Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรโบราณในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 23 เม.ย. 60
3,871 Views

  Favorite

เงินตราที่ใช้ในอาณาจักรโบราณในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

เงินตราในภาคเหนือ
ดินแดนตอนเหนือของประเทศไทยเคยเป็นดินแดนของชาวโยนก โดยมีแคว้นหิรัญนครเงินยางเป็นเมืองสำคัญ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และหลังจากพระยามังรายสามารถรวบรวมดินแดนแคว้นหริภุญชัยได้ใน พ.ศ. ๑๘๓๕ จึงทรงตั้งเป็นอาณาจักรล้านนาขึ้นใน พ.ศ.๑๘๓๙ และอยู่เป็นอิสระจนถึง พ.ศ. ๒๑๐๑ จึงตกอยู่ในความปกครองของพม่า ต่อมาในสมัยธนบุรี กองทัพจากภาคกลาง ได้ร่วมมือกับบรรดาผู้นำหัวเมืองทางเหนือขับไล่พม่าไปได้สำเร็จใน พ.ศ. ๒๓๑๗ ต่อมาหัวเมืองสำคัญๆ ของล้านนาได้เข้ามารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่ยังคงใช้ระบบการเงินของตนเอง จนกระทั่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงยกเลิกระบบเจ้าเมืองประเทศราชแล้ว เหรียญกษาปณ์เงินจากภาคกลางจึงได้แพร่หลายไปในหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้กลายเป็นเงินตรามาตรฐานแทน หลังจากนั้นเป็นต้นมา ภาคเหนือจึงมีระบบเงินตราเดียวกับภาคกลาง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เงินตรา ที่เคยใช้อยู่ในภาคเหนือ จึงมีทั้งเงินตราของแคว้นหิรัญนครเงินยาง เงินตราของอาณาจักรล้านนา เงินตราของพม่า เหรียญเงินรูปีของอังกฤษ ปะปนกันหลายอย่าง อาทิ เบี้ยเงินปลา เงินกีบ เงินดอกไม้ เงินท้อก และเงินเจียง 
๑. เบี้ย 
เป็นเงินตรามูลค่าต่ำที่สุดในระบบเงินตรา มีทั้งเบี้ยจั่น และเบี้ยนาง มูลค่าเบี้ยคงจะสูงกว่าเบี้ยที่ใช้ในภาคกลาง 
เนื่องจากล้านนาอยู่ไกลทะเลมาก เบี้ยจึงหายาก ในกฎหมายมังรายศาสตร์ กำหนดมูลค่าเบี้ยจำนวน ๑๑๐ เบี้ยเท่ากับ ๑ เงิน (ประมาณ ๑.๒ กรัม) 

 

เบี้ยจั่น
เบี้ยจั่น
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. เงินปลา 
เป็นเงินตราในสมัยแคว้นหิรัญนครเงินยาง ทำขึ้นจากแท่งโลหะสำริดหรือทองแดง หรือทองเหลือง ไม่ประทับตราใดใดทั้งสิ้น มีมูลค่าตามน้ำหนักของแต่ละแท่ง ส่วนใหญ่ด้านหัวและท้ายเล็กเรียวกว่าตอนกลาง ปัจจุบันเงินปลามักใช้เป็นเงินในพิธีกรรมเซ่นสรวงผีบรรพบุรุษของชาวล้านนา 

 

เงินปลา
เงินปลา
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๓. เงินกีบ 
เป็นเงินตราทำด้วยโลหะทองเหลือง มีลักษณะคล้ายกีบเท้าของสัตว์กินพืชเป็นอาหาร เช่น กวาง จึงเรียกว่า เงินกีบ มีมูลค่าตามน้ำหนักของโลหะแต่ละก้อนที่ไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่พบในจังหวัดน่าน 

๔. เงินท้อก 
หมายถึง “เงินตราจากโลหะผสม” ซึ่งอาจไม่มีเนื้อเงินผสมอยู่เลยไปจนกระทั่ง มีเนื้อเงินผสมอยู่ในสัดส่วนต่างๆ กัน มีหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีขนาด และน้ำหนักต่างกันออกไป และมีมูลค่าแตกต่างกันไปตามส่วนผสมของโลหะและน้ำหนัก มีลักษณะทั่วไปกลมแบน 

  • เงินท้อกขี้ควาย หล่อขึ้นจากทองแดง มีลักษณะแบน โค้งด้านบนและเว้าด้านล่าง มีหลายขนาด จึงเป็นเงินตราที่มีมูลค่าตามขนาดน้ำหนัก เงินท้อกชนิดนี้เมื่อใช้ไปนานๆ จะมีสีดำคล้ำ จึงเรียกว่า ท้อกขี้ควาย เป็นเงินตราใช้ในสมัยล้านนาตอนต้น มักปรากฏว่า ยังมีวัตถุสีเหลืองเป็นมันเคลือบอยู่ด้านล่าง อันเป็นลักษณะพิเศษของเงินตราอาณาจักรล้านนา ติดอยู่ในบางก้อน

 

เงินท้อกขี้ควาย
เงินท้อกขี้ควาย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

  • เงินท้อกใบไม้ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เงินเส้น หรือ เงินเอ็น ตามลักษณะของลายเส้น ที่ปรากฏอยู่บนผิวของเงินตรา ทำจากสำริด มีลักษณะกลมแบน ด้านที่นูนออกมา อาจไม่มีลายเส้น ไปจนถึงมีลายตั้งแต่ ๑ เส้น ไปจนถึง ๕ เส้น เรียงกันคล้ายใบไม้ จึงเรียกว่า เงินท้อกใบไม้ ด้านหลังบุ๋มลึกเข้าไปมีลักษณะเหมือนเปลือกหอย มีหลายขนาด จัดว่าเป็นเงินปลีกมูลค่าสูงกว่าเงินปลา และเงินท้อกขี้ควาย
  • เงินท้อกน่าน หล่อขึ้นจากทองแดงเคลือบเงิน ลักษณะกลมแบน มีขนาดระหว่าง ๓๕ - ๔๓ มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายเงินท้อกใบไม้ คือ โค้งนูนด้านบนส่วนด้านล่างเว้าลึกเข้าไป และเคลือบวัตถุสีแดงเหลืองเอาไว้ บางก้อนประทับตราจักร และตราอื่นๆ เมืองน่านเป็นผู้ผลิตเงินท้อกชนิดนี้ จึงเรียกว่า เงินท้อกเมืองน่าน

 

เงินท้อกน่าน
เงินท้อกน่าน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

  • เงินท้อกลำปาง หล่อขึ้นโดยมีโลหะเงินผสมอยู่ ลักษณะกลมค่อนข้างแบน เป็นโพรงอยู่ด้านใน ที่ขอบบนตอกตรารูปม้า และอักษรไว้ เงินท้อกชนิดนี้ เมืองลำปางเป็นผู้ผลิตขึ้น จึงเรียกว่า เงินท้อกลำปาง เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เงินท้อกวงตีนม้า
  • เงินท้อกเชียงแสน ทำด้วยโลหะทองแดงผสมเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะกลมค่อนข้างแบน นอกจากนี้ ด้านล่างยังไม่โค้ง เว้าบุ๋มเข้าไปเหมือนเงินท้อกเมืองอื่นๆ มีหลายขนาด โดยเมืองเชียงแสนเป็นผู้ผลิตขึ้น

 

เงินท้อกเชียงแสน
เงินท้อกเชียงแสน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

  • เงินท้อกเชียงใหม่ ทำด้วยโลหะเงินผสม มีปริมาณเนื้อเงินสูงกว่าเงินท้อกน่าน และเงินท้อกลำปาง จึงมีมูลค่าสูงกว่า มีหลายขนาด โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๔ - ๔๗ มิลลิเมตร ลักษณะกลม ด้านบนนูนสูงขึ้นมา ด้านล่างลึกเป็นโพรงเข้าไป ผิวด้านบนดำเป็นริ้วละเอียด ตามขอบตอกประทับตราไว้ ๑ - ๓ ดวง บ้าง หรือไม่ตอกบ้าง เงินท้อกเชียงใหม่เป็นเงินตราในสมัยที่เป็นอาณาจักรล้านนาแล้ว จึงผลิตขึ้นจำนวนมาก มีน้ำหนักต่างๆ กัน ใช้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน
  • เงินท้อกหอยโข่ง มีโลหะเงินผสมปริมาณมากกว่าเงินท้อกเชียงใหม่ จึงมีมูลค่าสูงกว่า ลักษณะกลม ด้านบนโป่งพอง สูงขึ้นมาเหมือนตัวหอยโข่ง ผิวสีดำเป็น ริ้ว ด้านล่างที่ปากมีขอบเล็กน้อย มีขนาด ต่างๆกัน

 

เงินท้อกหอยโข่ง
เงินท้อกหอยโข่ง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

  • เงินท้อกปากหมู โดยทั่วไปลักษณะคล้ายเงินท้อกหอยโข่ง แต่มีเนื้อหนากว่า ด้านล่างมีเนื้อเงินปิดไว้เกือบหมด เหลือช่องไว้เล็กน้อย ลักษณะกลมเหมือนปากหมู จึงเรียกว่า ท้อกปากหมู มีหลายขนาด เงินท้อกปากหมูมีเนื้อเงินผสมสูงกว่าเงินท้อกหอยโข่ง จึงมีมูลค่าสูงกว่า
  • เงินท้อกมีรู มีลักษณะกลมแบนมีรูกลมอยู่ตรงกลางเป็นพิเศษ ลักษณะจึงคล้ายกับสตางค์มีรู แต่มีความหนามากกว่า เงินท้อกมีรูมีเนื้อเงินผสมสูงมาก มีหลายขนาด ด้านล่างมีวัตถุสีเหลืองแดงเป็นมัน อันเป็นสัญลักษณ์ของเงินตราของอาณาจักรล้านนาหุ้มอยู่ นอกจากใช้เป็นเงินตราแล้ว ยังนิยมร้อยเชือกผูกปากถุงเงินไว้เป็นเงินก้นถุงอีกด้วย

 

เงินท้อกมีรู
เงินท้อกมีรู
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

๕. เงินดอกไม้ 
ในช่วงที่พม่าเข้ามาปกครองอาณาจักรล้านนา ประชาชนชาวไทยใหญ่ได้นำเงินตราชนิดนี้เข้ามาใช้ เงินตรานี้จึงมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ในบรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ และมี ๒ ชนิด ชนิดแรกมีลักษณะคล้ายเปลือกหอยหนาๆ ส่วนอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะกลมบาง ลวดลายด้านบน เกิดขึ้นจากการเป่าลมลงไปในเบ้าขณะหล่อ เป็นรูปก้นหอยหรือหยดน้ำ จึงเรียกว่า เงินดอกไม้ และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เงินผักชี” มีมูลค่าตามน้ำหนัก ประชาชนที่มีเนื้อเงิน สามารถจะนำมาหลอม ทำเป็นเงินดอกไม้ใช้เป็นเงินตราได้ โดยเหตุที่มีเนื้อเงินผสมอยู่สูงมาก ชาวเขาจึงมักนิยมนำเงินดอกไม้ชนิดบางมาเจาะรู ใช้เป็นเครื่องประดับ 
๖. เงินเจียง 
หลังจากที่ตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้นแล้ว ได้มีการผลิตเงินเจียงขึ้นใช้ เป็นเงินตรามาตรฐานชนิดราคาสูง มีลักษณะ คล้ายเกือกม้า ๒ อัน เชื่อมปลายติดกัน เกิดจากการผ่าแบะกึ่งกลางแท่งเงินจนเกือบขาดออกจากกัน แล้วจึงงอทบเข้ากัน คำว่า “เจียง” มาจากคำว่า “เวียง” หมายถึง เงินตราที่เมืองใหญ่ผลิตขึ้น เงินเจียงจึงประทับชื่อเมืองที่ผลิต ประทับเลขบอกน้ำหนัก และตราจักร มีหลายขนาด เนื่องจากทำขึ้นจากเนื้อเงินบริสุทธิ์ เงินเจียงจึงเป็นเงินมาตรฐานที่ได้รับความนิยมสูง และมีการผลิตเงินเจียงหลายขนาด ติดต่อกันมาหลายร้อยปี โดยไม่ขาดตอน แม้จะมีชาวพม่ามาปกครอง หรือเมื่อมารวมอยู่กับไทยแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากพม่าไม่มีเงินตรามาตรฐาน ส่วนประเทศไทยไม่ควบคุมการผลิตเงินตราของประเทศราช จนกระทั่งประเทศอังกฤษผลิตเหรียญเงินรูปีมาใช้ในประเทศพม่า และการใช้ได้แพร่หลายเข้ามาในหัวเมืองล้านนาเป็นจำนวนมาก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การใช้เงินเจียงจึงลดลง

 

เงินเจียง
เงินเจียง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

๗. เงินกำไล 
เป็นเงินตราที่พ่อค้านายช่างทองผลิตขึ้น เพื่อใช้ชำระหนี้ ในพื้นที่ที่ไม่มีเงินตรามาตรฐานของอาณาจักรล้านนาแพร่หลายไปถึง ทำด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ มีรูปร่างและน้ำหนักเท่ากับเงินเจียงมาตรฐาน แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตอกประทับตราของผู้สั่งให้ผลิตขึ้น เพื่อรับรองความถูกต้องของน้ำหนัก และความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน 
๘. เงินมุ่น 
เป็นเศษโลหะเงินชิ้นเล็กๆ เกิดจากการตัดแท่งเงินตามน้ำหนัก เพื่อใช้ซื้อสินค้าในพื้นที่ที่ไม่มีเงินตรามาตรฐานใช้ เนื่องจากชาวเขาเผ่าต่างๆ ยังคงนิยมใช้เนื้อเงินบริสุทธิ์เป็นเงินตรา เมื่อค้าขายได้รับเงินมุ่นมามากพอ ก็จะหลอมเป็นก้อนต่อไป

 

เงินมุ่น
เงินมุ่น
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 
๙. เงินไซซี
เป็นเงินแท่งจากตอนใต้ของประเทศจีน ที่นำเข้ามาซื้อสินค้าในอาณาจักรล้านนา เงินไซซีมีความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินสูงมาก จึงใช้เป็นเงินตราชนิดหนึ่งด้วย มีหลายชนิดได้แก่ เงินกระทงและเงินอานม้า อาณาจักรล้านนาได้นำก้อนเงินไซซีมาหลอมทำเงินเจียง และเครื่องใช้เครื่องประดับมาโดยตลอด 
๑๐. เงินแถบ
เป็นเหรียญเงินรูปีของอังกฤษที่ทำขึ้น และนำมาใช้ในประเทศพม่า มีเนื้อเงินเกือบบริสุทธิ์ จึงใช้เป็นเงินตราอีกชนิดหนึ่ง ที่แพร่เข้ามาในอาณาจักรล้านนาในรัชกาลที่ ๔ มีมูลค่าตามน้ำหนัก

 

เงินตราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับอาณาจักรล้านช้างหรือประเทศลาว เมืองสำคัญได้แก่ หนองคาย และเวียงจันทน์ ซึ่งเคยเป็นเมืองเดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขง ดังนั้น ระบบเงินตราที่ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในอดีตจึงเป็นระบบเดียวกับในประเทศลาว เงินตราที่เคยใช้ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยเงินชนิดต่างๆ ดังนี้ 
๑. เงินลาด 
เป็นเงินปลีกชนิดราคาต่ำ ผลิตขึ้นจากเนื้อทองแดง ทองเหลือง และสำริด มีมูลค่าตามขนาดน้ำหนักที่ต่างกันทำรูปร่างเหมือนเรือลำเล็กๆ หรือกระสวยทอผ้า มีทั้งชนิดที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมือประณีตจากโรงกษาปณ์หลวง และชนิดที่ประชาชนหล่อขึ้นเอง ซึ่งฝีมือค่อนข้างหยาบ 

 

เงินลาด
เงินลาด
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. เงินลาดฮ้อย 
เป็นเงินปลีก ทำด้วยทองแดงหรือสำริดชุบเงิน ตอกตราช้างและจักรเป็นสำคัญ พร้อมตราอื่นๆ อีก ๑ ตรา มีรูปร่างเหมือนเรือชะล่า มีอยู่ ๓ ขนาด เงินตราชนิดนี้ ทำจากโรงกษาปณ์หลวงเท่านั้น 
๓. เงินฮ้อย 
เป็นเงินตรามูลค่าสูงผลิตขึ้นจากเนื้อเงินผสมทองลงหินเล็กน้อย รูปร่างคล้ายเรือชะล่า หรือกระสวยทอผ้า หัวท้ายเรียว ด้านบนมีตุ่มอยู่ทั่วไป เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เงินปลิง ตอกตรารูปช้างและจักรเป็นสำคัญ แต่มีรูปอื่นๆ ด้วย เช่น รูปดอกจันทน์ ดอกพิกุล ดอกกล้วย ตัวเลข หรือตัวหนังสือ ส่วนด้านล่างเรียบ ชนิดที่มีน้ำหนัก ๑๐ บาท เรียกว่า ฮ้อยหนึ่ง แยกเป็น ๓ ชนิด ตามเนื้อเงิน ได้แก่ ฮ้อยน้ำสาม ฮ้อยน้ำหก และฮ้อยน้ำแปด

 

เงินฮ้อย
เงินฮ้อย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๔. เงินตู้ 
เป็นเงินแท่งจากแคว้นอันนัม ดินแดนทางตอนกลางของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ลักษณะเป็นแท่งแบนรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้า นำเข้ามาใช้ซื้อสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมูลค่าตามน้ำหนัก 
๕. เงินฮาง 
เป็นเงินแท่งของแคว้นอันนัมเช่นกัน แต่นิยมหล่อขึ้นใช้เอง ใช้ในอาณาจักรลาว และอาณาจักรเขมรด้วย มีลักษณะเป็นเงินแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า โค้งงอเล็กน้อย ด้านบนมีร่องตรงกลางจึงเรียกว่าเงินราง หรือเงินฮาง ส่วนใหญ่มีอักษรจีนบอกรัชกาล ที่ผลิตขึ้นตอกประทับไว้ ทำจากโลหะเงินเกือบบริสุทธิ์ มีมูลค่าตามน้ำหนัก 

 

เงินฮาง
เงินฮาง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๖. เบี้ยเงินสด 
เป็นเหรียญเงินขนาดใหญ่ ประทับตรารูปหัวกวาง หรืออักษรจีนอ่านว่า “ปู่” ไว้ด้านหนึ่ง จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เหรียญปู่ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรลาวบอกชนิดราคา ๑ เบี้ย หรือ ๑/๒ เบี้ย มีความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินสูงมาก เหรียญชนิดนี้ ใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่คนงานในอาณาจักรลาว แล้วแพร่หลายเข้ามา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

เงินตราในภาคกลาง
ในภาคกลางของประเทศไทยนั้นเคยมีกลุ่มชนต่างๆ อาศัยอยู่เป็นแว่นแคว้นอิสระมาก่อน และล่มสลายไปหมดแล้ว เหลือหลักฐานไว้แต่เงินตราโบราณที่เคยใช้กันมาในขณะนั้น ได้แก่ 
๑. เงินตราฟูนัน 
เป็นเงินเหรียญที่มีรูปพระอาทิตย์ฉายแสงยามเช้าด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปศรีวัตสะ ประดับด้วย สวัสดิกะทางด้านซ้าย และภัทรบิฐทางด้านขวา ด้านบนเป็นรูปพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ส่วนด้านล่างเป็นพื้นน้ำ ชนชาติฟูนันเคยปกครองดินแดนสุวรรณภูมิ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๑๒ โดยมีเมืองสำคัญที่เมือง ออกแก้ว ในเวียดนามตอนใต้ พบเหรียญฟูนันอยู่ตามเมืองสำคัญในสมัยโบราณ ได้แก่ สุพรรณบุรี ลพบุรี อยุธยา และนครศรีธรรมราช 

 

เงินตราฟูนัน
เงินตราฟูนัน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. เงินตราทวารวดี 
เป็นเงินเหรียญ ที่มีรูปสังข์ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปศรีวัตสะ มีเครื่องสูงประดับ ๒ ข้าง ด้านบนเป็นรูปพระอาทิตย์และพระจันทร์ ด้านล่างเป็นรูปปลา บางแบบมีรูปหม้อน้ำ ธรรมจักรวิวัชระ ดอกบัว กวาง สิงห์ แม่วัวลูกวัว เหรียญบางอันจะมีอักษรปัลลวะอยู่ด้านล่าง แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาศรีทวารวดี” โดยแคว้นทวารวดี ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลาง มีนครปฐมเป็นเมืองสำคัญ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ เชื่อกันว่า เป็นดินแดนของชนชาติมอญ 
๓. เงินตราลวปุระ 
เป็นเงินเหรียญของขอม ซึ่งเคยเข้ามามีอิทธิพลในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยมีศูนย์กลางอำนาจปกครองที่ลพบุรี และบริเวณใกล้เคียง เป็นเหรียญดีบุก เรียกกันว่า เงินดอกไม้พระร่วง นอกจากนี้ ยังมีเหรียญรูปกวาง วัว พร้อมอักษรขอม และเหรียญครุฑนาคอีกด้วย เหรียญลักษณะเช่นนี้ ยังพบกระจายอยู่ตามเมืองโบราณที่พวกขอมเคยปกครองและอาศัยอยู่ เช่น ปราจีนบุรี อุทัยธานี นครศรีธรรมราช

 

เงินตราในภาคใต้
ดินแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชนชาติต่างๆ เปลี่ยนกันเข้ามาอาศัย หรือมีอำนาจในการปกครอง โดยมีอาณาจักรตามพรลิงค์ หรือแคว้นนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางสำคัญ ชนชาติต่างๆ เหล่านี้ ต่างผลิตเงินตราของตนเอง และนำมาใช้ในการค้าขาย ได้แก่ 
๑. เงินดอกจันทน์ 
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยมีอำนาจปกครองเกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายู ได้ผลิตเงินตราขนาดเล็กทำด้วยทอง เงินและทองแดง มีลักษณะกลม ประทับตราลายประจำยาม หรือดอกจันทน์ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งประทับอักษรสันสกฤตแปลว่า “ประเสริฐ” เงินดอกจันทน์นี้มีพบทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป 

 

เงินดอกจันทน์
เงินดอกจันทน์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. เงินนะโม 
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนครศรีธรรมราช ทรงพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช สามารถแผ่อำนาจออกไปปกครองเมือง ๑๒ แห่ง ในแหลมมลายู และโปรดให้เรียกว่า เมืองนักษัตร พระองค์ทรงผลิตเงินตราขึ้นใช้ มีลักษณะเหมือนเงินพดด้วงขนาดเล็ก แต่ตอกตราเป็นอักษรสันสกฤตตัว “น” ไว้ด้านบน เป็นเงินตราที่ผลิตขึ้นจากโลหะเงินผสมเรียกกันว่า “เงินนะโม” มีอยู่หลายขนาด 
๓. เงินตราขอม
เป็นเงินตราของขอมซึ่งผลิตขึ้นจากดีบุก ตอกตราเป็นรูปครุฑกับนาค บัวแปดกลีบ และกวาง มีพบอยู่ในดินแดนภาคใต้หลายแห่ง เนื่องจากขอมเคยเข้ามาอาศัย และปกครองบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูด้วย 
๔. เงินตราปัตตานี 
บริเวณเมืองปัตตานีเคยเป็นที่ตั้งแคว้นลังกาสุกะมาก่อน จึงมีความเจริญจากการค้ากับต่างชาติ ที่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยอยุธยา ได้มีการผลิตเหรียญทองขึ้นใช้เรียกว่า “เหรียญคูปัง” มีขนาด ๙ - ๑๐ มิลลิเมตร แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ได้แก่ 

  • หรียญวัว เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปวัวหางชี้ขึ้นท้องฟ้าระหว่างพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ล้อมด้วยจุดไข่ปลา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรอารบิก อ่านว่า “มาริดอัลอาดีล” หมายถึง รายาผู้ยุติธรรม คำว่า “อัลอาดีล” หมายถึง “ความยุติธรรม” เมืองปัตตานีมีตราประจำเมืองเป็นรูปวัว ซึ่งใช้มาตั้งแต่ครั้งปัตตานีเป็น ๑ ในเมืองนักษัตรของแคว้นนครศรีธรรมราช
  • เหรียญพระอาทิตย์ เรียกกันว่า “เหรียญดินาร์มาตาฮารี” เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ มีรัศมี ๔ - ๘ เส้น คล้ายรูปดอกไม้ อีกด้านหนึ่งมีอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว
  • เหรียญอักษรอารบิก เป็นเหรียญทองที่มีชื่อรายาผู้ครองนครด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว

 

เงินตราปัตตานี
เงินตราปัตตานี
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

๕. เงินตรา 
เมืองนครฯ เมืองนครศรีธรรมราชเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรตามพรลิงค์ เคยเป็นแคว้นนครศรีธรรมราช แม้ในสมัยที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีฐานะเป็นเมืองสำคัญ มีการทำเงินตราขึ้นใช้เอง โดยทำด้วยดีบุก มีการประทับตราอักษรสันสกฤตตัว “น”เช่นเดียวกับเงินนะโม ยกเว้นในบางครั้ง ที่อำนาจการปกครองจากกรุงศรีอยุธยามีอยู่สูง ก็จะประทับตราประจำรัชกาล ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาไว้แทน 
๖. เชี้ยม 
เป็นเงินตราที่เหมืองแร่ในภาคใต้ทำขึ้นจากไม้ไผ่ หวายผ่าซีก หรือสังกะสี ประทับตราเหมืองและทาสีแดง สีเขียว และสีขาว บอกชนิดราคาไว้ใช้เป็นเงินปลีก ในเหมืองแร่แต่ละแห่ง 
๗. เงินอีแปะ 
ในสมัยรัตนโกสินทร์หัวเมืองทางใต้ เช่น ภูเก็ต สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช มีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เองด้วยดีบุก ซึ่งเป็นโลหะมีค่าและมีมากในท้องถิ่น เหรียญดีบุกดังกล่าวนี้มีอักษรภาษาไทย จีน และอารบิก บอกชื่อเมืองไว้บนหน้าเหรียญ เรียกกันว่า “เงินอีแปะ” นอกจากเหรียญกษาปณ์ดีบุกของทางการแล้ว บรรดาบริษัทที่ทำ เหมืองดีบุกในภาคใต้ ต่างก็ผลิตเหรียญดีบุกขนาดใหญ่ ขึ้นใช้ซื้อ-ขายจ่ายทอน ด้วย โดยด้านหนึ่งระบุชื่อบริษัทผู้ทำเหรียญ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นชื่อเมืองที่บริษัทตั้งอยู่ เช่น กาญจนดิษฐ์ นครศรีธรรมราช ปากพนัง และภูเก็ต เหรียญดีบุกเหล่านี้ มีมูลค่าตามน้ำหนักของดีบุกที่ใช้ทำเหรียญนั้น 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow