นักออกแบบกราฟิก
นักออกแบบกราฟิก
นักออกแบบกราฟิก
นักออกแบบกราฟิก
รู้จักอาชีพ > นักสร้างสรรค์ (Art) > นักออกแบบกราฟิก

       นักออกแบบกราฟิกหรือนักออกแบบเรขศิลป์ คือ ผู้ออกแบบภาพและตัวอักษรเพื่อใช้ในการสื่อสาร โดยเราสามารถสังเกตได้ว่างานของกราฟิกดีไซน์เนอร์ปรากฎอยู่หลายที่ ทั้งป้ายจราจร แผ่นโฆษณา ปกหนังสือ รูปวาด ลายเสื้อ โลโก้สินค้า ตัวอักษร และอีกมากมายรอบตัวล้วนเป็นกราฟิก เพื่อสื่อสารให้ผู้คนเข้าใจความหมายว่าต้องการบอก เตือน ห้าม หรือชักชวน สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของพวกเขา
       สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ได้สรุปความหมายของคำว่า "การออกแบบเรขศิลป์ (Graphic Design)" ไว้ในระเบียบวาระของสมาคมฯ ปี พ.ศ. 2553 ไว้ว่า “กระบวนการสร้างสรรค์ หรือการออกแบบเพื่อใช้ในการสื่อสาร อันเกิดจากการผสมผสานของ แนวความคิด ศิลปะ เทคโนโลยี หรือข้อมูล ผ่านทางสื่อในรูปแบบต่างๆ โดยมีองค์ประกอบที่ใช้ในการทำงานอันประกอบด้วยภาพ และหรือ ตัวอักษร เป็นสำคัญ ผู้ออกแบบอาศัยทักษะ ทฤษฎี หลักการ หรือ กระบวนการคิด มาช่วยในการแก้ปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูล หรือในการรับรู้ ”

 

นักออกแบบกราฟิก (Graphic Design)

นักออกแบบกราฟิก (Graphic Design)

นักออกแบบกราฟิก (Graphic Design)

ลักษณะการทำงาน

       เบื้องหลังของความสวยงาม นักออกแบบไม่ได้แค่วาดเส้นเท่ ๆ ออกมาอย่างง่ายดาย หากต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอน อย่างมีหลักการ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของชิ้นงานนั้น ๆ ว่ามีขึ้นเพื่ออะไร แล้วจะใช้วิธีอะไรเพื่อตอบสนองเป้าหมายหลัก ดังนั้น ทุกไอเดียบรรเจิดล้วนต้องมีที่มา และกว่าจะคลอดออกมาได้ต้องผ่านความยาก ความลำบากไม่ต่างกับทุกอาชีพ
       เนื่องจากกราฟิกนั้นมีอยู่ในทุกวงการ ทั้ง Art Director สายโฆษณา Designer แนวสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ Exhibition นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ event ต่าง ๆ Retoucher Illustrator นักวาดภาพ ออกแบบ เขียน storyboard หรือจะเป็น Web Designer ที่จะได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า UX/UI หรือ Infographic และอีกมากมาย แต่ละอย่างที่กล่าวมาสามารถเจาะจงแยกเป็นสายอาชีพแต่ละสายต่างหากออกไปได้ โดยในที่นี้ จะขอกล่าวถึงกราฟิกแนวโฆษณา สิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์

 

ขั้นตอนการทำงาน

  • รับรายละเอียดงานจากลูกค้า งานอะไร กลุ่มผู้ใช้งานเป็นใคร สื่อที่จะใช้ ใช้ที่ไหน
  • บางรายละเอียด ลูกค้าอาจจะไม่ได้บอก เราต้องเป็นคนที่คิดล่วงหน้าและสอบถาม
  • ให้ได้ข้อมูลที่ต้องการให้ครบถ้วนที่สุด
  • นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างแนวคิดที่จะตอบสนองโจทย์ที่รับมา
  • ศึกษางานตัวอย่างเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ในแต่ละงานตัวอย่างจะมีบางส่วนประกอบที่เข้ากับแนวคิดที่วิเคราะห์ไว้ โดยที่ตัวอย่างงานอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อาหาร หนัง เพลง ผู้คน ทุกอย่างคือชิ้นส่วนที่จะมาถอดความหมาย และถูกตีความเพื่อสร้างสรรค์งานของเราเอง ซึ่งไม่ใช่การลอกเลียนแบบ
  • Sketch แบบร่าง แบบร่างมีความจำเป็นอย่างมากต่อทุกงาน บางงานมีสามแบบร่าง บางงานมีเป็นสิบ เพื่อนำมาวอเคราะห์ให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดนำเสนอลูกค้า
  • นำแบบมาพัฒนา เพิ่มเติมรายละเอียด ขยับ ปรับจนลงตัว และลงมือสร้างชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะทำหน้าที่ของตัวมันเอง
  • หลังงานเสร็จแล้ว หน้าที่ของนักออกแบบยังไม่จบ เพราะต้องติดตามผลงาน นำ feedback มาพัฒนางานต่อไป

สถานที่ทำงาน

  • ออฟฟิศ คือแหล่งทำงานหลัก เพราะต้องมีการระดมสมองกับทีม ช่วยกันทำผลงาน จะมีออกไปข้างนอกเวลานัดคุยกับลูกค้า นำเสนอแบบ
  • สถานที่ใดก็ได้ที่สะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะปัจจุบันมีนักออกแบบกราฟิกอิสระมากมาย ซึ่งการได้ออกไปข้างนอกนั้น การได้เห็นผู้คนมากมาย ได้เจอสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นวัตถุดิบชั้นดี ช่วยให้มีไอเดียในการทำงานมากขึ้น

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ลูกค้า ลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของสารที่จะสื่อออกไปของแต่ละงาน นักออกแบบต้องเข้าใจและมองเห็นปลายทางเดียวกันกับลูกค้า เพื่อสร้างงานที่ตอบโจทย์

  • ทีมงาน กลุ่มคนที่ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางแก้ไขและลงมือทำ

  • Supplier – ในบางรายละเอียดของงานที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง จำเป็นจะต้องมีพันธมิตรในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ทีมงานยังขาด ยกตัวอย่างเช่น ต้องการทำโฆษณาอาหาร ก็ต้องหาสตูดิโอถ่ายทำที่มีห้องครัว ต้องหาพ่อครัว หาทีมงานถ่ายทำ ทีมจัดไฟ พันธมิตรจะมีมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละงาน

  • ผู้ประสานงาน ในหลาย ๆ งาน ตัวลูกค้าอาจไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้โดยตรงด้วยตัวเองตลอดเวลา จึงต้องมีคนทำหน้าที่ประสานงานกับนักออกแบบเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น 

 

เงินเดือน นักออกแบบกราฟิก

       หากพัฒนาความรู้ความสามารถ สะสมผลงานมากพอ ก็จะสามารถเลื่อนขั้นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ว่าตำแหน่งเป็นอย่างไร หรือบางคน เก็บประสบการณ์จนมั่นใจ ก็สามารถเปิดบริษัทของตัวเอง หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่แล้วนักออกแบบมักจะรับงานอิสระด้วยตัวเองเพิ่มเติม
       โดยทั่วไปนักออกแบบจบใหม่ จะมีฐานเงินเดือนประมาณ 15,000 – 25,000 บาท ทำงานถึง 5 ปี อาจขยับขึ้นถึงประมาณ 30,000 – 60,000 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ หรือตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และหน้าที่ความรับผิดชอบ

 

  • ได้สร้างสรรค์จินตนาการให้กลายเป็นความจริง
  • ได้สื่อสารสิ่งที่ต้องการกับผู้คน
  • ได้ร่วมงาน ได้รู้จักผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและสังคม
  • มีโอกาสดูงาน และทำงานต่างประเทศ
  • ผลงานสามารถสร้างชื่อเสียงได้ มีพื้นที่แสดงงานถึงระดับสากล
  • เจอโจทย์ใหม่ที่น่าสนุก ท้าทายอยู่เสมอ
  • ทุกวงการต้องการงานกราฟิก เป็นอาชีพไม่ตาย
  • สามารถเพิ่มเติมความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อขยายขอบเขตงานได้หลายทาง
  • ค่าออกแบบในต่างประเทศเฉลี่ยจะสูงกว่าในไทย
  • งานออกแบบเป็นงานที่ไม่ได้ทำตามกรอบเวลาเข้าเช้าเลิกเย็น แต่เป็นงานที่ต้องคิดและทำแทบจะตลอดเวลา จึงเหมาะกับคนที่ชอบรูปแบบชีวิตที่ยอมให้งานรวมเข้ากับชีวิตประจำวัน และรู้จักจัดการบริหารเวลาเป็นอย่างดี
  • ต้องใช้ความตั้งใจ ทุ่มเทในการทำงานสูง จึงต้องรู้จักเติมไฟเติมพลังให้ตัวเองอยู่เสมอ
  • ต้องบริหารจัดการเวลาให้ดี เพราะมักเกิดปัญหา งานเร่ง งานเผาอยู่บ่อยครั้ง มักต้องต้องอดหลับอดนอน หรือใช้ชีวิตไม่เป็นเวลาที่แน่นอน ต้องรู้จักยืดหยุ่น
  • เนื้องานส่วนใหญ่ทำหน้าคอม และต้องใช้เวลานาน อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพ
  • มีคนทำกราฟิกในตลาดเยอะ ถ้าไม่ได้โดดเด่นจริง ๆ อาจจะมีทางเลือกน้อย และบางครั้งตัดราคาแย่งงานกัน
  • มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานออกแบบเกิดขึ้นมาได้คือจินตนาการ เราต้องเห็นภาพจากพื้นที่ว่าง จากแบบในกระดาษ คิดไปถึงกระบวนการการผลิตให้เป็นจริง
  • ช่างสังเกต รักการเรียนรู้ การจะเพิ่มเติมขอบเขตของจินตนาการและความรู้ให้กว้างขึ้น ไกลขึ้น คือการหมั่นสังเกตสิ่งรอบตัว รู้จักตั้งคำถาม ศึกษาสิ่งที่มีอยู่จากผู้มีประสบการณ์ว่ามีวิธีคิดอย่างไร และพัฒนาด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ไม่ตีกรอบตัวเอง ยิ่งได้ดูได้เห็นเยอะ ยิ่งมีวัตถุดิบเป็นคลังความรู้ คลังงานออกแบบ ทำให้ทำงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น
  • เชื่อมั่นในตนเอง กล้านำเสนอความคิด พูดคุยปรึกษาหาข้อสรุปกับทีมงาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก สามารถผสมผสาน ตัดสินใจเพื่อทางที่ถูกต้องได้ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากงานออกแบบไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว จึงต้องมีการทำงานร่วมกันกับคนอื่นอย่างราบรื่น ตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม หัวหน้า ลูกค้า supplier ต่างๆ เพื่อนร่วมอาชีพ ล้วนแต่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกัน
  • มีวินัย อดทน โลกของธุรกิจ เวลาทุกวินาทีล้วนมีราคา จึงต้องรู้จักการบริหารจัดการเวลา และทำงานอย่างมีวินัย อีกทั้งนักออกแบบมักจะเจอความจุกจิกจากลูกค้า แรงกดดันจากหัวหน้า และสิ่งต่าง ๆ ให้รู้จักความอดทน
  • มีความเข้าใจคนอื่น เพราะงานออกแบบที่ดี จะต้องตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อจะสามารถสื่อสารทิศทางเดียวกัน จึงต้องเข้าใจการรับรู้ของคน
  • ละเอียดรอบคอบ หลายกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่า เมื่องานออกสู่สายตาคนแล้ว บางครั้งทำหน้าที่สื่อสารผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความละเอียดรอบคอบจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องคิดให้รอบด้านทุกรายละเอียด
  • มีความรับผิดชอบ นักออกแบบที่ดีจะสร้างสรรค์ผลงานที่รับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่องาน ต่อบุคคล และต่อสังคม
  • กล้าที่จะลอง เทคโนโลยีมีพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีเครื่องมือใหม่ ๆ ตลอดเวลา ต้องกล้าที่จะลองใช้ ผสมผสานกับของเดิม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและน่าสนใจ
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์  นักออกแบบจะต้องตีโจทย์ให้ออก และแก้ปัญหาผ่านการออกแบบ เพื่อการสื่อสารให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง 
  • ทักษะการสื่อสาร ข้อแรก คือการขายงาน สามารถนำเสนอ อธิบายแนวคิดของตัวเองให้คนอื่นเข้าใจ ข้อสอง ต้องเข้าใจพื้นฐานจิตวิทยาการสื่อสาร การรับรู้ของคน เพื่อใช้ในงานออกแบบ
  • ทักษะการวาดรูปและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อถ่ายทอดความคิด สร้างผลงานให้ออกมาเป็นจริง
  • ทักษะการประยุกต์ใช้ ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย นักออกแบบต้องตามทัน ทำความรู้จักคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ หยิบมาผสมผสานในงานออกแบบให้เกิดความลงตัว และเกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุด
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกือบทุกงานมักจะเจอปัญหาระหว่างทางมากบ้างน้อยบ้าง การรู้จักตัดสินใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้งานเดินหน้าต่อ
  • ทักษะการจัดการเวลา ไม่ว่างานไหน ๆ deadline วันส่งงานย่อมเป็นสิ่งสำคัญทั้งนั้น ถ้าประเมินปริมาณงานและเวลาได้ จัดการงานและเวลาให้ลงตัว ยิ่งช่วยให้เราดูเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น

       นักออกแบบภายในที่ดี จะต้องสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในภาพรวม ในขณะเดียวกัน ก็สามารถลงรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน เพิ่มเติมความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์อยู่เสมอ หมั่นสังเกตและตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว ลองสอบถามจากรุ่นพี่ทั้งที่เป็นนักศึกษา และคนทำงาน ว่าเขาต้องรู้อะไรบ้าง หรืออ่านจากหนังสือ ที่สำคัญ ต้องตั้งใจจริง กระตือรือร้น มีวินัย เพื่อให้ตัวเองพร้อมสำหรับการเป็นนักออกแบบอย่างที่ใจต้องการ
       งานสร้างสรรค์ เป็นงานที่ต้องพัฒนาตัวเองเสมอ ซึ่งวัตถุดิบในการทำงานอยู่นอกโต๊ะทำงานทั้งสิ้น การหมั่นออกไปดูงาน อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนมีส่วนช่วยให้คลังข้อมูลกว้างขึ้น ใหญ่ขึ้น และพร้อมที่นำมาสร้างสรรค์งานที่แตกต่าง และน่าสนใจ

Hard Skill

  • เรียนรู้และทำความเข้าใจหลักองค์ประกอบศิลป
  • ฝึกวาดรูปตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการเขียน Perspective เรื่องทฤษฎีสี และฝึกการจับคู่สี การวาง Theme
  • พัฒนารสนิยมทางด้านศิลปะ และตามเทรนด์โลกในด้านงานศิลปะการออกแบบให้ทัน 
  • ศึกษาทำความเข้าใจจิตวิทยา การรับรู้ พฤติกรรมของมนุษย์
  • รู้จักวัสดุต่างๆ ข้อดีข้อเสียของสื่อแต่ละประเภท
  • เรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • ฝึกการจินตนาการ มองภาพรวม
  • สนใจข่าวสารรอบตัว ศึกษาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ตามโลกอยู่เสมอ

Soft Skill

  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร การพูด Presentation
  • ทดลองสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของคน ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับสื่อต่าง ๆ อย่างไร
  • เป็นผู้ฟังที่ดี เข้าใจไปถึงสิ่งที่แม้ผู้พูดจะไม่ได้พูดออกมา โดยเฉพาะลูกค้า
  • ทำงานเป็นทีมได้ดี รู้จักบทบาทหน้าที่ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  • ให้เกียรติความคิดของคนอื่น และนำเสนอความคิดของตัวเองอย่างมีศิลปะ
  • สร้างทัศนะคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ มองปัญหาว่าเป็นเรื่องท้าทาย
  • หมั่นสังเกต มองเห็นงานออกแบบ จดบันทึกสิ่งต่าง ๆ

กิจกรรมต่างๆ 

  • อ่านหนังสือและเว็บงานออกแบบ หมั่นดู เก็บไอเดียเป็นคลังไว้
  • ดูสื่อต่าง ๆ ที่มีรอบตัว วิเคราะห์ คาดเดา ว่านักออกแบบคิดอย่างไรต่องานนั้น
  • ชมนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ อ่านหนังสือด้านออกแบบใหม่ ๆ
  • หาโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • อัพเดทข้อมูลข่าวสารในวงการออกแบบเสมอ
  • ร่วมงานประกวดต่าง ๆ
  • เข้าคอร์สเพิ่มเติมความรู้
  • การทำอย่างอื่นที่อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับสายงานโดยตรง เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อ่านนิยาย ฟังบรรยาย ก็สามารถเติมมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้งานออกแบบมีมิติมากขึ้น

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ
       นิยามของ GRAPHIC DESIGN มันคือกระบวนการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ หรือ Design Process เพื่อให้มีการสื่อสารผ่านภาพกับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นหัวใจหลักของสื่อแทบทุกสื่อ 

วีรยุทธ จิ๋วจ๋าง, Head of Graphic Designer

 

       นักออกแบบกราฟิค ไม่ได้เป็นอาชีพที่นึกจะวาดอะไรก็วาดแต่อย่างเดียว เรามีหน้าที่แก้ปัญหา การสื่อสารต่างๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายขึ้น ดังนั้นนักออกแบบที่ดี ต้องเข้าใจการสื่อสารที่ดี

มัณฑนา เลิศกรกิจจา, Owner, Creative Designer, THE HIDDEN YARD CO., LTD

 

 

 วิชาที่เรียน

       มีการเรียนสำหรับงานออกแบบสื่อสารในสื่อทุกแขนง เช่น การออกแบบองค์ประกอบภาพพื้นฐาน การถ่ายภาพ การออกแบบตัวอักษร การออกแบบอินโฟกราฟิก การออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร การออกแบบภาพประกอบ การออกแบบแอนิเมชั่นสองมิติ สามมิติ และการออกแบบภาพเคลื่อนไหว การออกแบบกราฟิกสำหรับสื่ออินเตอร์แอคทีฟ การกำกับศิลป์ ควบคู่ไปกับการมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เข้าใจหลักการ หน้าที่ของนักออกแบบ และมีจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ

เคล็ดลับการเรียน

       การเรียนทางด้านนักออกแบบกราฟฟิกเน้น Project base นั่นก็คือการทำงานจะไม่เหมือนวิชาทั่วไปที่เรียนแล้วก็ปลายเทอมไปสอบ เพราะฉะนั้นการแบ่งเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ  Project อาจจะมีทุกอาทิตย์หรือสองสามสัปดาห์ส่งครั้งหนึ่ง การทำงานหลาย ๆ ครั้งอาจจะเหน็ดเหนื่อยถ้าเกิดว่าไม่มีความชอบหรือ Passion ทางด้านนี้อาจจะทำให้ไปได้ลำบาก ถ้าหากมีความสนใจจากที่มีความรู้ไม่มากนัก แต่ถ้ามีความชอบและทำมันทุกวันรับรองว่าจะสามารถไปได้ไกลกว่าคนอื่น ๆ

 ปี 1 จะเป็นช่วงศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบศิลป์หลาย ๆ แบบ เนื้อหาของศิลปะทั่วไป เช่น การวาดรูปพื้นฐาน และคอมพิวเตอร์กราฟิก และวิชานอกคณะ เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อการออกแบบ  ภาษาไทย  เป็นต้น

ปี 2  เริ่มมีวิชาเฉพาะมากขึ้น หรือบางสาขาวิชาเริ่มมีการแบ่งวิชาเอกตามความถนัดและความสนใจของนักศึกษา วิชาเรียนจึงมีความเฉพาะเจาะจงและเรียนเจาะลึกมากขึ้น

ปี 3  จะเป็นการศึกษาต่อ เช่น การวาดภาพประกอบ ภาพเคลื่อนไหว อนิเมชั่น สิ่งพิมพ์ มีการออกนอกสถานที่ไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหาความรู้ ประสบการณ์นอกเหนือจากห้องเรียน และเตรียมตัวหาที่ฝึกงาน

ปี 4 เทอม 1 เป็นช่วงของการเตรียมตัวที่จะทำธีสิส หรือมีโปรเจ็กต์ จะเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์งานที่สนใจเพื่อที่จะนำมาต่อยอด และเริ่มทำชิ้นงานในเทอมที่ 2 

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

  • New York Institute of Technology
  • Ravensbourne University London
  • University of East Anglia UEA
  • Victoria University of Wellington
  • University of Bradford
  • University of Kent
  • University of Leeds
  • University of Portsmouth
  • Yoobee School of Design
  • University of Northampton
  • University of Central Missouri

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร