ความหมายของการคุมกำเนิด
การคุมกำเนิด หมายถึง การป้องกันการปฏิสนธิ (conception) แต่อาจหมายความอย่างกว้าง ๆ ว่าการป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว (temporary or reversible contraception) ได้แก่ วิธีที่มีผลเฉพาะขณะที่ใช้เมื่อเลิกใช้แล้วผู้ใช้จะกลับตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
2. การคุมกำเนิดแบบถาวร (permanent contraception) ได้แก่ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์แบบถาวรตลอดไป เช่น การทำหมันแบบต่าง ๆ
ปัจจุบันการคุมกำเนิดหรือการป้องกันการตั้งครรภ์มักจะใช้กันในความหมายที่กว้างมากโดยถือเอาเวลาก่อนหรือหลังการตั้งครรภ์หรือการอยู่ร่วมกันเป็นเกณฑ์ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้ คือ
1. ก่อนการปฏิสนธิ
2. ก่อนการอยู่ร่วมกัน
3. หลังการอยู่ร่วมกัน หมายถึง ระยะเวลาภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกหลังการอยู่ร่วมกัน
4. ก่อนการขาดประจำเดือน หมายถึงระยะเวลาหลังการอยู่ร่วมกันแต่ก่อนที่จะถึงกำหนดที่ควรมีประจำเดือน
5. ภายใน 2 สัปดาห์แรกที่เริ่มขาดประจำเดือนระยะนี้บางแห่งถือว่ายังไม่ทราบแน่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่จึงอาจมีวิธีการบังคับให้ประจำเดือนมาได้หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "การขับประจำเดือน" ซึ่งคล้ายคลึงกับ "การปรับประจำเดือน" (menstrual regulation) ในปัจจุบัน
6. ระยะที่ทราบว่าตั้งครรภ์แน่นอนแล้ว หรือ เมื่อขาดประจำเดือนเลย 3 สัปดาห์ ซึ่งการป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะนี้ย่อมหมายถึงการทำแท้งนั่นเองกฎหมายไทยในปัจจุบันอนุญาตให้ทำแท้งได้เมื่อการตั้งครรภ์นั้นจะมีผลร้ายต่อสุขภาพของหญิงหรือเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนเท่านั้น
แม้การคุมกำเนิดจะมีมานานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณกว่า 4,000 ปีมาแล้วและได้มีการปรับปรุงและคิดค้นหาวิธีใหม่อยู่ตลอดมาก็ยังไม่มีวิธีใดที่ดีพร้อมและเหมาะสมสำหรับทุกคนจึงจำเป็นต้องมีวิธีคุมกำเนิดหลายวิธีไว้สำหรับเลือกใช้
การที่จะพิจารณานำวิธีใดมาใช้นั้นต้องคำนึงถึงการยอมรับของสังคมด้วยวิธีที่มีผู้นิยมใช้โดยสม่ำเสมอแม้ประสิทธิภาพจะไม่ดีนักยังได้ผลดีกว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมแต่ไม่มีผู้นิยมใช้