ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์
รู้จักอาชีพ > นักบริการ (Service) > ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์

       ผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ หรือหากจะเรียกแบบทับศัพท์ คือ ซอมเมอลิเยร์ (Sommelier) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มประเภทไวน์ (บางแห่งอาจรวมถึงเครื่องดื่มอื่น เช่น เบียร์ น้ำ นม หรือสาเก) ตามร้านอาหารหรือโรงแรม ที่จะคอยแนะนำข้อมูลเชิงลึกให้กับลูกค้าได้ เช่น การหมัก บ่ม อุณหภูมิร้อน เย็น ภาชนะในการจัดเก็บ ซึ่งหากเป็นในด้านของไวน์ ซอมเมอลิเยร์ จะต้องทราบข้อมูลที่เป็นไวน์สลากนี้ตั้งแต่ชนิด วัตถุดิบ แหล่งกำเนิดวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต อาหารที่รับประทานกับไวน์ชนิดต่างๆ รวมไปถึงวิธีการเสิร์ฟ ขั้นตอนการเทไวน์ ความรู้เกี่ยวกับแก้วไวน์ และที่สำคัญจะต้องมีประสาทสัมผัสทางจมูก ลิ้น อย่างดี

       หน้าที่หลักของซอมเมอลิเยร์ จับคู่เมนูอาหารให้เข้ากับไวน์แต่ละชนิด เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ที่ต้องการดื่มไวน์ โดยส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ประจำร้านอาหารระดับ Fine Dining คือการแบ่งอาหารออกเป็นจานย่อยๆ หลายๆ จานหรือที่เรียกว่า คอร์ส (course) หรือบนเรือสำราญ โรงแรม 

Sommelier

Sommelier

Sommelier

 

ลักษณะงาน 

       ซอมเมอลิเยร์จะทำหน้าที่แนะนำไวน์เพื่อให้เหมาะกับอาหารที่ลูกค้าต้องการ เพื่อเป็นการสร้างยอดขายให้กับต้นสังกัดบริษัทผลิตไวน์ที่ตนเองทำงานอยู่ รวมทั้งยังต้องดูแลการเก็บรักษา ควบคุมไวน์ทั้งหมดให้คงไว้ซึ่งคุณภาพและรสชาติตามเดิมมากที่สุด

ขั้นตอนการทำงาน 

  • ต้อนรับ ทักทายลูกค้าที่เข้าใช้บริการด้วยบุคลิกภาพที่ได้รับการฝึกในงานด้านบริการ
  • แนะนำ อธิบายเครื่องดื่มที่เข้ากับความต้องการของลูกค้า และอาหารที่เชฟเสิร์ฟ เพื่อไม่ทำให้อาหารหรือไวน์เสียรสชาติ เช่น หากเชฟเสิร์ฟปลา ซอมเมอลิเยร์จะต้องเสิร์ฟไวน์ขาว เนื่องจากไวน์ขาวเข้ากันได้ดีกับอาหารประเภทปลาหรือผักสีเขียว แต่เมื่อถึงคอร์สที่เป็นอาหารชีสเนื้อนุ่ม หรือคอร์สของหวาน ซอมเมอลิเยร์ก็ควรจะเลือกเสิร์ฟไวน์ที่มีรสชาติหวานให้ลูกค้า 
  • เมื่อเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับลูกค้าเรียบร้อย จะต้องทำการประเมินความพึงพอใจกับลูกค้าอีกครั้ง หลังจากลูกค้ารับประทานอาหารและเครื่องดื่มเรียบร้อยแล้ว 

สถานที่ทำงาน 

  • ร้านอาหาร ภัตตาคาร ระดับ Fine Dining
  • โรงแรมหรู
  • เรือสำราญ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ผู้นำเข้าไวน์หรือบริษัทผู้ผลิตไวน์
  • เจ้าของร้านอาหาร ตัวแทนจากโรงแรม เรือสำราญ ที่ทางเราต้องทำงานด้วย
  • เชฟประจำสถานที่ที่เราทำงาน
  • พนักงานในร้าน

ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ 

       สามารถใช้วิชาความรู้เพื่อประกอบอาชีพด้านการโรงแรมและธุรกิจบริการ หรือธุรกิจ
อื่นที่เกี่ยวข้องกับการงานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน หรือการเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่น

  • พนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม
  • พนักงานแผนกจัดเลี้ยง
  • พนักงานบริหารงานด้านธุรกิจบริการในโรงแรมและธุรกิจด้านบริการ
  • ผู้จัดการร้านอาหาร
  • เจ้าของธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

       ผู้ที่จะประกอบอาชีพ ซอมเมอลิเยร์ จะต้องสอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล เพื่อรับใบประกาศนียบัตรในสายอาชีพโดยมีสถาบันหลักๆ ที่ออกใบรับรองได้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ Court of Masters Sommeliers, International Sommelier Guild, Institute of Masters of Wine และ Wine and Spirits Education Trust

       ตัวอย่างของ Court of Masters Sommeliers (CMS) โรงเรียนสอนซอมเมอลิเยร์ สัญชาติอังกฤษเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด จะต้องสื่อสารภาษาอังกฤษและมีความรู้เรื่องไวน์อย่างดี มีการแบ่งระดับความสามารถตั้งแต่เบื้องต้นถึงสูงสุด
  • Introductory พื้นฐานการผลิตไวน์ ประเภทขององุ่น แหล่งผลิตไวน์หลัก อาหารที่กินคู่กับไวน์ และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเบียร์ สาเก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ 
  • Certified เน้นการบริการและการสื่อสารกับลูกค้าเป็นหลัก
  • Advanced ในขั้นนี้สอนเรื่องการบริการและความรู้ระดับสูงเกี่ยวกับรูปแบบของไวน์ รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตไวน์ 
  • Master ในระดับสูงนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การสอบ โดยผู้ที่ต้องการจะสอบจะต้องทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมไวน์มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี 
*ผู้ที่ผ่านหลักสูตร “Introductory และ “Certified และได้รับใบประกาศจึงจะถือว่าเป็นซอมเมอลิเยร์โดยสมบูรณ์

รายได้

       รายได้ 50,000 - 70,000 ในระดับเชี่ยวชาญ ​(*ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคน)

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ซอมเมอลิเยร์ เป็นอาชีพที่นิยมและมีชื่อเสียงมากในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพนี้ จำนวนน้อย ซึ่งค่าตอบแทนสูงและทำงานได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความฝันสูงสุดของหลายๆ คนที่ประกอบอาชีพนี้คือ World business ค่าตอบแทนสูงถึงหลักแสนเลยทีเดียว

Sommelier

 

  • ค่าตอบแทนสูง
  • มีโอกาสทำงานต่างประเทศ
  • ได้มีประสบการณ์เฉพาะทางเรื่องไวน์ ได้ชิมไวน์หลากหลายสลากทั่วโลก และได้ศึกษาความเป็นมาอย่างแท้จริง
  • ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกค้าและผู้นำเข้าอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์อยู่เสมอ 

 

  • ประสาทสัมผัสเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงาน โดยเฉพาะ ตา จมูก ลิ้น จึงต้องรักษาให้ใช้การได้ดีอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับรสของไวน์ได้อย่างแม่นยำอยู่เสมอ
  • เป็นอาชีพที่มักต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ในการเรียนกับโรงเรียนที่สอนเพื่อประกอบอาชีพ ซอมเมอลิเยร์ โดยเฉพาะเพื่อได้รับใบประกอบวิชาชีพมาตรฐานสากล

 

  • มีใจรักงานบริการ และรักการได้พบปะกับผู้คนหลากหลาย อัธยาศัยดี
  • พูดเก่ง พูดกระชับได้ใจความ และกล้าแสดงออก สามารถสร้างคาแรกเตอร์ของตนเองเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้าได้
  • ช่างสังเกต รู้จักสังเกตความต้องการของลูกค้า
  • ประสาทสัมผัสใช้ได้ดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ตา จมูก ลิ้น 
  • มีความสนใจเกี่ยวกับพันธุ์องุ่นและคุณสมบัติของไวน์ที่ผลิต
  • ผ่านการทดสอบการชิมไวน์ การให้บริการลูกค้า และบททดสอบทางทฤษฎี
  • ทักษะด้านการบริการ ถือเป็นหลักสำคัญเพราะงานของอาชีพนี้คืองานบริการ
  • ทักษะการสื่อสารโดยเฉพาะการพูด เพื่อให้ความรู้ข้อมูลและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า รวมทั้งโน้มน้าวด้วย 
  • ทักษะด้านการสัมผัสรับรส กลิ่น สี
  • ทักษะด้านภาษาทั้งไทยและภาษาอังกฤษในระดับดี
  • ทักษะเฉพาะทางด้านการชิมไวน์ 
  • ทักษะด้านเบื้องต้นด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร

การศึกษา

  • การศึกษา ม.6 หรือเทียบเท่า ปวช. ด้านที่เกี่ยวข้อง รับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถสื่อสาร หรือมีทักษะ ด้านการพูด ฟังและเขียนภาษาไทยในระดับดี
    • องค์ประกอบการคิดคะแนนของกลุ่มการท่องเที่ยวและโรงแรม รูปแบบที่ 1 (ข้อมูลล่าสุดปี 2563 อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
      • GPAX 20%
      • O-NET 30%
      • GAT 50%
      • คะแนนเฉลี่ยต่ำสุดของรายวิชา 28 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 2.75
      • คะแนนรวม ONET ต่ำสุดที่ต้องการ รวมวิชา 01-05 (25)
      • คะแนนขั้นต่ำของ ONET วิชา 01 ภาษาไทย (5)
      • คะแนนขั้นต่ำของ ONET วิชา 02 สังคมศึกษา (5)
      • คะแนนขั้นต่ำของ ONET วิชา 03 ภาษาอังกฤษ (5)
      • คะแนนขั้นต่ำของ ONET วิชา 04 คณิตศาสตร์ (5)
      • คะแนนขั้นต่ำของ ONET วิชา 05 วิทยาศาสตร์ (5)
      • คะแนนขั้นต่ำของ GAT รวม วิชาความถนัดทั่วไป (50)
      • คะแนนขั้นต่ำของ GAT ส่วนที่ 1 (25)
      • คะแนนขั้นต่ำของ GAT ส่วนที่ 2 (25)
  • เข้าศึกษาต่อสาขาวิชาการจัดการด้านธุรกิจโรงแรม หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม ด้านอาหาร เป็นต้น 
  • สอบวัดระดับตามมาตรฐานสากล เพื่อรับใบประกาศนียบัตรในสายอาชีพ

ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอนในประเทศไทย 

  • สาขาวิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ม.กรุงเทพ
  • สาขาวิชาการจัดการโรงแรม คณะการท่องเที่ยวและโรงแรม ม.มหาสารคาม
  • สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • สาขาวิชาการจัดกาการโรงแรมและอิเว็นตส์ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น 
  • สาขาวิชาการจัดการโรงแรม คณะวิทยาการจัดการ ม.ศิลปากร
  • สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิชาการจัดการโรงแรม คณะบริการธุรกิจ ม.หอการค้าไทย
  • สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ม.รังสิต

Sommelier

 

Hard Skills 

  • พยายามศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวน์แต่ละชนิดให้ได้มากและลึกที่สุด

  • ฝึกเทส เก็บ จด จำ กลิ่น สี รสชาติเครื่องดื่่มไวน์ที่เราได้ชืม เพื่อเป็นข้อมูลของเราไว้บริการลูกค้า

  • ฝึกทักษะด้านภาษาอังกฤษ 

Soft Skills

  • ฝึกการพูดต่อหน้าผู้คน ให้คล่องแคล่วกระชับ และโน้มน้าวใจให้เป็น 

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • ออกเวทีแข่งขันสำหรับ ซอมเมอลิเยร์ เพื่อเพิ่มทักษะ ประสบการณ์

       ตัวอย่างหลักสูตรการเรียนการสอนของอาชีพนี้ คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโรงแรม วิทยาลัยดุสิตธานี เป็นหลักสูตร 4 ปี เรียนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษในกลุ่มวิชาเอกบางวิชา

วิชาที่เรียน

       เน้นการโรงแรมทั้งหมด การบริการ ต้อนรับ อาหาร เครื่องดื่ม พร้อมกับฝึกภาคสนามจริง 1,500 ชั่วโมง และเรียน 6 วันต่อสัปดาห์

  • ปี 1 สร้างแรงบันดาลใจงานด้านอุตสาหกรรมบริการ (Inspiration) เรียนเกี่ยวกับงานโรงแรมในวงกว้าง การบริการและต้อนรับส่วนหน้า การปฏิบัติงานแม่บ้าน การบริการอาหารและเครื่องดื่ม การผสมเครื่องดื่มและความรู้เกี่ยวกับไวน์ และได้บูรณาการเรียนกับการทำงาน (Work integrated Learning: WIL) และที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงานโรงแรม
  • ปี 2 การฝึกปฏิบัติภาคสนาม (Service Provider) จากการเรียนรู้รายวิชาปฏิบัติต่างๆ ในชั้นปีที่ 1 นำมาต่อยอดในการไปฝึกปฏิบัติภาคสนามในโรงแรมต่างๆ ทั้งในเครือและนอกเครือ รวมทั้งการฝึกงานในต่างประเทศ โดยเน้นการปฏิบัติงานตามมาตรฐานโรงแรมระดับสูงต่างๆ เรียนรู้การเป็นผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ปฏิบัติงานต้อนรับส่วนหน้า และการจัดการงานแม่บ้าน(จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมง)
  • ปี 3 พื้นฐานการจัดการ และรายวิชาเอกเฉพาะ (Managerial and Cluster Subjects) ได้เรียนรายวิชาเกี่ยวกับการจัดการ เกี่ยวข้องกับทางธุรกิจ เช่น จริยธรรมทางธุรกิจ หลักเศรษฐศาสตร์ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ การเงินธุรกิจ การตลาดและการขายสำหรับการจัดการธุรกิจโรงแรม การบัญชีโรงแรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเลือก กลุ่มวิชาเอกเฉพาะ (Cluster Subjects) ได้แก่ กลุ่มวิชาการจัดการโรงแรมสำหรับผู้บริหาร กลุ่มวิชาการท่องเที่ยวและการพักผ่อน กลุ่มวิชาด้านสุขภาพและความงาม กลุ่มวิชาการจัดการประชุม นิทรรศการ งานแสดงสินค้า อิเว็นตส์ และธุรกิจบันเทิง กลุ่มวิชาการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) และฝึกปฏิบัติภาคสนามในกลุ่มวิชาที่ตนเองเลือก (จำนวนไม่น้อยกว่า 500 ชั่วโมง) หรือ เลือกการทำโครงการศึกษาความรอบรู้เฉพาะเรื่อง (กลุ่มวิชาเอกเลือก 15 หน่วยกิต ต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.00)
  • ปี 4 การบูรณาการระหว่างการเรียนและประสบการณ์การทำงาน (Integration) หลังจากที่ได้เรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นรายวิชาในการสร้างมุมมองของนักบริหารจัดการ เช่น การจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ การสื่อสารตราสินค้า วิธีวิทยาการวิจัยทางธุรกิจ การจัดการธุรกิจโรงแรม และจริยธรรมทางธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีวิชาเลือกเสรี 1 และ 2 เลือกเรียน การผสมเครื่องดื่มและไวน์ขั้นสูง เมื่อสำเร็จการศึกษา 4 ปี สามารถนำความรู้ส่วนนี้ไปต่อยอดในการเรียน เพื่อสอบใบประกาศนียบัตรในสายอาชีพ สำหรับอาชีพซอมเมอลิเยร์ โดยเฉพาะ

เคล็ดลับการเรียน 

       เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงที่ออกไปภาคสนามให้ได้มากที่สุด เพราะจะเป็นผลดีในตอนที่ทำงาน หรือฝึกงาน มีโอกาสได้ทำงานที่ตรงสาย เมื่อจบการศึกษาทันที

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       321,950 บาท (ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับรายวิชาที่นักศึกษาเลือกลงทะเบียน และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม)

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Ecole hoteliere de Lausanne สวิตเซอร์แลนด์
  • School of Hotel Administration at Cornell University สหรัฐอเมริกา
  • Rosen College of Hospitality Management at the University of Central Florida สหรัฐอเมริกา
  • Hotelschool The Hague เนเธอร์แลนด์

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร