Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนปลาย

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
1,059 Views

  Favorite

โฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนปลาย

ที่สำคัญได้แก่

ศิวะพิเทคัส (Sivapithecus)

เป็นลิงไม่มีหางสมัยไมโอซีนตอนกลางต่อเนื่องถึงตอนปลาย ระหว่าง ๑๔ - ๗ ล้านปีมาแล้ว ส่วนมากพบในประเทศอินเดีย และปากีสถาน และตั้งชื่อตามชื่อพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู ได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของ ศิวะพิเทคัส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๓ โดยความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเยล ของสหรัฐอเมริกา คือ ศาสตราจารย์เดวิด พิลบีม (David Pilbeam) กับคณะนักวิชาการ จากหน่วยงานการสำรวจทางธรณีวิทยา แห่งประเทศปากีสถาน ซากที่พบประกอบด้วย ชิ้นส่วนขากรรไกรล่าง ฟัน และกะโหลกส่วนหน้าบางส่วน

ภาพเขียนจำลองกะโหลกของ ศิวะพิเทคัส ซึ่งเป็นลิงไร้หางรุ่นแรกๆ ในเอเชีย

 

ศิวะพิเทคัส อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย และทวีปยุโรป มีหลายชนิด และกระจายกันอยู่ในหลายๆ พื้นที่ ลักษณะเด่นอยู่ที่ฟัน และขากรรไกร กล่าวคือ ฟันเคี้ยวมีขนาดใหญ่ และขากรรไกรค่อนข้างใหญ่และเทอะทะ ส่วนฟันเขี้ยวขนาดเล็กกว่าของลิงไม่มีหาง ในปัจจุบัน และไม่ยื่นออกมามาก ลักษณะเหล่านี้แสดงว่า ศิวะพิเทคัสกินอาหาร ที่ค่อนข้างแข็ง และต้องเคี้ยว เช่น ผลไม้เปลือกแข็ง เมล็ดพืชบางชนิด หรือผลไม้ ที่มีเนื้อค่อนข้างแข็ง 

ศิวะพิเทคัส มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็นและแห้ง พื้นที่เป็นแบบป่าไม้ผสมกับทุ่งหญ้า ด้วยจำนวนที่มีจำกัด จึงไม่สามารถบอกถึง ลักษณะการเคลื่อนไหวของศิวะพิเทคัส ได้ อย่างไรก็ตาม ซากดึกดำบรรพ์ของ ศิวะพิเทคัส ที่พบจากการขุดค้น ในปากีสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ บ่งบอกว่า ลักษณะทั่วไปของลิงไม่มีหางสกุลนี้ คล้ายกับของอุรังอุตังในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ศิวะพิเทคัส เป็นบรรพบุรุษของอุรังอุตัง

ลูเฟงพิเทคัส (Lufengpithecus)

เป็นโฮมินอยด์สมัยไมโอซีนตอนปลายอีกสกุลหนึ่ง กำหนดอายุได้ประมาณ ๘ ล้านปีมาแล้ว คณะนักบรรพชีวินวิทยาชาวจีน ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของลิงไม่มีหางสกุลนี้ ที่มณฑลหยุนหนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘ - ๒๕๒๑ ซากดึกดำบรรพ์ที่พบมีฟันจำนวนนับพันซี่ ขากรรไกรล่าง ชิ้นส่วนกะโหลก และชิ้นส่วนกระดูก ส่วนใต้คอลงมาอีกหลายชิ้น 

ชิ้นส่วนกะโหลกและฟันของ ลูเฟงพิเทคัส ที่พบในประเทศจีน


ฟันของ ลูเฟงพิเทคัส มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับฟันของ ไดรโอพิเทคัส ในทวีปยุโรป มากกว่าฟันของ ศิวะพิเทคัส ในทวีปเอเชีย ส่วนกะโหลกที่พบก็มีความคล้ายคลึงกับตัวอย่าง ที่พบในประเทศตุรกี เคนยา และปากีสถาน เช่น มีสันกลางกะโหลก หน้ากว้างและสั้น สันคิ้วบาง
 

ซากฟันของ ลูเฟงพิเทคัส ที่พบในประเทศไทย

 

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้มีการค้นพบซากฟันจำนวน ๑๘ ซี่ ที่บริเวณเหมืองแร่ในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยคณะนักวิชาการชาวไทยร่วมกับชาวฝรั่งเศส ผลการศึกษาบ่งบอกว่า ฟันดังกล่าวมีอายุประมาณ ๑๓ - ๑๐ ล้านปีมาแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่าง สมัยไมโอซีนตอนกลางกับตอนปลาย คณะนักวิจัยได้สรุปว่า ฟันที่พบเป็นของลิงไม่มีหางสกุล ลูเฟงพิเทคัส แต่กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า ลูเฟงพิเทคัสเชียงม่วนเอนซิส (Lufeng-pithecus chiangmuanensis) และเสนอด้วยว่า ลูเฟงพิเทคัสเชียงม่วนเอนซิสนี้ อาจเป็นบรรพบุรุษของอุรังอุตัง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow