นักระบาดวิทยาภาคสนาม
นักระบาดวิทยาภาคสนาม
นักระบาดวิทยาภาคสนาม
นักระบาดวิทยาภาคสนาม
รู้จักอาชีพ > นักปฏิบัติ (Active) > นักระบาดวิทยาภาคสนาม

       นักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiologist) เป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ โดยแบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่ม คือนักระบาดวิทยาคลินิก ที่ทำงานในโรงพยาบาล และ นักระบาดวิทยาภาคสนาม ที่ต้องลงพื้นที่ทำงานในชุมชน นอกโรงพยาบาล ในสภาพแวดล้อมทั่วไป

       โดยหน้าที่หลักของ นักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiologist) คือ สืบสวนสอบสวนโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคระบาดติดเชื้อ เช่น ไวรัส Covid-19 เมื่อมีสัญญาณของโรคเกิดขึ้น จะต้องทำการลงพื้นที่ เก็บสถิติ ตัวอย่างเชื้อ สารคัดหลั่งนำมาวินิจฉัย เพื่อดูการกระจายตัวของโรค (distribution) ว่าโรคเกิดขึ้นในใคร ที่ไหน และสัมพันธ์กับเวลาอย่างไร ปัจจัยอะไรที่มีอิทธิพลต่อโรค (determinant) อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของโรคที่ทำให้มีการกระจายตัวแบบนั้น ตัดต้นตอของโรค และโรคระบาดให้ได้ พร้อมกับหาแนวทางป้องกันและควบคุมโรค ลดอัตราการเสียชีวิต ป้องกันคนที่แข็งแรงไม่ให้ป่วย ป้องกันคนป่วยไม่ให้ป่วยรุนแรง และป้องกันคนป่วยที่หายแล้วไม่กลับมาป่วยซ้ำ

นักระบาดวิทยาภาคสนาม

นักระบาดวิทยาภาคสนาม

นักระบาดวิทยาภาคสนาม

 

ลักษณะงาน

การดําเนินงานทางระบาดวิทยา (Epidemiological practices) จะเป็นลักษณะงานที่

1. เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epidemiological surveillance) ติดตาม สังเกต และพิจารณาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการเกิด และการกระจายของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

2. สอบสวนทางระบาดวิทยา (Epidemiological investigation) หรือการสอบสวนโรค เป็นการดำเนินการหาข้อมูลเพิ่มเติมในด้านระบาดวิทยา ข้อมูลสิ่งแวดล้อม และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค หรือการระบาดของโรคนั้น

3. ศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา (Epidemiological study) เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ยังสงสัย หรือไม่ทราบเกี่ยวกับสาเหตุหรือสิ่งที่กำหนดของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย ตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพ

ขั้นตอนการทำงาน

  • ได้รับข้อมูลตรวจจับสัญญาณของโรค และการระบาดของโรค จากหน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ ที่มีการรายงานในทุกพื้นที่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคติดต่อทางอากาศ
  • เมื่อเจอสัญญาณของโรค และการระบาดของโรค จะต้องเข้าไปขุดค้นต้นตอที่ทำให้เกิดโรค ศึกษาหาความสัมพันธ์ของ สาเหตุ และ ผล เกิดตรงไหน กลุ่มไหน อย่างไร สืบค้นปัจจัยปัญหา ต้องอาศัยประสบการณ์ สังเกต (observational study) เก็บข้อมูลระยะยาว วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลออกจากกัน
  • ติดต่อลงพื้นที่ทำการเก็บตัวอย่าง (case-control study) เช่น เชื้อ สารคัดหลั่ง ของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และรวดเร็วที่สุด
  • จากนั้นกลับมาทำการวิเคราะห์เชื้อ สารคัดหลั่งในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (ห้องแลป) เพื่อวินิจฉัย อย่างละเอียดร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทีมเครือข่ายนักระบาดวิทยาในต่างประเทศ
  • เมื่อค้นพบเชื้อ สาเหตุต้นตอ เส้นทางการเชื่อมโยงการแพร่กระจายโรคต่างๆ ได้แล้ว จะต้องตัดตอนวงจรการระบาดของโรค พร้อมทั้งแนะแนวทางการปฏิบัติ การป้องการกับประชาชน จึงจะถือว่าประสบความสำเร็จในการป้องกันและควบคุมโรคนี้ได้ แต่หากยังไม่สามารถตรวจหาสาเหตุ ต้นตอแนวทางป้องกันโรคได้ นักระบาดวิทยาก็จะต้องทำการศึกษา วิจัย ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วที่สุด

สถานที่ทำงาน

  • โรงพยาบาลชุมชน
  • ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 
  • พื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ 
  • กองระบาดวิทยา
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • แพทย์
  • พยาบาล
  • ประชาชน
  • ทีมกรมควบคุมโรค
  • ทีมสื่อสารในพื้นที่
  • ทีมสาธารณสุข
  • ทีมเครือข่ายนักระบาดวิทยาในต่างประเทศ
  • นักวิจัย 
  • นักวิเคราะห์สถิติ

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตของอาชีพ 

  • หากต้องการประกอบอาชีพ แพทย์ระบาดวิทยาโดยตรงจะต้องเลือกเรียน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สังกัด กระทรวงสาธารณสุข ม.มหิดล 
  • เมื่อจบปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวกับระบาดวิทยา และประกอบอาชีพ นักระบาดวิทยาภาคสนาม ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันและควบคุมโรคแล้ว สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาเอก เพื่อเป็นระดับผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในสายงาน
  • ข้อพิเศษคือหากมีประสบการณ์สูง มีผลงานเด่นในสายงาน สามารถไปสอบเพื่อเป็น แพทย์ระบาดวิทยา รับค่าตอบและสวัสดิการที่สูงขึ้นได้
  • มีโอกาสทำงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะหลักสูตรนักระบาดวิทยาที่บรรจุให้เรียนในประเทศไทยนั้น เป็นระดับมาตรฐานสากล

รายได้

  • 40,000 - 50,000 บาท (ปริญญาโท)

  • ค่าวิชาชีพ 15,000 บาท

  • ค่าเสี่ยงภัยเมื่อลงเก็บเชื้อหรือสารคัดหลั่งในพื้นที่ 3,000 บาท ต่อการทำงาน 8 ชม.

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       เนื่องด้วยเป็นอาชีพที่อยู่เบื้องหลังการควบคุม ป้องกันโรค และโรคระบาด จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หรือได้ยินชื่อ นักระบาดวิทยาภาคสนามมาก่อน ซึ่งความต้องการบุคลากรในสายงานเพื่อทำงานได้ครอบคลุมทั้งประเทศนั้นมีสูงมาก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 อาชีพนักระบาดวิทยาภาคสนามก็เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่เข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาโทภาคปกติเฉลี่ยแล้วปีละ 8 - 10 คน ภาคพิเศษ เฉลี่ยปีละ 10 - 30 คน ปริญญาเอก 3 - 5 คน ทำให้การแข่งขันน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่นในคณะสาธารณสุข ม.มหิดล

นักระบาดวิทยาภาคสนาม

 

  • สามารถทำงานในสายสาธารณสุขได้ทั้งหมด
  • เป็นที่รู้จักในวงการแพทย์ หรือประเทศ หรือนานาชาติ หากค้นพบการป้องกันและควบคุมโรคได้
  • ได้ทำงานภาคสนาม ซึ่งมีการเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้ ไม่น่าเบื่อ
  • ได้รับค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเมื่อลงพื้นที่
  • สามารถทำงานในต่างประเทศได้ และได้รับค่าตอบแทนสูง

 

  • เป็นการที่ต้องแข่งขันกับเวลาในการควบคุม ตัดตอนการแพร่ระบาดของโร
  • ต้องใช้หลักเหตุและผลวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว แม่นยำ
  • ต้องมีวิธีการสื่อสารกับประชาชนในการปฏิบัติตนเพื่อให้ตระหนักโดยไม่ตระหนก
  • มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง เพราะอาจจะทำงานกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และทำงานกับเชื้อโรค

 

  • ชอบและมีความเข้าใจในการทำงานรูปแบบภาคสนาม 
  • มีความสามารถและชอบในการทำงานด้านการสืบสวนโรค
  • ช่างสังเกตแม้จุดเล็ก จุดน้อย แต่เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงต้นตอของโรคได้
  • มีจรรยาบรรณทางการแพทย์

 

  • ทักษะคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) ด้านการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ
  • ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) จำเป็นมากสำหรับการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนโรค 
  • ทักษะการสื่อสาร และจิตวิทยาการสื่อสาร เป็นสิ่งที่สำคัญเนื่องจากในการลงพื้นที่ ต้องมีการพูดคุยกับคนในพื้นที่หรือ ผู้ป่วย ญาติปผู้ป่วยต่าง ๆ และเราต้องสื่อสารให้เข้าใจ แต่ไม่สร้างความตระหนกให้คนในพื้นที่ 
  • ทักษะด้านการใช้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
  • ทักษะการวิจัย 
  • ทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติ 

 

 

การศึกษา

  • สำเร็จการศึกษา ม.6 วิทย์ - คณิต
  • ในระดับปริญญาตรี: เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สังกัด กระทรวงสาธารณสุข ม.มหิดล จะได้ประกอบอาชีพนี้โดยตรง
  • ในระดับปริญญาตรี: หากไม่ได้เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ อาจเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (และเข้ารับการศึกษาปริญญาโทเพิ่มเติม) โดยในระดับปริญญาตรี สามารถเลือกสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ชีววิทยา เทคนิคการแพทย์ เทคนิคการสัตวแพทย์ จุลชีววิทยา เกษตรศาสตร์ หรือสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตรบัณฑิต เภสัชศาสตรบัณฑิต สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต แพทยศาสตรบัณฑิตหรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากสถาบันอุดมศึกษา ที่คณะกรรมการการอุดมศึกษารับรอง โดยต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.50 และสอบภาษาอังกฤษผ่านตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย ม.มหิดล
  • ระดับปริญญาโท: เรียนต่อในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท 2 ปี)สาขาวิชาโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาดทางการสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
  • เข้าสู่อาชีพ นักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiologist)

 

สถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศไทย ที่มีหลักสูตรใกล้เคียง

  • วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ม.สงขลานครินทร์
  • วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
  • วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์  ม.เกษตรศาสตร์
  • วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ (ระบาดวิทยา) สำนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.แม่ฟ้าหลวง
  • หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุข ม.ขอนแก่น

นักระบาดวิทยาภาคสนาม

 

Hard Skills 

  • ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ร่วมการวินิจฉัยโรค 
  • พัฒนาหลักการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา รวมถึงความสามรถในการตัดสินใจ การวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกิดจากการวิเคราะห์ตามอาการและข้อมูลประกอบกัน

Soft Skills

  • ติดตามข่าวสารวงการแพทย์ งานวิจัยใหม่ๆ และพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
  • พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม

กิจกรรมต่างๆ

  • ออกค่าย หรือร่วมกิจกรรมกับกระทรวงสาธารณสุข กองระบาดวิทยา โรงพยาบาลชุมชน เพื่อฝึกและใช้ทักษะการเป็นนักระบาดวิทยาภาคสนาม

       หากจบปริญญาตรีจากทางด้านสาธารณสุข (วิทยาศาสตรบัณฑิต) จะต้องเรียนต่อปริญญาโท เพือจะสามารถประกอบอาชีพนักระบาดวิทยาได้ โดยตัวอย่างหลักสูตรปริญญาโท คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท 2 ปี) สาขาวิชาโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาดทางการสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

       ในสาขาวิชาโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาดทางการสาธารณสุข จะเรียนเกี่ยวกับโรค และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกระจายของโรคในมนุษย์ เน้นในด้านสาธารณสุข จุลชีววิทยา โดยประเทศไทยคือ ประเทศที่ 2 ของโลก ที่มีหลักสูตรนักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือนักสอบสวนโรคที่เป็นหลักสูตรเดียวกับสหรัฐอเมริกาในชื่อหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (field epidemiology training program: FETP)

จุดเด่นของหลักสูตร 

  1. บูรณาการการสอนด้านโรคติดเชื้อ (จุลชีววิทยาและปรสิตวิทยา) โรคไร้เชื้อ วิทยาการระบาด การสาธารณสุขและสุขภาพ เชื่อมโยงกับวิทยาการทันสมัยด้านชีวโมเลกุลและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการวินิจฉัยและการควบคุมป้องกันโรค
  2. เลือกเรียนและทำวิทยานิพนธ์ได้ใน 3 กลุ่มวิชา คือ
    • 2.1 กลุ่มวิชาจุลชีววิทยาโรคติดเชื้อ จุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อม สารสนเทศทางจุลชีววิทยา จุลชีววิทยา ระดับโมเลกุล วิทยาภูมิคุ้มกันของโรคติดเชื้อ และโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล
    • 2.2 กลุ่มวิชาปรสิตสาธารณสุข ปรสิตวิทยาสิ่งแวดล้อม ปรสิตวิทยาระดับโมเลกุล พาหะนำโรค และ ชีวสารสนเทศปรสิต
    •  2.3 กลุ่มวิชาวิทยาการระบาดของโรคติดเชื้อและโรคเรื้องรัง วิทยาการระบาดเชิงสังคม วิทยาการระบาด ระดับโมเลกุล วิทยาการระบาดเชิงพันธุศาสตร์ วิทยาการระบาดด้านพฤติกรรมศาสตร์ อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมวิทยาการระบาดเชิงภูมิสารสนเทศ และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ทางวิทยาการระบาด

วิชาที่เรียน 

ในระดับปริญญาโทต้องเก็บหน่วยกิตรวมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต คือ 

  • หมวดวิชาปรับพื้นฐาน ไม่นับหน่วยกิต เช่น วิชา วิชาโรคติดเชื้อและปัจจัยกำหนดทางการสาธารณสุข
    จะเรียนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานโรคติดเชื้อ เหตุและปัจจัยกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคติดเชื้อประจำถิ่น โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในประชากร การดำเนินงานสาธารณสุขเพื่อการป้องกันและควบคุมโรค
  • หมวดวิชาบังคับ 18 หน่วยกิต เช่น 
    • วิชาชีวสถิติพื้นฐาน เป็นการเรียนโดยใช้ตัวเลขในการแปลผลและนำเสนอข้อมูลทางสถิติ หรือนำมาทำตัวอย่าง ความน่าจะเป็น
    • วิชาหลักวิทยาการระบาด ศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิทยาการระบาดสมัยใหม่ การวินิจฉัยชุมชน การคัดกรองโรค การเฝ้าระวังโรค การสอบสวนการระบาด การวิพากษ์งานวิจัยตีพิมพ์
    • วิชาการจัดการควบคุมโรคติดเชื้อทางการสาธารณสุข คือมีการวางแผนการปฏิบัติการในชุมชน การปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค 
    • วิชาสัมมนาทางโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาด เป็นหัวข้อเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาดเพื่อระบุสาเหตุ
  • หมวดวิชาเลือก รายวิชาเลือกภาควิชาจุลชีววิทยา เช่น
    • วิชาการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นควบคุมโดยวัคซีน ยา สิ่งแวดล้อม
      ควบคุมการติดเชื้อที่แพร่ทางอากาศ การสัมผัส การติดเชื้อที่แพร่โดยแมลงและพาะนำโรค โรคติดเชื้อรับจากสัตว์
    • วิชาการตรวจวินิจฉัยทางจุลชีววิทยาระดับโมเลกุล เป็นเทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุลสมัยใหม่สำหรับการวินิจฉัย การเฝ้าระวัง และการสอบสวนทางวิทยาการระบาดของโรคติดเชื้อ
    • วิชาหัวข้อพิเศษทางโรคติดเชื้อจุลชีพ ศึกษาประเด็นที่สนใจจากบทความวิจัยปัจจุบันในวารสารวิชาการ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และการนำเสนอเพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิทยานิพนธ์
  • หมวดวิชาเลือก รายวิชาเลือกภาควิชาปรสิตวิทยาและกีฏวิทยา เช่น
    • วิชาโรคปรสิตทางด้านสาธารณสุข ศึกษา เป็นการศึกษาประเมินความรุนแรงของปัญหา ภาระโรคและผลกระทบของโรคปรสิต การวางแผนเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคปรสิต
  • หมวดวิชาเลือก รายวิชาเลือกภาควิชาระบาดวิทยา เช่น
    • วิชาการฝึกปฏิบัติภาคสนามทางการควบคุมโรคประจำถิ่น วิชานี้จะได้ลงพื้นที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติระบบงานวิทยาการระบาดในสถานบริการสุขภาพชุมชน
  • วิทยานิพนธ์: หัวข้อครอบคลุมเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและวิทยาการระบาดทางการสาธารณสุข ชีวสารสนเทศศาสตร์ทางจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยาและกีฏวิทยา แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และภูมิสารสนเทศ การประยุกต์วิธีการทางจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยาและวิทยาการระบาดในการป้องกันและควบคุมโรค การปฏิบัติตามจรรยาบรรณการวิจัย

เคล็ดลับการเรียน

       วิชาที่ได้ลงพื้นที่ จะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมคนในชุมชน สิ่งแวดล้อมรอบตัวต่างๆ เก็บเป็นข้อมูล เพื่อนำมาประกอบการวิจัย และเพื่อเป็นการฝึกทักษะช่างสังเกต (observational study) ในการประกอบอาชีพ นักระบาดวิทยาภาคสนาม ต่อไป

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร (ปริญญาโท) 

       150,000 บาท โดยประมาณ

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Georgetown University - Graduate School of Arts & Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา

  • Utrecht University ประเทศเนเธอร์แลนด์

  • University of Oulu ประเทศฟินแลนด์

  • University of Antwerp ประเทศเบลเยียม


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร