Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
496 Views

  Favorite

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ 

ห่วงคุมกำเนิด
ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย หมายถึง เครื่องมือที่ใส่ไว้ในมดลูกเพื่อคุมกำเนิดชื่อในภาษาไทยแม้จะมีความหมายไม่ตรงนักแต่ก็ได้ใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจกันดี

วงแหวนแกรเฟนเบิร์กแบบเก่า
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

มีผู้เริ่มใช้ห่วงคุมกำเนิดในยุโรปและอเมริกาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ริชเตอร์ (Richard Richter, ค.ศ. 1909) ได้รายงานผลการคุมกำเนิดโดยใช้เอ็น (silk worm gut) ทำเป็นขดใส่ไว้ในโพรงมดลูก

 

ต่อมาแกรเฟนเบิร์ก (Ernst Grafenberg, ค.ศ. 1928) รายงานผลการใช้วงแหวนทำด้วยโลหะใส่ในโพรงมดลูกและมีผู้นำวงแหวนแกรเฟนเบิร์กไปใช้อยู่ระยะหนึ่งแต่ไม่นานก็เสื่อมความนิยมไปเพราะมีผู้พบอาการแทรกซ้อน เกี่ยวกับการอักเสบในอุ้งเชิงกรานและการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างใส่ห่วงอย่างไรก็ดีส่วนมากไม่มีสถิติอ้างอิงที่แน่นอน

 

วงแหวนแกรเฟนเบิร์กแบบใหม่ ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ มีขนาดเล็กกว่าแบบเก่า

วงแหวนใหม่
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

หลายปีต่อมาโอพเพนไฮเมอร์ (W. Oppenheimer, ค.ศ. 1959) ได้รายงานผลดีของการคุมกำเนิดโดยใช้วงแหวนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวงแหวนแกรเฟนเบิร์กในเวลาเดียวกันอิชิฮามา (Atsumi Ishihama) ก็ได้รายงานผลดี ของการใช้ห่วงคุมกำเนิดชนิดวงแหวนโอ ตา (ota ring)

ห่วงคุมกำเนิดแบบใหม่ชนิดต่าง ๆ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

สองรายงานหลังนี้มีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้มีผู้สนใจและประดิษฐ์ห่วงคุมกำเนิดแบบใหม่ ๆ ขึ้นมากวัสดุที่ใช้ทำห่วงคุมกำเนิดมากที่สุด คือ สารพวกโพลีเอทีลีน ไนลอนหรือเหล็กไม่เป็นสนิม

ห่วงคุมกำเนิดที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน คือ ห่วงลิปปีส (lippes loop) ซึ่งประดิษฐ์โดยนายแพทย์แจ็ค ลิปปิส (Jack Lippes) ซึ่งได้รายงานผลดีไว้เมื่อพ.ศ. 2505
 

ห่วงลิปฟีส

ทำด้วยพลาสติกและอาบด้วยแบเรียมเพื่อให้มองเห็นจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ห่วงนี้มีลักษณะเป็นรูปตัวเอส 2 ตัวติดต่อกันเอสตัวล่างมีขนาดเล็กกว่าตัวบนทำให้ห่วงมีลักษณะเหมาะกับโพรงมดลูกพอดีปลายล่างของห่วงมีเอ็นไนลอนที่ผูกติดอยู่เพื่อสะดวกในการตรวจว่าห่วงยังอยู่หรือไม่และใช้สำหรับดึงเอาห่วงออกด้วยห่วงนี้มีอยู่ 4 ขนาด คือ ขนาด เอ บี ซี ดี (A, B, C และ D) ขนาด ดี เป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุด

ห่วงลิปพีสขนาดบี ซี ดี
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ห่วงลิปฟีสเมื่อใส่อยู่ในโพรงมดลูกแล้วจะกลับคืนรูปเป็นอย่างเดิมและเอ็นไนลอนที่ผูกติดกับปลายล่างห่วงจะโผล่ออกมาทางปากมดลูกให้มองเห็นได้ในช่องคลอดเอ็นไนลอนนี้มีไว้สำหรับเป็นเครื่องหมายแสดงว่าห่วงยังไม่หลุดไปและเมื่อจะเอาห่วงออกก็ดึงเอ็นไนลอนนี้ห่วงก็จะหลุดออกมา

 

ข้อแนะนำในการใช้ห่วงลิปฟีส 
1. ภายหลังใส่ห่วงใหม่ ๆ อาจมีเลือดออกอยู่ 2-3 วัน แล้วจะหยุดไปเองโดยไม่ต้องรักษาเมื่อเลือดหยุดดีแล้วก็จะอยู่ร่วมกับสามีได้ตามปกติ 
2. วันแรก ๆ ภายหลังใส่ห่วงอาจมีปวดท้องน้อยได้บ้างซึ่งจะระงับได้โดยยาแก้ปวดธรรมดา เช่น แอสไพริน 
3. 2-3 เดือนแรกหลังใส่ประจำเดือนอาจมากและนานกว่าปกติไม่จำเป็นต้องให้การรักษาเพราะต่อไปจะดีขึ้นเอง 
4. อาจมีตกขาวมากกว่าปกติ ในระยะ 2-3 เดือนหลังใส่และต่อไปก็จะค่อย ๆ หายไปเอง 
5. ห่วงที่ใส่ไว้อาจจะหลุดได้ในบางรายซึ่งมักจะหลุดใน 2-3 เดือนแรกและหลุดพร้อมกับประจำเดือนทุกครั้งที่มีประจำเดือนจึงควรตรวจดูว่ามีห่วงหลุดติดออกมาด้วยหรือไม่หากหลุดควรงดอยู่ร่วมกันหรือคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อนและรีบมาหาแพทย์ 
6. ถ้าต้องการตรวจดูว่าห่วงอยู่หรือไม่ควรล้างมือให้สะอาดแล้วสอดนิ้วชี้เข้าไปคลำดูเอ็นไนลอนที่ปากมดลูกภายหลังที่ประจำเดือนแต่ละครั้งหมดแล้ว 
7. ห่วงลิปฟีสไม่มีการเสื่อมคุณภาพจะใส่ไว้ในมดลูกนานเท่าไรก็ได้ในรายที่ผู้ใส่ถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วประมาณ 1 ปี ก็ควรเอาออกได้ 
8. ควรมาตรวจภายในอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่าห่วงยังอยู่เรียบร้อยดีหรือไม่และเพื่อทำการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกให้ด้วย

แผนภาพแสดงการใส่ห่วงลิปพีส
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

 

ประสิทธิภาพของห่วงลิปฟีส 

หญิงที่ใส่ห่วงอยู่อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เพียงประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งนับว่าประสิทธิภาพของห่วงชนิดนี้ดีพอสมควร 
ห่วงคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูกแต่ก็มิได้ทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก 
ในรายที่ตั้งครรภ์โดยมีห่วงอยู่ในมดลูกอัตราการแท้งจะสูงขึ้นกว่าในการตั้งครรภ์ทั่ว ๆ ไปถ้ามิได้เอาห่วงออกแต่ส่วนใหญ่ก็จะตั้งครรภ์ได้จนครบกำหนดและคลอดได้ตามปกติโดยห่วงจะหลุดออกมาพร้อมกับเด็กหรือรกไม่เคยปรากฏมีความพิการในเด็กพวกนี้

 

การทำงานของห่วงคุมกำเนิด 

ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่นอนว่าจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไรแต่ก็มีข้อสันนิษฐานกันไว้ดังนี้ 
1. ห่วงคุมกำเนิดอาจทำให้ไข่ที่ผสมแล้วไม่สามารถฝังตัวได้ (implantation failure) เพราะทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสมขึ้นที่เยื่อบุมดลูกหรือผนังมดลูก 
2. ห่วงคุมกำเนิดอาจทำให้ไข่ทั้งที่ถูกผสมและไม่ถูกผสมเดินทางผ่านท่อรังไข่ไปเร็วกว่าปกติจนไข่ที่ผสมแล้วยังไม่พร้อมที่จะฝังตัวเมื่อผ่านไปถึงโพรงมดลูกและไข่ที่ยังไม่ถูกผสมผ่านไปเร็วจนไม่มีโอกาสได้ผสมกับเชื้อของฝ่ายชาย (acceleration of tubal transport of ova) 
3. ห่วงคุมกำเนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในโพรงมดลูกจนทำให้เชื้อของฝ่ายชายไม่สามารถผ่านไปผสมกับไข่ได้หรือสูญอำนาจในการผสมพันธุ์ไป (spermatoxic effects) 

 

อาการข้างเคียงในหญิงที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด 

อาการข้างเคียงที่พบบ่อย คือ 
1. อาการเลือดออกผิดปกติ 
ก. อาจมีเลือดออกอยู่ 2-3 วันหลังใส่ห่วง และจะหยุดไปเองโดยไม่ต้องให้การรักษา
ข. อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย นอก เวลาประจำเดือน ซึ่งมักพบในระยะ 2-3 เดือนแรก 
ค. อาจมีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือนานกว่าปกติ พบมากในระยะ 2-3 เดือนแรก 

2. อาการปวดท้องน้อยพบได้ไม่บ่อยนักและพบน้อยกว่าการมีเลือดออกผิดปกติ 
ก. การปวดท้องน้อยทันทีภายหลังใส่ห่วงเนื่องจากการบีบตัวของมดลูกบางรายอาจมีอาการปวดอย่างรุนแรงแต่อาการนี้พบน้อยมากมักพบในหญิงที่ไม่มีบุตรมาเป็นเวลานานและพวกที่มีจิตใจหวาดกลัวง่ายอยู่แล้ว 
ข. อาการปวดท้องน้อยในระยะ 2-3 เดือนแรกหลังใส่อาการปวดมักมีเพียงเล็กน้อย 
ค. อาจมีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้นในระยะ 2-3 เดือนแรกหลังใส่ 
๓. อาการตกขาวหลังใส่อาจมีตกขาวออกมากขึ้นและส่วนมากจะค่อย ๆ กลับเป็นปกติหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว

อาการที่กล่าวมาแล้วนี้เกิดเนื่องจากมดลูกยังไม่เคยชินกับห่วงภายหลังที่มดลูกปรับตัวเองให้เข้ากับห่วงได้ดีแล้วอาการต่าง ๆ ก็หายไปเปรียบเทียบได้กับผู้ที่ใส่คอนแทกต์เลนส์ (contact lens) ซึ่งจะมีอาการระคายเคืองในระยะแรกเมื่อเคยชินแล้วอาการต่าง ๆ ก็จะหายไป 

 

การเจริญพันธุ์ภายหลังเอาห่วงออก 

หญิงที่เอาห่วงออกจะตั้งครรภ์ได้ตามปกติและไม่มีการเปลี่ยนปลงภาวะการเจริญพันธุ์จากรายงานของสภาประชากร (นิวยอร์ก) เมื่อ พ.ศ. 2508 พบว่าร้อยละ 45 ของหญิงตั้งครรภ์ภายในเดือน 6 เดือนและร้อยละ 90 ตั้งครรภ์ภายใน 1 ปี หลังจากเอาห่วงออก 

ส่วนผลจากการศึกษาในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 93 ตั้งครรภ์ภายใน 1 ปีหลังจากเอาห่วงออก 

เวลาที่เหมาะสมในการใส่ห่วงคุมกำเนิด 
1. ในรายที่มีประจำเดือนตามปกติเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ในขณะใส่ห่วงควรไปพบแพทย์ภายใน 7 วันแรก ของรอบเดือนหรือถ้าไม่สามารถพบแพทย์ได้ก็ควรจะงดการอยู่ร่วมกันหรือคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นก่อนจนกว่าจะไปพบแพทย์ได้
2. การใส่ภายหลังคลอดหรือแท้งควรใส่ห่วงคุมกำเนิดเมื่อคลอดหรือแท้งแล้วเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เพราะมดลูกคืนสู่ภาวะปกติเรียบร้อยแล้วถ้าใส่ก่อนระยะนี้ผนังของมดลูกยังนุ่มอยู่จะมีโอกาสทะลุได้ง่ายแต่ก็มีผู้ใส่ห่วงให้แก่หญิงหลังคลอดภายใน 48 ชั่วโมง เพราะเกรงว่าเมื่อกลับบ้านไปแล้วคนไข้อาจไม่มีเวลามาใส่ห่วงอีกหรืออาจตั้งครรภ์เสียก่อนมาใส่ห่วง 

 

ข้อห้ามของการใส่ห่วงคุมกำเนิด 

1. การอักเสบในอุ้งเชิงกรานเป็นข้อห้ามที่ สำคัญที่สุด เพราะถ้ามีอาการอักเสบอยู่ การใส่ห่วงจะทำให้การอักเสบทวีความรุนแรงขึ้นได้มาก 
2. รายที่ไม่แน่ใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ 
3. รายที่มีประวัติของการมีเลือดออกผิดปกติจากภายในมดลูกโดยยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษา 
4. รายที่มีเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก 
5. รายที่มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นแบ่งโพรงมดลูกเป็น 2 ห้อง

 

ยาเม็ดคุมกำเนิด

มีผู้รายงานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 ว่าฮอร์โมนของหญิงทั้งสองชนิด คือ เอสโทรเจน (estrogen) และโพรเจสโทเจน (progestogen) มีฤทธิ์ห้ามการสุกของไข่ได้วงการแพทย์ได้เริ่มเอาฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้มาใช้เป็นยาคุมกำเนิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 5498 การทดลองใช้ยานี้ในหญิงจำนวนมากได้เริ่มครั้งแรกที่เปอร์โตริโกใน พ.ศ. 2499 และต่อมาการใช้ยานี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วประเทศไทยได้เริ่มนำยาเม็ดคุมกำเนิดเข้ามาใช้เมื่อ             พ.ศ.2502 และยังคงเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากจนถึงปัจจุบัน

ด้านหน้าของแผงยาคุมกำเนิดชนิด ๒๘ เม็ด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ยาเม็ดคุมกำเนิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบันทุกเม็ดมีทั้งฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสโทเจนอยู่รวมกันชุดหนึ่งมีตัวยา 20-21 เม็ดใช้สำหรับระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

ด้านหลังของแผงยาคุมกำเนิดชนิด ๒๘ เม็ด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

วิธีกินยาเม็ดคุมกำเนิด 

1. วิธีเดิมหรือวิธีแรกที่นำมาใช้คือการให้ผู้ใช้เริ่มต้นกินยาในวันที่ 5 ของรอบประจำเดือนโดยกินครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเย็นทุกวันจนหมดยา 1 ชุด (20-21 เม็ด) แล้วจึงหยุดรอให้มีประจำเดือนซึ่งส่วนมากจะมาประมาณ 2-4 วันหรืออย่างช้าไม่เกิน 7 วัน หลังหยุดยาและเริ่มต้นชุดใหม่ในวันที่ 5 ของรอบประจำเดือนอีกเช่นเคย

2. กินตามวันในปฏิทิน คือ การเริ่มต้นกินยาในวันเดียวกันทุกเดือน เช่น เริ่มต้นชุดใหม่ทุกวันที่ 1 ของทุก ๆ เดือนโดยไม่คำนึงถึงวันมีประจำเดือนวิธีนี้จะสะดวกเมื่อตั้งต้นหลังคลอดขณะที่ยังไม่มีประจำเดือนแต่ถ้าเริ่มในช่วงที่มีประจำเดือนอยู่แล้วอาจเริ่มต้นชุดแรกวันที่ 5 ของรอบประจำเดือนเช่นเดียวกับวิธีแรกและให้จำไว้ว่าเป็นวันที่เท่าใดของเดือนตามปฏิทินเมื่อหมดยาชุดนี้แล้วจึงเริ่มยาชุดต่อ ๆ ไปในวันที่เดียวกันทุก ๆ เดือน

3. วิธี 21/7 วิธีนี้เมื่อเริ่มยาชุดแรกให้คนไข้ตั้งต้นกินยาวันที่ 5 ของรอบประจำเดือนเช่นเดียวกับวิธีแรกแต่เมื่อหมดยาชุดแรกซึ่งมี 21 เม็ดให้เว้นไป 7 วัน แล้วจึงเริ่มยาชุดต่อไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงวันมีประจำเดือนซึ่งจะมีในระหว่างที่หยุดยา 7 วันนั้นเอง

4. วิธีกินยาติดต่อกันไปเนื่องจากผู้ใช้ยาอาจมีการหลงลืมหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นยาชุดใหม่จึงทำให้ง่ายเข้าโดยใช้หลักเดียวกับแบบ 21/7 แต่เพื่อไม่ให้ผู้ใช้ลืมตั้งต้นยาชุดใหม่หรือต้องคอยคิดอยู่ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน ว่าจะถึงวันที่เริ่มกินยาชุดใหม่หรือยัง 

 

ในระหว่างที่หยุดยา 7 วัน จึงให้กินยาเม็ดซึ่งไม่มีตัวยาคุมกำเนิดคั่นเสีย 7 เม็ด วิธีนี้ยาชุดหนึ่งจะมี 28 เม็ด โดย 21 เม็ดแรกเป็นยาจริง ส่วน 7 เม็ดหลังเป็นเม็ดเปล่าไม่มีตัวยาซึ่งอาจเป็นเม็ดแป้ง น้ำตาลหรือวิตามิน ฯลฯ คนที่กินยาวิธีนี้จึงเท่ากับกินยาติดต่อกันไปโดยไม่หยุดเลย

 

การทำงานของยาเม็ดคุมกำเนิด 

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดย 
1. ห้ามการสุกของไข่ตามปกติหญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีไข่สุกเดือนละครั้งเมื่อไม่มีการสุกของไข่จึงไม่มีการตั้งครรภ์ 
2. ทำให้เยื่อบุมดลูกบางและไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ 
3. ทำให้มูกที่ปากมดลูกมีน้อยและเหนียวกว่าปกติจนเชื้ออสุจิไม่สามารถว่ายผ่านไปได้ 

ผลของยาเม็ดคุมกำเนิดต่อประจำเดือน 
1. ประจำเดือนมักจะลดลงทั้งจำนวนและระยะเวลาที่มี 
2. จะมีประจำเดือนมาสม่ำเสมอถ้ากินยาถูกต้องเพราะประจำเดือนจะมาหลังจากหมดยาแต่ละชุดแล้วประมาณ 2-4 วัน 
3. คนไข้บางรายอาจไม่มีประจำเดือนมาหลังหยุดยาบางเดือนซึ่งโดยทั่วไปถือว่าควรมีภายในไม่เกิน 8 วันหลังจากหยุดยารายเช่นนี้ควรจะเริ่มต้นกินยาชุดใหม่ได้ทันทีในวันที่ 8 หากยังไม่มีประจำเดือน 
4. มีคนไข้ส่วนน้อยและมีเพียงบางเดือน เช่นกัน อาจจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยนอกเวลาประจำเดือนซึ่งพบมากในยาบางชนิดแต่ไม่มีอันตรายใด ๆ และหากผู้ใช้คงกินยาต่อไปโดยสม่ำเสมอเลือดก็มักจะหยุดไปเอง 
5. อาการปวดประจำเดือนจะลดน้อยลงในระหว่างกินยาคุมกำเนิดซึ่งอาจนำเอายานี้ไปรักษาอาการปวดประจำเดือนได้

 

อาการข้างเคียงขณะกินยา 

1. คลื่นไส้เป็นอาการที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 20 ของหญิงจะมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อยเมื่อเริ่มกินยาชุดแรกอาการนี้จะค่อย ๆ ลดลงและหลัง 3 เดือน ไปแล้วอาการนี้ก็จะหายไป 
2. ฝ้าที่หน้าประมาณร้อยละ 17 ของหญิงไทยเกิดมีฝ้าขึ้นที่หน้าหรือฝ้าที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับที่พบในหญิงมีครรภ์บางรายทั้งนี้เพราะทั้งฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสโทเจนเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเซลล์ ซึ่งสร้างสีของร่างกายอาการนี้จะพบได้มากในหญิงที่ผิวคล้ำและต้องถูกแสงแดดมากอย่างไรก็ดีฝ้านี้ไม่มีอันตรายอย่างใดและจะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อเลิกกินยา 
3. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเชื่อกันว่าเกิดขึ้นเนื่องจากฤทธิ์ในการเสริมสร้างของโพรเจสโทเจนทำให้เกิดความอยากอาหารและกินอาหารจุมากขึ้นนอกจากนี้ยังอาจเนื่องมาจากการคั่งของโซเดียมและน้ำจากผลของเอสโทรเจน 
4. อาการเจ็บตึงที่เต้านมอาการนี้พบน้อย มากในหญิงไทย 
5. อาการปวดศีรษะหญิงบางคนมีอาการปวดศีรษะในระหว่างกินยาแต่เป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้แน่นอนว่าเนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดหรือไม่ 
6. ความรู้สึกทางเพศยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในหญิงที่กินยานี้แม้จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศอาจมีอิทธิพลต่อความต้องการทางเพศของสัตว์หลายชนิดแต่ในมนุษย์อิทธิพลทางด้านจิตใจมีความสำคัญมากกว่าและการหมดกังวลเรื่องการตั้งครรภ์อาจทำให้ความรู้สึกทางเพศดีขึ้น

 

ผลของยาเม็ดคุมกำเนิดต่อการทำงานของตับ 

การทำงานของตับในหญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดยังอยู่ในเกณฑ์ปกตินอกจากจะมีการขับถ่ายช้าลงบ้างเช่นเดียวกับที่พบในหญิงระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งไม่มีอันตรายใด ๆ และจะกลับคืนสู่ภาวะปกติเมื่อเลิกใช้ยา 

ผลของยาเม็ดคุมกำเนิดต่อการหลั่งน้ำนม 

จากการศึกษาในหญิงไทยที่คุมกำเนิดพบว่ายาเม็ดคุมกำเนิดมีผลทำให้น้ำนมแม่น้อยลงจึงไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงที่ให้ลูกกินนม 

ผลของยาเม็ดคุมกำเนิดต่อโรคของเส้นเลือดดำ 
เอสโทรเจนในยาเม็ดคุมกำเนิดมีผลทำให้การแข็งตัวของเลือดได้ง่ายขึ้นและอาจทำให้โรคของเส้นเลือดดำบางอย่างกำเริบขึ้นอย่างไรก็ตามอันตรายจากโรคนี้ในขณะที่กินยาคุมกำเนิดจะต่างกับเมื่อไม่ได้กินยาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นแต่อันตรายจากการตั้งครรภ์และการคลอดมีมากกว่าอันตรายจากยาเม็ดคุมกำเนิดหลายเท่า 

สำหรับหญิงไทยโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดดำเหล่านี้พบน้อยมากอันตรายจากยาเม็ดคุมกำเนิดในเรื่องนี้จึงไม่มีความสำคัญสำหรับหญิงไทยทั่วๆไป 

การเจริญพันธุ์และการสุกของไข่หลังจากหยุดยา 
โดยทั่วไปภายหลังการหยุดยาเม็ดยาคุมกำเนิดการเจริญพันธุ์ของผู้ใช้ยามิได้ลดลงและประจำเดือนก็จะมาตามปกติแต่ประจำเดือนเดือนแรกหลังจากหยุดยาอาจมาช้าไปเล็กน้อย 

หญิงบางคนหลังจากหยุดยาอาจมีประจำเดือนขาดไปชั่วคราวแต่ส่วนมากมักจะมาตามปกติเองภายหลัง 6-12 เดือน หรืออาจเร่งให้มาเป็นปกติได้โดยให้ยาบางอย่าง 

ควรกินยานี้ได้นานเท่าใด 
เรายังไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าหญิงจะกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันได้โดยปลอดภัยเป็นเวลานานที่สุดเท่าใดแต่รายงานการศึกษาในหญิงไทยที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นเวลานาน 7-8 ปี ไม่พบอันตรายใด ๆ อย่างไรก็ดี หญิงทุกคนไม่ว่าจะกินยาคุมกำเนิดหรือไม่ควรได้รับการตรวจสุขภาพและตรวจหามะเร็งในระยะแรกอย่างน้อยปีละครั้งเช่นเดียวกัน 

ข้อห้ามในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 

ในหญิงที่มีสุขภาพสมบูรณ์ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ในการใช้ยานี้แต่มีข้อห้ามหรือข้อควรระมัดระวังในผู้ที่มีโรคต่อไปนี้ 
1. โรคตับ เช่น ผู้ที่เคยมีอาการตัวเหลือง ตา เหลือง 
2. โรคเบาหวาน 
3. โรคหัวใจ 
4. โรคความดันโลหิตสูง 
5. โรคของเส้นเลือดดำ
6. โรคแพ้บางอย่าง 
7. มะเร็งของเต้านม และอวัยวะสืบพันธุ์ 
8. โรคของต่อมไทรอยด์บางชนิด

เพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจึงควรได้รับการตรวจร่างกายและรับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน

ยาฉีดคุมกำเนิด
ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นยาฮอร์โมนประเภทเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดแต่เนื่องจากหญิงบางคนไม่ชอบการกินยาทุกวันหรืออาจมีการหลงลืมกินยาได้ซึ่งจะทำให้ผลในการคุมกำเนิดเลวลงจึงได้มีการนำเอาฮอร์โมนโพรเจสโทเจนอย่างเดียวหรือร่วมกับเอสโทรเจนมาใช้เป็นยาฉีดคุมกำเนิดโดยฉีดครั้งหนึ่งมีฤทธิ์คุมไปได้เป็นเวลานาน

 

ยาฉีดคุมกำเนิดดีเอ็มพีเอ
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ยาฉีดคุมกำเนิดที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันเป็นยาประเภทฉีดทุก 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์และชนิดที่ใช้กันมากคือเดโปเมดรอกซีโพรเจสเทอโรนอะซีเตตชนิดออกฤทธิ์นาน (depo medroxy progesterone acetate) ซึ่งต่อไปจะใช้ชื่อย่อว่า ดีเอ็มดีเอ (DMPA) ดีเอ็มพีเอ 

เป็นยาที่ใช้ในทางแพทย์เพื่อรักษาโรคเฉพาะหญิงบางอย่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 และการรักษาโรคบางอย่างได้ใช้ยานี้ในขนาดสูงมากแต่ก็ไม่พบอันตรายร้ายแรงใด ๆ นอกจากการผิดปกติของประจำเดือนเนื่องจากการศึกษาพบว่ายานี้มีฤทธิ์ป้องกันไข่สุกได้จึงได้ทดลองนำยานี้มาใช้ในการคุมกำเนิดต่อมาในปีพ.ศ. 2507 จึงได้นำยานี้มาใช้เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีด 3 เดือนครั้งโดยฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 150 มิลลิกรัม 

ยานี้ได้นำมาใช้เป็นยาฉีดคุมกำเนิดในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2508 และปรากฏว่าเป็นที่นิยมของหญิงไทยในบางท้องที่อย่างมาก 

วิธีใช้ 
เริ่มต้นฉีดเข็มแรกภายใน 5 วันแรกของรอบประจำเดือนและฉีดติดต่อกันไปทุก ๆ 12 สัปดาห์หรือ 84 วัน ในหญิงหลังคลอดอาจเริ่มต้นฉีดยานี้ได้ภายหลังคลอดก่อนคนไข้จะกลับบ้าน 

การทำงานของดีเอ็มพีเอ

ยาชนิดนี้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวมาแล้วแต่มีประสิทธิภาพสูงมาก 

ผลของยาดีเอ็มพีเอต่อประจำเดือน 

ผู้ที่ใช้ยานี้จะมีระบบประจำเดือนผิดไปจากเดิมจนยากที่จะทำนายล่วงหน้าได้แต่พอสรุปได้ว่าในระยะแรกที่ใช้ยานี้ผู้ใช้มักมีเลือดออกกะปริบกะปรอยและภายหลังใช้ยานี้ได้ประมาณ 1 ปี ประจำเดือนมักจะขาดไป

อย่างไรก็ดีอาการเหล่านี้เพียงก่อให้เกิดความรำคาญขึ้นเท่านั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้และถ้ามีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือประจำเดือนขาดหายไปเป็นเวลานานแพทย์อาจให้ยาบางอย่างเพื่อทำให้ประจำเดือนมาหรือเพื่อป้องกันมิให้มีเลือดออก กะปริบกะปรอยได้ 

อาการข้างเคียงของดีเอ็มพีเอ 

อาการข้างเคียงอื่น ๆ ของดีเอ็มพีเอพบน้อยมากและยานี้จะไม่ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนเหมือนที่พบในผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดบางราย 

อาการที่พบคล้ายคลึงกับอาการข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิด คือ การมีฝ้าขึ้นที่หน้าและการมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ผลของดีเอ็มพีเอต่อการหลั่งน้ำนม

ผลจากการศึกษาในหญิงที่ใช้ยานี้ขณะที่ให้นมลูกของโรงพยาบาลศิริราชปรากฏว่ายานี้ไม่ทำให้น้ำนมลดลงเลยและกลับปรากฏว่าทำให้น้ำนมมากขึ้น 

การเจริญพันธุ์และการสุกของไข่หลังจากหยุดยา 

ส่วนมากหลังจากการหยุดยาจะกลับมีไข่สุกหรือมีประจำเดือนตามปกติภายใน 3-12 เดือน โดยเฉลี่ยการกลับมีไข่สุกจะช้ากว่าภายหลังการหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 

ข้อห้ามในการใช้ดีเอ็มพีเอ 

เนื่องจากยานี้เป็นยาพวกโพรเจสโทเจนจึงมีข้อห้ามคล้ายคลึงกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแต่ยาดีเอ็มพีเอเหมาะสำหรับหญิงที่มีบุตรเพียงพอแล้วหรือต้องการจะคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีลูกน้อยและต้องการคุมกำเนิดเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ

หมวกยางคุมกำเนิด

วิธีคุมกำเนิดแบบนี้ เคยเป็นที่นิยมกันมากเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วแต่เนื่องจากวิธีใหม่ ๆ มีประสิทธิภาพดีกว่าและสะดวกในการใช้มากกว่าการคุมกำเนิดโดยหมวกยางใส่ในช่องคลอดหรือครอบปากมดลูกจึงเสื่อมความนิยมไป

 

หมวกยางเหล่านี้มีหลายแบบและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันแต่ที่ใช้มากสุดคือไดอะแฟรมหรือดัตช์แคป (diaphragm, dutch cap)

หมวกยางคุมกำเนิด
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 9

 

ดัตช์แคป 

หมวกยางชนิดนี้ในอังกฤษนิยมเรียกว่าดัตช์แคปแต่ในสหรัฐอเมริกานิยมเรียกว่าไดอะแฟรมทำด้วยยางเป็นรูปโดมแกนในของขอบหมวกยางมีสปริงโลหะโค้งเป็นวงกลมและมียางหุ้มโดยรอบมีหลายขนาดคือขนาดตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร และเพิ่มขึ้นทีละ 2.5 มิลลิเมตร จนถึง 100 มิลลิเมตร ถ้าเก็บรักษาดีหมวกยางอันหนึ่งจะใช้ได้ประมาณ 2 ปี 

การทำงานของหมวกยางคุมกำเนิด 

หมวกยางคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์โดยปิดส่วนบนของช่องคลอดและปากมดลูกไว้ไม่ให้ติดต่อกับอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายในขณะที่มีการอยู่ร่วมกันจึงป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปในมดลูกวิธีนี้จะได้ผลดีขึ้นหากใช้ร่วมกับครีมใส่ช่องคลอดสำหรับทำลายอสุจิ (spermicidal cream) 

ผลในการป้องกันจะมีทันทีภายหลังใส่แต่จะเอาหมวกยางออกทันทีหลังการอยู่ร่วมกันไม่ได้จะต้องใส่ไว้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงหลังจากการอยู่ร่วมกันแต่ไม่ควรนานเกิน 24 ชั่วโมง

หมวกยางคุมกำเนิดไม่เหมาะสมสำหรับรายต่อไปนี้ 

1. ช่องคลอดหรือกะบังลมหย่อนมาก 
2. มดลูกเคลื่อนต่ำมาก 
3. ฝีเย็บฉีกขาดมาก 
4. ฝีเย็บได้รับการเย็บแต่งไว้แคบมาก 
5. หญิงที่เพิ่งแต่งงานช่องคลอดยังแคบ 
6. มดลูกคว่ำหน้าหรือคว่ำหลังมากผิดปกติ 

คำแนะนำสำหรับผู้ใช้หมวกยางคุมกำเนิด 
1. ก่อนใช้หมวกยางควรให้แพทย์ตรวจภายในก่อนเพื่อดูว่าควรใช้วิธีนี้หรือไม่และเพื่อเลือกขนาดของหมวกยางที่เหมาะสมเมื่อเลือกขนาดได้แล้วแพทย์จะบอกวิธีใส่และเอาหมวกยางออกให้ด้วย 
2. ก่อนใส่ควรถ่ายปัสสาวะก่อนและถ้าใกล้เวลาถ่ายอุจจาระควรถ่ายเสียก่อนด้วย
3. การใส่หมวกยาง ควรใช้ร่วมกับครีมใส่ช่องคลอดเพื่อทำลายอสุจิโดยทาทั้งสองด้านของหมวกยาง ขนาดของยาแล้วแต่ชนิดของยาที่ใช้ 
4. ภายหลังใส่หมวกยางเรียบร้อยแล้วจะมีผลป้องกันได้ทันทีการใส่นี้จะใส่ก่อนการอยู่ร่วมกันทันทีหรือจะใส่ตอนเข้านอนก็ได้และอาจใส่ไว้ได้ตลอดคืน 
5. การเอาหมวกยางออกต้องรออย่างน้อย 6 ชั่วโมงหลังจากการอยู่ร่วมกันครั้งสุดท้าย
6. การเก็บรักษาเมื่อเอาหมวกยางออกแล้วควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ฟอกตัวธรรมดาเช็ดให้แห้งตรวจดูรอยขาดโดยส่องดูกับแสงสว่างแล้วจึงโรยแป้งเก็บไว้ในกล่อง

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow