กล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง นิพนธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารคและทางชลมารค พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ แต่วรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ มิได้กล่าวถึงการเห่เรือเลย และแม้แต่หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนรัชกาลที่ ๔ ก็มิได้กล่าวถึงเห่เรือกระบวนหลวงด้วยเช่นกัน


บทเห่ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่จัดว่าเป็นยอดของบทเห่ คือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน และว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บทเห่เรือนี้ใช้สำหรับเห่เรือเสด็จประพาส

 

กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 30


ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ บทเห่เรือ ๔ บท ใช้เป็นบทเห่เรือเล่น และเห่เรือหลวง สืบทอดเป็นประเพณีต่อมา คือ นอกจากจะใช้สำหรับเห่ถวายเวลาเสด็จลอยพระประทีปแล้ว ยังนำมาใช้เห่กระบวนพยุหยาตราถวายผ้าพระกฐินด้วย จนกลายเป็นประเพณีพระราชพิธีสืบต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใช้ในพระราชพิธีด้วย

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารคคราวฉลอง ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยใช้บทเห่เรือพระนิพนธ์ ในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่แต่งทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากนั้นการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคก็ห่างหายไปนานถึง ๓๐ ปี เนื่องจากเป็นพระราชพิธีใหญ่และสิ้นเปลืองงบประมาณ ประกอบกับเรือพระราชพิธีหลายลำชำรุด และเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จวบจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ขึ้นใหม่ ใช้บทเห่เรือของเก่าและที่แต่งขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในโอกาสสำคัญ บทเห่เรือในปัจจุบันจึงมีหลายบท ซึ่งแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ และพัฒนาการของบทเห่เรือได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow