ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ
ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ
ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ
ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ
รู้จักอาชีพ > นักจัดการ (Organize) > ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ

       การจราจรบนท้องถนนมีทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ มีระเบียบกฎกณฑ์การจราจร แต่บนท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ มีเพียงเมฆหรือบางครั้งก็ลมฝน ตำรวนจราจรทางอากาศจึงเป็นงานของ Air Traffic Controller หรือผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ที่จะทำหน้าที่ผู้ตรวจตรา ควบคุม และดูแลกิจการด้านการขนส่งและคมนาคม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยและตามกำหนดที่วางไว้ รวมถึงการควบคุมเส้นทาง และกำหนดเวลาการบินของอากาศยาน โดยพิจารณาจากจำนวนผู้โดยสาร สินค้า สภาพอากาศ และสภาพการปฏิบัติงานของอากาศยาน การควบคุมเส้นทางและการส่งวิทยุกระจายเสียงโทรเลข โทรศัพท์ และโทรสาร เพื่อให้การส่งกระแสข่าวสารเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

งานควบคุมการจราจรทางอากาศตามแบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกในปัจจุบันแบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ชนิด โดยจำแนกตามบริเวณที่ควบคุมคือ
1. การควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณท่าอากาศยาน ( Aerodrome Control Service )
2. การควบคุมจราจรทางอากาศ เขตประชิดท่าอากาศยาน ( ApproachControl Service )
3. การควบคุมจราจรทางอากาศตามเส้นทางบิน ( Area Control Service )
 
       โดยหลักแล้ว หน้าที่ของผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ ตรวจสอบตารางการบินของสายการบินทุกสาย ที่แจ้งการขึ้นลงของเครื่องบินโดยสารที่มีข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยควบคุมการบินของอากาศยานภายในอาณาเขตที่กำหนด ทั้งการขึ้น และการลงสนามบิน เพื่อให้มีความปลอดภัยทั้งนักบิน เจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบิน และผู้โดยสาร ซึ่งผู้ควบคุมต้องสังเกตเรด้าแสดงตำแหน่งอากาศยาน เพื่อเตรียมการสั่งการกับนักบินในการนำเครื่องบินขึ้นหรือลง และประสานงานติดต่อทางวิทยุกับอากาศยานซึ่งอยู่ภายในบริเวณสนามบิน และสั่งการนำเครื่องบินขึ้นและลง และระดับ ความสูงของการบิน รวมถึงแนะนำนักบินในการวิ่งเข้า/ออกในพื้นทางวิ่งรันเวย์ / แทกซี่ิ ติดต่อกับอากาศยานในเส้นทางบินระหว่างท่าอากาศยาน สั่งงาน ให้คำแนะนำ และแจ้งข่าวสารต่างๆ แจ้ง สภาพอากาศที่สนามบินและตามเส้นทางบิน จากนั้นจึงบันทึกรายงานข่าวที่ได้รับจากอากาศยาน
 

ขั้นตอนการทำงาน 

  • เปิดคอมพิวเตอร์เช็คข้อมูลข่าวสารสำคัญอะไรที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการทำงาน เช่น สภาพอากาศปกติหรือไม่ ในสนามบินมีพื้นที่ปิดซ่อมบริเวณไหน ที่เราควรให้นักบินหลีกเลี่ยง เป็นต้น 
  • ตรวจสอบตารางการบินและเส้นทางการบิน
  • ตรวจสอบเรด้าแสดงตำแหน่งอากาศยาน 
  • ติดต่อสื่อสารกับนักบินให้คำแนะนำนักบินในเส้นทางการบิน และการขึ้นและลงสนามบินตามอาณาเขตที่กำหนด
  • บันทึกรายงาน

สถานที่ทำงาน 

       ศูนย์ควบคุมการบินต่างๆ  หรือหอบังคับการบินของบริษัทเอกชน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องมีอุปกรณ์การทำงานพร้อม เครื่องมือวิทยุสื่อสาร เรดาร์จับสัญญาณต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีสถานที่ทำงานที่แน่นอน 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • นักบิน
  • เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเครื่องบินขึ้นลงภายในท่าอากาศยาน 

ทางเลือกอาชีพ 

  • เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนามบิน
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายขนส่งสินค้าทางอากาศ/เจ้าหน้าที่แผนกคลังสินค้าทางอากาศ
  • เจ้าหน้าที่แผนกรองรับที่นั่ง/บริการลูกค้า/ชิปปิ้งสายการบิน
  • พนักงานบริการและต้อนรับบนเครื่องบิน/เจ้าหน้าที่บริการและต้อนรับภาคพื้น
  • อาจารย์สถาบันการศึกษา/วิทยากรบรรยาย

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

       เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศส่วนใหญ่จะทำงานภายใต้ระบบรัฐวิสาหกิจ หรืออาจเป็นเอกชน หากปฏิบัติหน้าที่นี้มานานจนมีความชำนาญและหากได้รับการ อบรมในหลักสูตรวิชาชีพชั้นสูงขึ้นไปจะสามารถเลื่อนขั้นไปจนถึงตำแหน่งหัวหน้า หากมีความสามารถในการบริหาร และมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขสามารถได้เลื่อนขึ้นจนถึงตำแหน่งสูงสุดคือผู้บริหารขององค์กร

ในบริษัทวิทยุการบิน ตำแหน่งจะเรื่มต้นจาก เจ้าหน้าที่ข้อมูลการบิน > เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ > เจ้าหน้าที่ Area Control Center > 
Supervisor ของแต่ละผลัดการทำงาน  > ผู้จัดการการบิน และสามารถย้ายสายงานเพื่อเติบโตไปด้านงานบริหารต่อไป 

รายได้

       หากทำงานเป็นรัฐวิสาหกิจ เงินเดือนเริ่มต้นช่วงเริ่มต้นในการเป็นนักเรียนฝึกหัด ยังไม่มีประสบการณ์จะได้รับเงินเดือนประมาณ 19,000  บาทต่อเดือน (อ้างอิงจากการประกาศรับสมัครงานในปี 2560) แต่เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว จะใบประกอบวิชาชีพ เงินเดือน รวมทั้งค่าโอที ค่าอื่นๆ อีก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจมีรายได้โดยรวมถึง 50,000-100,000 + บาท โดยประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ๆ ด้วย 

 

  • รายได้ดี สวัสดิการดี ชั่วโมงทำงานน้อย 
  • เก็บประสบการณ์การทำงานด้านนี้มากๆ จะทำให้ฝึกแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างคล่องแคล่ว
  • ช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และจะเป็นคนที่มีสมาธิสูงมาก เพราะเวลาทำงานต้องนิ่ง โฟกัสงานสุดๆ  
  • ข้อจำกัดหลักๆ ที่คนทำอาชีพนี้ต้องเข้าใจเลยคือ เรื่องของเวลาที่จะเข้าออกงานไม่เหมือนอาชีพอื่น ๆ เพราะจะต้องเข้าผลัด มีชั่วโมงการทำงาน 12 ชั่วโมง คือ ทำงาน 2 ชั่วโมง แล้วพัก 1 ชั่วโมง (Control เครื่องบิน 1 ชั่วโมง และ Assistant 1 ชั่วโมง) เข้าเวร Morning Shift เริ่ม 08.00 - 20.00 น. แล้วพัก 24 ชั่วโมง แล้วสลับมาเข้า Night Shift เริ่ม 2 ทุ่ม เลิก 8 โมงเช้า แล้วถึงจะพัก 48 ชั่วโมง

 

  • มีความอดทน และสามารถควบคุมอารมณ์ในทุกสถานการณ์ได้ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ดี  มีความสามารถเป็นทั้งผู้นำและผู้ตามได้
  • มีสมาธิสูง
  • ทักษะการสื่อสาร ถือเป็นงานหลักของอาชีพนี้เลยที่ต้องใช้การสื่อสารโดยเฉพาะกับนักบิน ดังนั้นจึงเป็นทักษะที่ขนาดไม่ได้ เพื่อให้การสื่อสารชัดเจน รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ 

  • ทักษะการจัดการ ที่ช่วยให้กการจัดการเวลา การจราจร รวมทั้งควบคุมดูแลให้เครื่องบินต่าง ๆ ไปให้ถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • แก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ต้องสามารถตัดสินใจในการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็ว เพราะในงานอากาศยานและการบินอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้เสมอ 

  •  

    ทักษะภาษาอังกฤษ เป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ เพราะในด้านการบินนั้นเป็นการประสานงานในระดับสากลและจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้สื่อสารกับนักบินที่เป็นชาวต่างชาติ 

     

     

       นอกจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า สามารถสมัครเข้าสอบคัดเลือกเข้าสถาบันการบินพลเรือน โดยเลือกในหลักสูตรควบคุมจราจรทางอากาศได้ หลักสูตรนี้จะใช้เวลาการศึกษา 2 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับอนุปริญญา และสามารถสมัครงานประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศได้เลย

การศึกษา

  • มัธยม - เรียนสายใดก็ได้ 
  • ปริญญาตรี - สาขาจัดการจราจรทางอากาศ สถาบันการบินพลเรือน

 

เมื่อจบการศึกษาแล้ว ต้องการสอบ ATC ของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. การสอบข้อเขียน  ข้อสอบจะมี 3 วิชา ความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ (ระดับม.ปลาย) ความรู้ความสามารถทั่วไป (Aptitude Test) ความรู้พื้นฐานทั่วไป (ภูมิศาสตร์กายภาพ / ความรู้ทั่วไป / ความรู้เบื้องต้นด้านคอมพิวเตอร์)
  2. ทดสอบทักษะในการใช้แป้นคอมพิวเตอร์ (keyboard) หรือสอบพิมพ์ดีด เกณฑ์พิมพ์ภาษาอังกฤษได้ไม่ต่ำกว่า 25 คำต่อนาที 
  3. สอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ ลักษณะการสอบจะเทียบเคียงกับการสอบวัดระดับมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษที่กำหนดของ ICAO ซึ่ง ATC และนักบินจะต้องผ่านการทดสอบนี้ทุกคน และอย่างน้อยต้องได้ในระดับ 4 (Operation Level/Level 4) เพราะนักบินต้องบินไปทั่วโลก ATC เองก็ต้องเจอนักบินที่มาจากทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่เราจะใช้ในการสื่อสาร ดังนั้นความสามารถในการพูดโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษจึงสำคัญมากๆ
  4. การตรวจร่างกายและจิตวิทยาการบิน ต้องเข้ารับการตรวจร่างกายและทำข้อสอบจิตวิทยาการบินกับคุณหมอ นักจิตวิทยาที่สถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ
  5. สอบสัมภาษณ์ภาษาไทย ในขั้นตอนนี้จะเป็นการสัมภาษณ์โดยกรรมการและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ 


       เมื่อเข้ามาเป็นพนักงานของวิทยุการบิน ถ้าจบปริญญาตรีจากสถาบันการบินพลเรือนมาโดยตรงในสาขาจัดการจราจรทางอากาศจะอยู่ในตำแหน่ง “นักเรียนฝึกหัดควบคุมจราจรทางอากาศ”  เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นก็จะปฏิบัติงานจริง แต่ถ้าจบจากสถาบันอื่นจะต้องเรียนและฝึกต่อกับสถาบันการบินพลเรือน ต่อไปอีกประมาณ 9 เดือน ก่อนจะออกปฏิบัติงานจริงได้ 

Hard Skills 

  • ฝึกภาษาอังกฤษให้คล่องปาก เพราะได้อย่างแน่นอน
  • อ่านหนังสือเกี่ยวกับการบินให้มาก ๆ  เพราะจะต้องอาศัยการจำค่อนข้างเยอะ
  • เรียนรู้เคสการบินที่เคยผ่านๆ มา ทั้งที่ถูกต้อง และผิดพลาด เพื่อนำมาเป็นครูสอนเรา

Soft Skills

  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร เพื่อต่อยอดอาชีพให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารหรืออาชีพอื่น ๆ 

 

       อาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนตรงสาย ก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ แต่ถ้าจะให้เห็นภาพว่าต้องเรียนอะไรจริง ๆ คำตอบ สถาบันการบินพลเรือน  Civil Aviation Training Center เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่นี่จะเป็นมาตรฐานสากล โดยจะมีการแบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 3 หลักสูตร มี หลักสูตรภาคพื้น หลักสูตรภาคอากาศ และหลักสูตรฝึกอบรม ซึ่งในแต่ละหลักสูตรมีรายละเอียดการเรียนการสอนดังต่อไปนี้
 
หลักสูตรภาคพื้น (Ground Training Programme) แบ่งเป็น 4 หลักสูตร ได้แก่
1. หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต (Bachelor of Technology in Aviation Program in Aviation Management) สาขาวิชาการจัดการการบิน หลักสูตร 4 ปี เปิดรับนักเรียน ม.6 สายวิทย์ - คณิต และ สายศิลป์ ก็คือจะเรียนรวมกัน 2 ปี พอขึ้นปี 3 ถึงจะมาเลือกสาขาวิชาเอกอีกที โดยจะมีให้เลือก 3 สาขา
  • วิชาเอกการจัดการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Management Program : ATM)
  • วิชาเอกการจัดการท่าอากาศยาน (Airport Management Program : APM)
  • วิชาเอกการจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Management Program : ACM)
 
2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Engineering) หลักสูตร 4 ปี เปิดรับนักเรียน ม.6
สายวิทย์ - คณิต มี 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์การบิน (Avionic Engineering Program : AEE)
 
3. หลักสูตรอนุปริญญา (ปวส.) เป็นหลักสูตร 2 ปีครึ่ง มี 3 หลักสูตร ได้แก่
  • หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชานายช่างบำรุงรักษาอากาศยาน (Aircraft Maintenance – Aircraft  Maintenance Engineer Licence) เปิดรับนักเรียน ม.6 สายวิทย์ - คณิต และ ปวช. แผนกเครื่องกล และเครื่องยนต์
  • หลักสูตรการบำรุงรักษาเครื่องวัดประกอบการบิน (Aircraft Maintenance – Aircraft Instrument)
  • หลักสูตรอนุปริญญาสาขาวิชาเทคโนโลยีอากาศยาน (อิเล็กทรอนิกส์การบิน) เปิดรับนักเรียน ม.6  สายวิทย์ - คณิต และ ปวช. แผนกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
4. หลักสูตรเทคโนโลยีการบินบัณฑิต-ต่อเนื่อง (Bachelor of Technology in Aviation (Continuing Program) ) เป็นหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี มี 2 สาขาวิชา ได้แก่
  • สาขาวิชาการจัดการท่าอากาศยาน-ต่อเนื่อง  (Program in Airport Management (Continuing  Program) 
  • สาขาวิชาการจัดการการขนส่งสินค้าทางอากาศ-ต่อเนื่อง  (Program in Air Cargo Management  (Continuing Program)
 
หลักสูตรภาคอากาศ (Flying Training Programme) แบ่งเป็นหลักสูตร ดังนี้
  •  หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์)
  • หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (เฮลิคอปเตอร์)
  • หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (เครื่องบิน)
  • หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (เครื่องบิน)
  • CATC Aircraft Fleet
หลักสูตรฝึกอบรม (Specific Training Programme) แบ่งเป็น 2 ได้แก่
1. Operations Group Schedule
  • Air Traffic Control License & Rating
  • Air Traffic Controller License & Aerodrome Control Rating
  • Approach Terminal Control Non-Radar Procedural
  • Approach Terminal Control Radar
  • Area Airways Control Non-Radar Procedural
  • AIS Officer
  • AIS Cartography
  • Flight Operations Officer / Flight Dispatcher
  • Flight Operations Officer Refresher
  • Aviation Introductory to Flight Operations Officer / Flight Dispatcher
  • Search & Rescue Administration
  • CNS/ATM Technologies For Air Traffic Service Manager
  • Safety Management System
  • Aviation Security Management
  • Human Factor For Operational Personnel
  • Meteorology For Aviation Personnel
  • Performance-Based Navigation
  • Controller – Pilot Data Link & Communication
  • Aerodrome Certification
2. Aircraft Maintenance Group
  • Helicopter Maintenance Special
  • Skill Test For Aircraft Maintenance Engineering

 

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       ประมาณการค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ  100,000 - 400,000 บาท

 

มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

  • The Associate of Arts in Air Traffic Control / Florida Institute of Technology / United States
  • Bachelor of Science in Air Traffic Management (ATM) / Embry-Riddle Aeronautical University - Daytona Beach / United States
  • Bachelor of Scienc in air traffic controller(ATC) / College of Aeronautics / United States
  • Associate of applied arts and sciences degree in Aviation Air Traffic Control / Aviation Department HESSTON College
  • เจ้าหน้าที่ในองค์การและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายการบิน
  • งานด้านความปลอดภัยการบินในท่าอากาศยาน สายการบิน ภาคพื้น และบริษัทวิทยุการบิน
  • งานด้านความปลอดภัยในอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  • งานด้านการบิน (นักบินพาณิชย์และนักบินส่วนบุคคล) ฯลฯ

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร