นักรังสีเทคนิค
นักรังสีเทคนิค
นักรังสีเทคนิค
นักรังสีเทคนิค
รู้จักอาชีพ > นักปฏิบัติ (Active) > นักรังสีเทคนิค

       นักรังสีเทคนิค หรืออีกชื่อคือ นักรังสีการแพทย์ เป็นอาชีพที่ทำหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์และรักษาด้วยเครื่องมือทางรังสี โดยมีทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพ และการรักษาโรคด้วยการฉายรังสี แบ่งเป็นด้านรังสีวินิจฉัย, รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หน้าที่จะครอบคลุมถึงการป้องกันอันตรายของรังสีต่อตนเอง คนไข้ ญาติ และผู้ปฏิบัติงานสาขาอื่นๆ เช่น หมอ พยาบาล เวรเปล

นักรังสีเทคนิค  (Radiologic Technologist)

นักรังสีเทคนิค  (Radiologic Technologist)

นักรังสีเทคนิค  (Radiologic Technologist)

 

ลักษณะการทำงาน 

       นักเทคนิครังสีจะทำงานได้หลากหลาย ทั้งคนที่ทำงานกับโรงพยาบาล บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคนิครังสี หรือเรียนต่อในสายงานอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์การแพทย์ แต่สำหรับคนที่ทำงานโรงพยาบาลจะมี 3 สายงานหลักๆ
  • รังสีวินิจฉัย (Radiation iagnostic) การตรวจวินิจฉัยโดยการใช้เครื่องมือทางรังสี เช่น เอกซเรย์ทั่วไป การตรวจพิเศษทางรังสี (เช่น เครื่องเอกซเรย์ระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กแรงสูง) และเอกซเรย์เต้านม รวมถึงเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่ไม่ใช่รังสีแต่เป็นคลื่นเสียงความถี่สูงด้วย
  • รังสีร่วมรักษา (Radiotherapy) คือสาขาที่นำรังสีมาใช้เพื่อการรักษาโรค ทั้งโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก มะเร็ง นำอนุภาคอิเล็กตรอนและโปรตรอนมาใช้รักษามะเร็งประเภทต่าง ๆ โดยการใช้เครื่องมือทางรังสีรักษา เช่น เครื่องเร่งอนุภาค
  • เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) เป็นการนำสารเภสัชรังสีมาใช้ประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การตรวจมะเร็งที่ลามไปยังกระดูก ตรวจการทำงานของหัวใจ หรือ การทำงานของไต

       ในบางท่านอาจเลือกจะศึกษาต่อเพื่อเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ  โดยสาขาที่สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก เช่น สาขาฟิสิกส์การแพทย์ สาขาการสร้างภาพทางการแพทย์ หรือทำงานในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ผู้แทนฝ่ายขายและแนะนำการใช้งานเครื่องตรวจทางรังสี

ขั้นตอนการทำงาน

       การทำงานของนักรังสีจะขึ้นอยู่กับแผนก (รังสีวินิจฉัย รังสีร่วมรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)  และเครื่องตรวจที่ต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วจะต้องทำงานประสานกันระหว่างนักรังสี พยาบาล และแพทย์ โดยพยาบาลจะเป็นด่านแรกในการรับคนไข้ ซักประวัติ วัดความดัน  ให้คำแนะนำและข้อปฏิบัติตัวต่างๆ  หากมีการเจาะเลือดหรือฉีดยาก็จะทำโดยพยาบาลก่อน หลังจากนั้นนักรังสีเทคนิคจะเป็นคนพาเข้าเครื่องตรวจ และทำการตรวจตามวิธีที่แพทย์เป็นผู้รีเควสมา โดยขั้นตอนส่วนใหญ่ คือ 

  • รอรับใบสั่งการตรวจตามคำขอของแพทย์ 
  • ประสานงานกับพยาบาลในการส่งตัวคนไข้เข้าห้องรังสีเผื่อทำการตรวจ 
  • เมื่อได้ผลแล้วทำการอ่านค่าเบื้องต้นแล้วส่งผลให้แพทย์ผู้เป็นเจ้าของไข้ 
  • ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมาเพื่อตรวจความปกติภายในร่างกาย จะขั้นตอนการทำงานคล้ายคลึงกัน 

สถานที่ทำงาน 

  • โรงพยาบาลแผนกรังสีวินิจฉัยหรือรังสีร่วมรักษาหรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์
  • ออกตรวจนอกสถานที่ ตามหน่วยงานรัฐบาลหรือเอกชนต่าง ๆ 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • แพทย์ หากทางแพทย์มีการวินิจฉัยอาการเบื้องต้น และต้องการตรวจความผิดปกติภายในจากการเอ็กซเรย์ หรือวินิจฉัยแล้ว และตัดสินใจว่าต้องทำการรักษาผ่านเทคนิครังสี นักเทคนิครังสีจะเข้ามามีส่วนร่วมกันเคสนั้นทันที
  • พยาบาล เปรียบเหมือนผู้ประสานงานระหว่างแพทย์ คนไข้ และนักรังสีเทคนิคที่จะให้ข้อมูลเบื้องต้น และรายงานความคืบหน้าของส่วนงานแต่ละส่วน 
  • นักเคมี แผนกเคมีอาจมีการทำงานร่วมกับนักเทคนิครังสี ในการรักษาเฉพาะด้าน

 

เงินเดือน นักรังสีเทคนิค

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       นักรังสีเทคนิคส่วนมากจะทำงานตำแหน่งเดิมไปเรื่อย ๆ อาจมีการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนกตามความสามารถ

เงินเดือน 

       ประมาณ 18,000 - 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและจำนวนเวร

การแข่งขันและความต้องการตลาด

       จัดว่าเป็นอาชีพที่ยังขาดแคลน เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่สำเร็จการศึกษาและความต้องการของโรงพยาบาล ทำให้สายอาชีพนี้ยังคงเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

  • มีลักษณะการทำงานค่อนข้างแน่นอน มีแบบแผนการทำงานชัดเจน แต่มีความหลากหลายของเคสคนไข้ ทำให้ได้พลิกแพลงนำความรู้ที่มีมาใช้
  • ได้ฝึกการใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหา สังเกตคนไข้และเคส พลิกแพลงหาวิธีตรวจวินิจฉัยตามสถานการณ์
  • มีความภาคภูมิใจในงานที่ทำเพราะเป็นการช่วยเหลือผู้คน เป็นงานที่มีคุณค่าทางจิตใจ
  • ลักษณะการทำงานอาจดูซ้ำ จำเจบ้างในบางสาย เพราะเป็นงาน routine
  • อาจต้องมีการอยู่เวรและทำงานล่วงเวลาบ้าง และในช่วงที่ยุ่งมาก ๆ ก็อาจทำให้ต้องทุ่มเทกับงานมากจนไม่มีเวลาหยุดพัก หรือเวลาทานข้าวคลาดเคลื่อนจากมื้อทั่วไป
  • ต้องมีความละเอียด รอบคอบ เพราะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน
  • มีความอดทน ใจเย็น ทั้งกับเพื่อนร่วมงาน คนไข้ ญาติคนไข้
  • มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา
  • ช่างสังเกต สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
  • มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • ทักษะการสื่อสาร ทั้งการพูดและการฟัง เพราะในการทำงานต้องติดต่อกับคนหลายฝ่าย
  • ทักษะการจัดการแก้ไขปัญหา รู้จักวางแผนและลำดับความสำคัญของคนไข้และงานอื่น ๆ 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ และความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วนจำเป็นต้องมีในการทำงานด้านรังสีเทคนิคเพราะถือเป็นผลต่อการทำการรักษาคนไข้ 

เรียน รังสีเทคนิค

การศึกษา

       ในระดับมัธยมศึกษาต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ใช้วุฒิม.6 หรือเทียบเท่า เมื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ละคณะจะใช้ชื่อต่างกัน แต่ชื่อสาขาเหมือนกัน เช่น สาขารังสีเทคนิค คณะสหเวชศาสตร์ สาขารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ (ของมหิดลและมช.) เป็นต้น โดยในการเรียนคณะนี้ใช้เวลา 4 ปี
 ได้รับวุฒิการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค (วทบ.) จากนั้นสามารถสอบขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบประกอบโรคศิลป์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในตำแหน่งนักรังสีเทคนิคได้ 

 

Hard Skill

  • เน้นทำความเข้าใจวิชาในสายวิทย์คณิต และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะถือเป็นพื้นฐานในการเรียนในระดับอุดมศึกษาและการทำงานในวิชาชีพ
  • ความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำ สกิลการใช้เครื่องตรวจ ความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายจากรังสี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้รับการสอนจากตอนที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่แล้ว
  • ฝึกการจัดการเวลาและแก้ไขปัญาหาเฉพาะหน้า

Soft Skill

  • การสื่อสาร โดยเฉพาะการพูด ฝึกการส่งต่อสารให้ครบถ้วนใจความเข้าใจง่าย เพราะในการทำงานจริงจะต้องรายงานผลตรวจกับแพทย์ พยาบาล คนไข้ ฯลฯ การสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องจึงสำคัญมาก
  • ความอดทนและการทำความเข้าใจผู้อื่น อาชีพในสายแพทย์ต้องใช้หัวใจในการบริการและพบเจอผู้คนหลากหลาย จึงต้องใจเย็นและมีความอดทน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองหลาย ๆ มุม

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • สามารถหาอ่านงานวิจัยหรือข้อมูลเฉพาะทางตามนิตยสารหรือเว็บต่าง ๆ ได้

 

 

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

       นักรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ต้องทำงานอยู่กับชีวิตคน จะต้องมีความละเอียดรอบคอบสูง ไม่สามารถปล่อยปละละเลยหรือลดความระมัดระวังลงได้เลย ในบางครั้งก็เป็นการทำงานที่มีความเครียด มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่านั้นคือความสุขและความสบายใจที่ได้ทำเพื่อคนไข้ แล้วพวกเขาได้รับการตรวจและการบริการที่ดี เป็นคุณค่าที่ทำให้มีแรงใจ


พริม อุกฤษฎ์มโนรถ นักรังสีเทคนิค

 

วิชาที่เรียน

       ตัวอย่างวิชาที่จะได้เรียนในสาขานี้ โดยชื่อวิชาอาจแตกต่างไปตามแต่ละมหาวิทยาลัย
  • กายวิภาคศาสตร์ Anatomy ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายมนุษย์
  • Hospital pract & Patients care การดูแลคนไข้พื้นฐาน
  • Radiobiology เรียนเกี่ยวกับเรื่องของร่างกายมนุษย์และการได้รับรังสี ความทนต่อรังสีของเซลล์ต่าง ๆ
  • Nuclear Medicine
  • Radiographic Pathology
  • Pathology

เคล็ดลับการเรียน

       ไม่ว่าจะเรียนคณะไหนก็ต้องมีการวางแผนจัดการเวลาที่ดี  หมั่นอ่านทบทวนเนื้อหา ทำสรุปเลคเชอร์ โดยอาจอ่านเนื้อหาทั้งหมดก่อนรอบหนึ่ง แล้วจึงอ่านที่ทำสรุปไว้อีกครั้ง มีการอัดเทปเสียงที่อาจารย์พูดและนำมาแกะเทปจดสรุป หลัก ๆ คือการอ่านและท่องจำให้แม่น

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ฯลฯ เป็นการปรับพื้นฐานให้เท่ากันก่อน
  • ปี 2 มีการเรียนกายวิภาคศาสตร์ Anatomy การใช้เครื่องตรวจ และการจัดท่าทางของคนไข้ที่เหมาะสม เอกซเรย์ทั่วไป การดูภาพเบื้องต้น เริ่มมีการฝึกงานตามที่ถูกส่งไป ทั้งรพ.รัฐฯและเอกชน
  • ปี 3 เรียนเรื่องการดูแลคนไข้ Pathology ฝึกงานสลับกับเรียน
  • ปี 4 มีการทำ Thesis เตรียมตัวสอบใบประกอบโรคศิลป์ เรียนวิชาเกี่ยวกับกฏหมายในการใช้รังสีเพิ่มเข้ามา

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       20,000 – 40,000 บาทต่อเทอม ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร