ดูสิ กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ลอยลำอยู่กลางลำน้ำเจ้าพระยาอย่างสง่างาม พลพายในเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง และเรือทรงผ้าไตร แต่งกายอย่างเต็มยศ ใช้พายเงินพายทองเป็นพาย พายท่านกบินอย่างพร้อมเพรียงกัน ดูนั่นสิ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือรูปสัตว์อื่นๆ ในขบวน ล้วนมีรูปทรงลำเรืองามสง่า แกะสลักลวดลาย มีสีสันงดงามมาก ฟังสิ เสียงเห่เรือก้องกังวานไปทั่วท้องน้ำ กระแสเสียง ไพเราะ กระชั้นกระชับสอดคล้องกับจังหวะพายของพลพาย และกระบวนเรือพระราชพิธี แม้กระบวนเรือพยุหยาตราจะเคลื่อนลอยลำผ่านไปแล้ว แต่เสียงเห่เรือยังดังก้องกังวานอยู่ในท้องน้ำ สำเนียงเสียงเห่ประทับความรู้สึกไม่รู้ลืม
ศิลปะการเห่เรือเป็นศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่เราควรภาคภูมิใจ
การเห่เรือของไทยเป็นศิลปะอันงดงาม ประกอบด้วยศิลปะแขนงต่างๆ อย่างน้อย ๖ แขนง ได้แก่
ศิลปะในด้านนาวาสถาปัตยกรรม มีการออกแบบรูปทรงลำเรืออันสง่างาม ภูมิฐาน ได้ประโยชน์ใช้สอยอย่างสมบูรณ์ ดังเช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเล จากองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ประจำ ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ศิลปะในด้านจิตรกรรม มีการออกแบบลวดลาย และสีสันของเรืออย่างวิจิตรงดงาม
ศิลปะในด้านประติมากรรม มีการแกะสลักลวดลายของตัวเรือให้เกิดความตื้นลึก มีแสงเงา
ศิลปะในด้านการพายเรือ ที่มีท่วงท่าพร้อมเพรียงงามสง่า
ศิลปะในด้านการร้องเห่ ที่มีพลังเสียงก้องกังวาน และ
ศิลปะในด้านวรรณกรรม มีการประพันธ์บทกาพย์เห่เรือที่มีรูปแบบการใช้ภาษาที่ไพเราะงดงามอย่างยิ่ง
การเห่เรือเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยมาแต่โบราณ ดังปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ เช่น ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ในสมัยอยุธยา มีการกล่าวถึงการจัดกระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารค ในลิลิตยวนพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ และบทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร รวมทั้งการจัดกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือสมุดไทย
ประเภทของการเห่เรือ
มี ๒ ประเภท คือ
๑. เห่เรือหลวง คือ การเห่เรือในการพระราชพิธี หรือที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ และพยุหยาตราทางชลมารคอย่างน้อย
๒. เห่เรือเล่น คือ กิจกรรมที่บุคคลทั่วไปเที่ยวเล่นทางเรือ ร้องเห่ เพื่อกำกับจังหวะในการพายเรือให้พร้อมเพรียงกัน และเพื่อความสนุกสนาน
ลีลาการเห่เรือ
มี ๒ ทาง คือ
๑. ลีลาของกองทัพเรือ เป็นลีลาการเห่ที่ขรึมขลัง มีความงามสง่าสอดคล้องกับกระบวนเรือพระราชพิธี ผู้ที่เป็นต้นเสียงเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือทุกคน ได้รับการฝึกหัดให้มีกระแสเสียงไพเราะ กังวาน มีพลังในการเปล่งเสียง มีความสามารถร้องเพลงไทยสองชั้น ตามแบบฉบับของครูเพลงกรมศิลปากร แล้วนำไปปรับให้เข้ากับจังหวะการพายเรือ ซึ่งเป็นวิธีการเห่เรือที่เรียกว่า เห่เรือออกเพลง
๒. ลีลาของกรมศิลปากร เป็นลีลาที่กรมศิลปากรได้รับถ่ายทอดมาจาก กองทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ แต่ปรุงแต่งทำนองการเห่เรือให้มีลีลาอ่อนหวาน เข้ากับท่ารำ ซึ่งเป็นการบรรยายการเดินทางด้วยเรือของตัวละคร
วิธีการและขั้นตอนในการเห่เรือพระราชพิธี
๑. ระเบียบวิธีในการเห่เรือ
๒. ทำนองการเห่เรือ
พนักงานต้นเสียงเห่เรือจะขึ้นต้นเกริ่นเห่ ก่อนเริ่มเห่ตามทำนอง เนื่องจากบทเกริ่นเป็นความในโคลงสี่สุภาพ จึงมักเรียกว่า เกริ่นโคลง เป็นการให้สัญญาณเตือนฝีพายให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อม เมื่อจบเกริ่นโคลง พนักงานนำเห่ จึงเห่ตามทำนอง คือ
คำประพันธ์ที่ใช้เป็นบทเห่เรือและบทเห่ที่เป็นแบบฉบับ
คำประพันธ์ที่ใช้เป็นบทเห่เรือ เรียกว่า กาพย์เห่เรือ บางครั้งเรียกว่า กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ มีโคลงสี่สุภาพขึ้นเป็นต้นบท ๑ บท ตามด้วยกาพย์ยานี ๑๑ บรรยายย้อนทวนความตามบทโคลงนั้นให้ละเอียด กาพย์เห่เรือที่ยึดถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน คือ กาพย์เห่เรือบทพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ เรื่อง คือ บทพระราชนิพนธ์เห่เรือชมพยุหยาตราทางชลมารค และบทเห่เรื่องกากี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน นับว่าเป็นยอดของบทเห่อีกบทหนึ่ง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือ ๔ บท ใช้เป็นบทเห่เรือเล่น และเห่เรือหลวง คือใช้สำหรับเห่ถวายเวลาเสด็จลอยพระประทีป และใช้เห่กระบวนพยุหยาตราพระกฐินทางชลมารค จนกลายเป็นประเพณีพระราชพิธีสืบต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงห่างหายไป จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นใหม่ ใช้บทเห่เรือทั้งของเก่า และที่แต่งขึ้นใหม่