Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เงินตราไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๗)

Posted By Plookpedia | 23 เม.ย. 60
1,104 Views

  Favorite

เงินตราไทยในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๗)

เงินตราที่ใช้กันปัจจุบันในประเทศไทย ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์ และธนบัตร นอกจากนี้ ยังมีวัตถุที่ใช้แทนเงินตราได้ คือ บัตรแทนเงิน และเช็ค 

๑. เหรียญกษาปณ์ 
เป็นเงินย่อยที่ใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน จึงเรียกว่า “เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน”ทำด้วยโลหะที่มีมูลค่าต่ำ เช่น ดีบุก สังกะสี ทองเหลือง และนิกเกิล ประกอบด้วย ชนิดราคา ๑ สตางค์ ๕ สตางค์ ๒๕ สตางค์ ๕๐ สตางค์ ๑ บาท ๕ บาท และ ๑๐ บาท ชนิดราคาต่ำทำด้วยโลหะเพียงชนิดเดียว เฉพาะชนิดราคาสูงตั้งแต่ ๕ บาทขึ้นไป ใช้โลหะ ๒ ชนิด ทำเหรียญเดียวกัน เพื่อป้องกันการปลอมแปลง เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนของไทย จะกำหนดชนิดราคาของเหรียญ ตามมูลค่าของโลหะที่ใช้ทำเหรียญกษาปณ์นั้นๆ และใช้ขนาดใหญ่เล็กของเหรียญกษาปณ์ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้ทราบถึงชนิดราคาของเหรียญ ที่ตอกประทับไว้บนหน้าเหรียญด้วย 

 

เหรียญสิบบาท
เหรียญสิบบาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


เนื่องจากประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศ และมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จึงเป็นธรรมเนียมในการออกแบบที่จะต้องมีพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน พร้อมด้วยพระปรมาภิไธยของพระองค์ ไว้ที่ด้านหน้าของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคา และใช้รูปสถาปัตยกรรมของไทย ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนามาเป็นรูปที่ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ สถาปัตยกรรมที่สำคัญของท้องถิ่นในประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ จึงปรากฏอยู่ที่ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการแนะนำทั้งด้านสถาปัตยกรรมและด้านศาสนา ให้ทราบว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติ 

 

เหรียญสองบาท
เหรียญสองบาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


การผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลไทยกำหนดให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง รับผิดชอบทั้งการกำหนดชนิดราคา ชนิดของโลหะการออกแบบ ปริมาณที่จัดทำ และการแจกจ่ายไปทั่วประเทศ 

 

เหรียญห้าสิบสตางค์
เหรียญห้าสิบสตางค์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. ธนบัตร 
เป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง ผลิตขึ้นจากกระดาษที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือวัสดุทนทานอื่น เช่น พอลิเมอร์ ประกอบด้วยชนิดราคา ๑๐ บาท สีน้ำตาล ราคา ๒๐ บาท สีเขียว ราคา ๕๐ บาท สีน้ำเงิน ราคา ๑๐๐ บาท สีแดง ราคา ๕๐๐ บาท สีม่วง และราคา ๑,๐๐๐ บาท สีน้ำตาลแดง การกำหนดขนาดและสีของธนบัตรให้แตกต่างกัน ตามชนิดราคาของธนบัตรที่พิมพ์ไว้ จะทำให้ผู้ใช้ธนบัตรทราบชนิดราคาของธนบัตรได้โดยรวดเร็ว แม้ผู้ที่นัยน์ตาพิการจักษุมืด ก็สามารถใช้ความยาวของธนบัตรบอกให้ทราบถึงชนิดราคาได้ 

 

เงิน 1000
๑,๐๐๐ บาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เงิน100
๑๐๐ บาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


การออกแบบธนบัตรมีธรรมเนียมว่า ด้านหน้าของธนบัตร จะต้องมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เป็นรูปประธานเท่านั้น ส่วนด้านหลังจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือพระบรมราชานุสาวรีย์ขององค์บูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าก็ได้ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีภาพที่แสดงให้เห็นถึงพระบรมเดชานุภาพ และพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงปฏิบัติไว้ตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชนชาวไทยในการออกแบบด้วย ดังเช่นที่ถือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นสมมุติเทพหมายถึง พระวิษณุที่อวตารลงมาและทรงพระครุฑพ่าห์เป็นพาหนะ การผลิตธนบัตรเป็นอำนาจของรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเช่นกัน แต่ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ ตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติเงินตรา 

๓. บัตรแทนเงิน 
เป็นวัตถุที่ใช้แทนเงินตราได้ มีลักษณะเป็นบัตรที่ระบุชื่อและรหัสของเจ้าของบัตร ซึ่งสถาบันการเงินเป็นผู้ออกให้ โดยมีสัญญาการใช้บัตรแทนเงินนั้นในวงเงินจำนวนหนึ่งตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งการใช้บัตรแทนเงินชำระค่าสินค้า และบริการนั้น จะต้องชำระในครั้งเดียว และเป็นก้อนเดียวทั้งจำนวนโดยบันทึกรายการลงในเอกสาร และผู้ที่ใช้บัตรแทนเงิน จะต้องลงชื่อรับรองรายการในเอกสารใบนั้น แล้วมอบให้แก่ผู้ขายสินค้า หรือ บริการ และเรียกเก็บเงินในภายหลัง บัตรแทนเงินจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บัตร ที่ไม่จำเป็นต้องพกพาเงินสดจำนวนมากไว้กับตัว ก็สามารถซื้อสินค้าคราวละมากๆ ได้ จึงทำให้พ่อค้าและนักท่องเที่ยว ได้รับประโยชน์ในด้านความสะดวก และปลอดภัยมากขึ้นในการนี้ รัฐบาลจะอนุญาตให้สถาบันการเงิน ดำเนินการออกบัตรแทนเงิน ที่เรียกกันว่าบัตรเครดิต (Credit Card) ได้ แต่ผู้ใช้บัตรแทนเงินกับสถาบันการเงินที่ออกบัตรนั้น จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันยอมรับกันว่า “บัตรแทนเงิน” เป็นสิ่งที่ใช้แทนเงินตราได้ บัตรแทนเงินจึงมีลักษณะคล้ายเป็นเงินตราชนิดหนึ่ง แต่ไม่คล่องตัวเหมือนกับเงินตรา เนื่องจากผู้ขายสินค้าอาจปฏิเสธได้ และยังใช้ได้ไม่กว้างขวาง 

๔. เช็ค 
เป็นเอกสารที่ใช้ชำระหนี้ได้ จัดทำขึ้น เพื่อให้ลูกค้านำไปชำระหนี้ โดยธนาคารพาณิชย์ จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากลูกค้าภายหลัง เช็คทุกใบจึงต้องระบุชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ออกเช็คฉบับนั้น รวมทั้งวันที่ ชื่อผู้รับเงิน จำนวนเงิน และชื่อผู้จ่ายเงิน เช็คมีคุณสมบัติคล้ายบัตรแทนเงิน จึงยอมรับกันในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันว่า ใช้แทนเงินตราได้ และมีคุณสมบัติคล้ายเป็นเงินตราอีกชนิดหนึ่ง แต่ผู้รับอาจปฏิเสธไม่รับ เช็คก็ได้ ฉะนั้น การใช้เช็คจึงยังไม่คล่องตัวเหมือนกับเงินตราเช่นเดียวกับบัตรแทนเงิน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow