วิสัญญีแพทย์
วิสัญญีแพทย์
วิสัญญีแพทย์
วิสัญญีแพทย์
       วิสัญญีแพทย์ คือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านการให้ยาชาและยาสลบ หรือที่มักเรียกติดปากกันว่าหมอดมยา หน้าที่หลักของวิสัญญีแพทย์คือการดูแลผู้ป่วยในห้องผ่าตัดให้ได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากที่สุดทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังการผ่าตัด โดยการช่วยระงับความเจ็บปวด ด้วยวิธีการให้ยาแบบต่าง ๆ ทั้งยาชาเฉพาะจุด ที่ช่วยทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือยาสลบ ที่ทำให้หลับหรือหมดสติไปเลยและผ่านพ้นการผ่าตัดไปได้ด้วยดี รวมถึงคอยติดตามดูอาการในช่วงพักฟื้น
       นอกจากคอยดูแลคนไข้แล้ว วิสัญญีแพทย์ยังต้องคอยช่วยเหลือศัลยแพทย์ในระหว่างทำการผ่าตัด เช่น คอยเฝ้าสังเกตความดันโลหิตของคนไข้ระหว่างผ่าตัด ภาวะช็อค ดูแลออกซิเจน หรือสัญญาณชีพอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติและเป็นอันตรายต่อคนไข้ได้ และต้องแก้ไขสถานการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลถึงชีวิตได้ เรียกได้ว่าวิสัญญีแพทย์นั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญมาก ๆ สำหรับการผ่าตัดเลยทีเดียว
       ในปัจจุบันหน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ได้ขยายออกไปนอกเหนือจากการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดแล้ว โดยรวมไปถึงการระงับความรู้สึกระหว่างการทำหัตถการอื่น ๆ ด้วย เช่น การเอกซเรย์ด้วยเครื่อง MRI หากคนไข้กลัวที่แคบ วิสัญญีแพทย์อาจต้องช่วยทำให้คนไข้หลับก่อนเข้าเครื่อง หรือในด้านจิตเวชที่มีการช็อคไฟฟ้าสมอง วิสัญญีแพทย์เองก็ต้องเป็นผู้ช่วยทำให้หลับ การอยู่ในทีมช่วยกู้ชีวิตให้ฟื้นคืนชีพ ช่วยระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นที่ปรึกษาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ

วิสัญญีแพทย์

วิสัญญีแพทย์

วิสัญญีแพทย์

 

ลักษณะการทำงาน

       วิสัญญีแพทย์จะใช้ศาสตร์หลายอย่างประกอบกันในการทำหน้าที่ โดยหลัก ๆ แล้ว อย่างแรกคือต้องเข้าใจหลักการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ส่วนไหนทำหน้าที่อะไร ถ้าเกิดความผิดปกติจะแสดงสัญญาณอะไรที่ต้องสังเกต และนำความรู้นี้ไปผนวกกับองค์ความรู้ในการใช้ยาต่าง ๆ งานส่วนมากนั้นเริ่มตั้งแต่การประเมินผล วินิจฉัย การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัด การดูแลเฝ้าระวังในระหว่างผ่าตัด ไปจนถึงการติดตามผล อาการของคนไข้หลังการผ่าตัด
โดยวิสัญญีแพทย์นั้นต้องมีไหวพริบและการตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไว ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วนให้มากที่สุด เพราะงานที่ทำนั้นต้องแข่งกับเวลา และเกี่ยวโยงถึงความเป็นความตายของคนไข้โดยตรง จึงเป็นอาชีพที่ค่อนข้างเครียดและมีความกดดันสูงไม่น้อยไปกว่าศัลยแพทย์เลย

หน้าที่หลักโดยทั่วไปของวิสัญญีแพทย์ คือ
  • การระงับความเจ็บปวดแก่คนไข้
  • การวางยาเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น การวางยาสลบของการผ่าตัดสมอง การผ่าตัดหัวใจ
  • การรักษาชีวิตของคนไข้ระหว่างการผ่าตัด
  • การดูแลติดตามผลและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด

 

ขั้นตอนการทำงาน

  • ทำการประเมินเคสผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพื่อวางแผนเตรียมการทำงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยพิจารณาจากผลการตรวจและทำการปรึกษากับแพทย์คนอื่น
  • ประเมินความพร้อมของผู้ป่วย และเลือกวิธีการที่จะใช้ในการทำวิสัญญี เช่น ใช้ยาชาเฉพาะจุด ดมยาสลบ บล็อกไขสันหลัง ประเมินเวลาที่ต้องใช้ตามประเภทของการผ่าตัด เพื่อกะปริมาณของยาที่ต้องใช้ และสอดคล้องกับสภาพร่างกายคนไข้
  • อาจมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ก่อนวางยา ว่าจะหลับยาว หลับสั้น หรือมีการปลุกให้ตื่นขึ้นมาระหว่างการผ่าตัดไหม เพื่อให้คนไข้รับรู้ขั้นตอนการทำงานด้วย
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ สำหรับการผ่าตัดในส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เช่น อาจต้องใช้ จอภาพ (Monitor) พื้นฐาน ใส่ท่อสายยางต่าง ๆ ที่ต้องใช้สำหรับผู้ป่วยแต่ละกรณี ซึ่งความต้องการจะแตกต่างกันไป
  • ก่อนทำการวางยาสลบเพื่อผ่าตัด จำเป็นต้องให้คนไข้งดน้ำ อาหาร ขั้นต่ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงให้ท้องว่าง เวลาให้ยาสลบเข้าสู่ร่างกายและผ่านกระเพาะอาหารจะได้ไม่มีอาการสำลักจากเศษอาหารที่หลงเหลืออยู่ และต้องไปเยี่ยมคนไข้ในคืนก่อนผ่าตัดเพื่อเช็คสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ ดูว่าลืมกินยาอะไรไหม ฯลฯ
  • ระหว่างการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ต้องคอยเฝ้าสังเกตดูสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิตและเครื่องช่วยหายใจ ว่าเกิดสิ่งผิดปกติหรือไม่ และเป็นผู้ที่รับมือแก้ไขสถานการณ์ เพราะศัลยแพทย์จะใช้สมาธิกับการลงมือผ่าตัดอยู่
  • หลังผ่าตัด ต้องคอยติดตามอาการของคนไข้ในช่วงพักฟื้นต่อว่ามีอาการผิดปกติหรือผลข้างเคียงจากยา จากการผ่าตัดใด ๆ หรือไม่ และให้คำแนะนำคนไข้ในการปฏิบัติตัวต่าง ๆ

สถานที่ทำงาน

  • โรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล สถานีอนามัย ภายในห้องผ่าตัด ห้องพักผู้ป่วย 
  • หน่วยงานฝ่ายการแพทย์ของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ หรือแพทย์เจ้าของไข้ที่วิสัญญีแพทย์ต้องให้ยาคนไข้ ก่อนแพทย์ท่านนั้นจะทำหัตถกรรมใด ๆ
  • นักเทคนิครังสี
  • พยาบาล พนักงานผู้ช่วยแผนกอื่นในโรงพยาบาล ฯลฯ
  • คนไข้ 

 

เงินเดือน วิสัญญีแพทย์

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

  • สายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์
  • สายรัฐบาล มีการเลื่อนขั้นตามระบบราชการ
  • สายเอกชน หากมีความสามารถอาจได้เป็นหัวหน้าแผนก หรือขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหาร

รายได้

       วิสัญญีแพทย์เป็นแพทย์เฉพาะทาง จะมีค่าตอบแทนที่แตกต่างกันตามความสามารถเฉพาะทางของตน โดยประมาณรายได้อยู่ที่ 60,000 บาท/เดือน ขึ้นไป 
หากทำงานในโรงพยาบาลเอกชน จะมีรายได้ประมาณ 150,000 - 300,000 บาท/เดือน บวกค่าทำหัตถการของวิสัญญีแพทย์ ไม่เกิน 10% ของค่ารักษา
นอกจากนั้นยังสามารถรับเคสเพื่อหารายได้เสริมตามความขยันได้อีก จึงทำให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างสูงพอสมควร

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ปัจจุบันสำหรับอาชีพวิสัญญีแพทย์นี้ยังไม่ถือว่าขาดแคลนมากนักในเมือง แต่ในต่างจังหวัดและโรงพยาบาลบางที่อาจยังขาดอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของแพทย์ โรงพยาบาลรัฐฯ  บางที่อาจยังเป็นวิสัญญีพยาบาลเป็นผู้ช่วยวางยาสลบไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ แม้จะสามารถทำได้ แต่ก็จะไม่ครอบคลุมเท่าวิสัญญีแพทย์ ดังนั้นจึงยังมีความต้องการอาชีพนี้อยู่เช่นกัน

 

 

 

  • หากไม่ได้อยู่รพ.รัฐฯ จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่จำเป็นต้องอยู่เวรตลอด 
  • เป็นสาขาที่รายได้ค่อนข้างสูง และเป็นที่ต้องการ และสามารถรับเคสงานที่อื่นเพิ่มได้
  • เป็นงานที่ได้รับคุณค่าทางจิตใจจากการช่วยเหลือเยียวยาผู้อื่น
  • มีความกดดันสูง ต้องทำงานในสภาวะตึงเครียด พลาดนิดเดียวอาจหมายถึงชีวิตของคนไข้ได้
  • มีเวลานอนและพักผ่อนน้อยตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์
  • เวลาที่ทำงานอยู่จะไม่สามารถปลีกตัวไปไหนได้เลยเพราะเกี่ยวพันถึงชีวิต
  • มีความสนใจหรือความชอบในอาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
  • เป็นคนละเอียดรอบคอบ ใส่ใจรายละเอียดจุดเล็ก ๆ มีความรับผิดชอบ
  • คิดไวทำไว มีทักษะการใช้มือ ทำหัตถการคล่องแคล่ว
  • รับแรงกดดันในการทำงานได้ เพราะหน้าที่ในห้องผ่าตัดนั้นหากผิดพลาดแม้นิดเดียวก็หมายถึงชีวิตของคนไข้
  • ทักษะวิชาชีพของวิสัญญีแพทย์ การให้ยาระงับความรู้สึก การกู้ชีพ การดูแลผู้ป่วย กระบวนการคุณภาพและความปลอดภัย
  • ทักษะการรับมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีไหวพริบ การควบคุมสติ 
  • มีความละเอียดรอบคอบสูง เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตคนในสถานการณ์คับขัน
  • ทักษะทางวิทยาศาสตร์และทักษะภาษาอังกฤษ
  • ทักษะด้านการสื่อสาร จิตวิทยาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

เรียน วิสัญญีแพทย์

การศึกษา

        เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ในระดับมัธยมศึกษา และเข้าเรียนคณะแพทย์เป็นเวลา 6 ปี ตามหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต จากนั้นสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากใครต้องใช้ทุน จากนี้จะเป็นช่วงที่ทำงานชดใช้ทุนก่อนประมาณ 1-3 ปี (อาจไม่ถึง 3 ปีหากได้ทุนไปเรียนเฉพาะทางก่อน) หลังจากนั้นจึงเลือกศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางด้านวิสัญญีแพทย์อีก 3 ปี เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาวิสัญญีวิทยา (ว.ว. สาขาวิสัญญีวิทยา) จากนั้นจึงทำการสอบวุฒิบัตรวิสัญญีวิทยาซึ่งอนุมัติโดยแพทย์สภาสำหรับราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยและหากต้องการเป็นวิสัญญีแพทย์เฉพาะทางต้องศึกษาต่ออีก 2 ปี

 

สถาบันที่เปิดสอน

  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิสัญญีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิสัญญีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิสัญญีวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลภาควิชาวิสัญญีวิทยา
  • คณะแพทยศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย ภาควิชาวิสัญญี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Hard Skills

  • ทักษะและความรู้ทางวิสัญญีวิทยา

  • ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ

  • ทักษะการทำหัตถการ ฝึกฝนการใช้มือให้คล่องแคล่ว

Soft skills

  • ฝึกการตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว คิดและลงมือทำให้ไว
  • เพิ่มความละเอียดรอบคอบ ฝึกการสังเกตสัญญาณผิดปกติต่าง ๆ
  • ฝึกทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพในเวลาจำกัด การให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือวิชาการและงานวิจัย
  • แหล่งความรู้ออนไลน์ต่าง ๆ

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

       "ความภูมิใจของเราก็คือรอยยิ้มของคนไข้ บางคนผ่าตัดตื่นมา สิ่งแรกคือยิ้มเลย ขอบคุณครับผมไม่รู้สึกอะไรเลย สบายจังไม่เหมือนมาผ่าตัดเลย เพราะการผ่าตัดทุกคนกลัวเจ็บ
แต่ถ้าวิสัญญีแพทย์เก่งมากจะไม่เจ็บเลย ตื่นขึ้นมาสบายเลย รอยยิ้มและคำขอบคุณนี่แหละคือสิ่งสำคัญ"

นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ อาจารย์ประจำภาควิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วิชาที่เรียน

  • Correlated basic medical science พื้นฐานการแพทย์ทั่วไป
  • Sciences in Anesthesiology ความรู้พื้นฐานสำหรับการระงับความรู้สึก คือ สรีรวิทยา, เภสัชวิทยา, ชีวเคมี, ฟิสิกส์, เครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิสัญญีวิทยา
  • Clinical Anesthesiology การให้ยาระงับความรู้สึกสำหรับผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด และการดูแลผู้ป่วยนอกห้องผ่าตัด
  • Pain Therapy การดูแลผู้ป่วยโรคปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง
  • English for medical graduates ความรู้ภาษาอังกฤษทางการแพทย์
  • Laws and Ethics in Anesthesia Basic correlated medical sciences ความรู้ด้านกฎหมายและจริยธรรมทางการแพทย์

เคล็ดลับการเรียน

       การเรียนสายแพทย์นั้น ความขยันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องมีความตั้งใจและทุ่มเทให้กับสิ่งที่เรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ จดจำเนื้อหา เก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ในการฝึกปฏิบัติ การแบ่งเวลาให้เป็นก็สำคัญมาก นอกจากความเครียด ความกดดันในการเรียนแล้ว เวลาทำงานก็ต้องพบแรงกดดันและเรื่องราวหลากหลายที่ปะทะเข้ามา ก็ต้องรู้จักแยกแยะ มีความเห็นใจและเข้าใจ แต่ไม่เก็บมาจมกับตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรียนแพทย์หลายคนเกิดความเครียดได้ง่าย

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       สำหรับนักศึกษาแพทย์ จะได้เจอวิสัญญีแพทย์ช่วงประมาณปี 5 เป็นเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ เน้นการปฏิบัติ เจอคนไข้
แม้จะไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่เพื่อให้ได้เห็น ได้รู้การทำงานของวิสัญญีแพทย์ว่าเป็นอย่างไร โดยจะเป็นเคสทั่วไป การวางยาสลบ การดูแลคนไข้ระหว่างการผ่าตัด และการดูแลคนไข้ภาวะวิกฤต (คนไข้ ICU) ไม่ได้ลงลึกถึงการทำหัตถการอื่น ๆ หากสนใจจะมาทำจริง ๆ ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อเฉพาะทางหลังจบแพทย์
การเรียนต่อเฉพาะทางด้านวิสัญญีแพทย์จะใช้เวลาทั้งหมด 3 ปี โดยมีการวัดผลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และมีการทำวิจัยก่อนจบ หลังเรียนจบหลักสูตรต้องสอบวุฒิบัตรวิสัญญีวิทยาซึ่งอนุมัติโดยแพทย์สภาสำหรับราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยด้วย

 

  • พยาบาลด้านวิสัญญีแพทย์ 
  • ศัลยแพทย์

 

 

ขอขอบพระคุณนายแพทย์มาร์วิน เทพโสพรรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์และเอื้อเฟื้อข้อมูล


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร