มัณฑนากร
มัณฑนากร
มัณฑนากร
มัณฑนากร

       มัณฑนากร หรือนักออกแบบตกแต่งภายใน คือการออกแบบพื้นที่ใช้สอย โดยคำนึงถึงการใช้งานต่างๆ ในอาคารไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่องสัดส่วนมนุษย์และการจัดวาง พร้อมทั้งใช้ศิลปะตกแต่งให้เกิดความงามจากรูปทรง พื้นผิวสัมผัส วัสดุ แสง สีสัน ลวดลาย สร้างสรรค์เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมระหว่างคนและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งจะสะท้อนตัวตน รสนิยม ความชอบของคนคนนั้น หรือของพื้นที่นั้นออกมาผ่านงานออกแบบ เรียกได้ว่า เป็นอีกอาชีพที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ผสมผสานกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นอาชีพที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนมากที่สุดอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว 
       ในประเทศไทยสถาปัตยกรรมภายใน เป็นสาขาวิชาชีพควบคุม อยู่ภายใต้ สภาสถาปนิก คำจำกัดความของสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ถูกระบุใน พรบ.สถาปนิก 2543 และ กฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 ว่าหมายถึง "วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพและสภาพแวดล้อมภายในอาคาร" สถาปนิกที่ออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน สำหรับพื้นที่ภายในอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีสมาคมวิชาชีพของสถาปนิกภายใน ชื่อ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย หรือ TIDA (Thailand Interior Designers' Association)

มัณฑนากร (Interior Designer)

มัณฑนากร (Interior Designer)

มัณฑนากร (Interior Designer)

ลักษณะงาน
       การออกแบบตกแต่งภายในอาคาร ไม่ใช่แค่จับสิ่งนั้นมาวาง หยิบสีนี้มาใส่ แต่นักออกแบบจะตั้งคำถามจากความต้องการของผู้ใช้งาน เลือกสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง (Function) และลงตัวด้านความสวยงามเหมาะสม พิจารณาทุกรายละเอียดองค์ประกอบ ตั้งแต่การหาข้อมูล สำรวจความต้องการของลูกค้า ศึกษาหาทางออกของโจทย์ที่เกิดขึ้น ทำแบบ ดำเนินงาน ประสานงานจนสร้างสิ่งที่อยู่ในจินตนาการขึ้นมาจนสำเร็จ

ขั้นตอนการทำงาน

  • รับรายละเอียดงานจากลูกค้า พูดคุยเพื่อให้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ความต้องการเป็นแบบไหน รูปแบบการใช้ชีวิต ความชอบเป็นอย่างไร ขั้นตอนนี้นักออกแบบจะสังเกต สอบถาม เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการออกแบบ สำหรับการทำงานให้มากที่สุด
  • นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ทั้งจากตัวผู้ใช้งาน จากสภาพพื้นที่ ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง บริบทของสิ่งแวดล้อมโดยรอบ สร้างรูปแบบ (Concept) ที่ตอบโจทย์ และวางแผนการทำงาน
  • วาดแบบร่าง (Sketch) พร้อมสร้างภาพจำลอง (จะเขียนมือ หรือคอมพิวเตอร์ ขึ้นอยู่กับความถนัด แต่ต้องคำนึงความเข้าใจของลูกค้าเมื่อไปนำเสนอด้วย)
  • นำแบบมาพัฒนาหรือปรับแก้จนลงตัว จนได้แบบที่ลูกค้าพอใจ
  • ลงรายละเอียดของแบบก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำ ระบบไฟ ปรับอากาศ ซึ่งส่วนนี้จะต้องมีวิศวกร สถาปนิก หรือฝ่ายอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังลงรายละเอียดเรื่องของวัสดุการตกแต่ง เลือกเฟอร์นิเจอร์ คำนวณงบประมาณเบื้องต้น
  • จัดหาผู้รับเหมาเข้ามาประมูลงาน ช่วยลูกค้าตรวจสอบราคา พิจารณาความเหมาะสมต่างๆ
  • ควบคุมงานตกแต่งจนเรียบร้อยและส่งมอบงาน

สถานที่ทำงาน

  • ออฟฟิศหรือสำนักงาน เป็นสถานที่หลักในการเขียนแบบ ทำแบบนำเสนอ ระดมสมองกับทีม หรืออาจจะพกพาคอมพิวเตอร์ไปทำงานตามที่ต่างๆ ได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท
  • ไซต์งานหรือสถานที่จริงที่เราจะต้องออกแบบ โดยอาจจะมีการนัดคุยงานร่วมกับลูกค้า สำรวจพื้นที่ หรือติดตามความคืบหน้ากับผู้รับเหมา 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
       ลูกค้า - งานแต่ละงานจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องหลัก นักออกแบบจึงต้องทำความเข้าใจ ทำงานด้วย และใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุดตั้งแต่เริ่มจนจบงาน เพราะงานออกแบบจะอยู่กับชีวิตลูกค้าไปตลอด
       สถาปนิก และวิศวกร – หลายครั้ง งานออกแบบภายในก็อาจมีส่วนที่ส่งผลกระทบถึงตัวโครงสร้าง หน้าตาของอาคาร บางครั้งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ขยับ หรือเพิ่มเติมส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพูดคุย ปรึกษา เพื่อหาทางออกสำหรับกระบวนการออกแบบ ในบางงานที่เป็นโครงการสร้างขึ้นใหม่ ก็จะมีการระดมสมองกันตั้งแต่เริ่มร่างแบบ เพื่อให้เกิดการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
       นักออกแบบภูมิทัศน์ – งานสถาปัตยกรรมไม่ได้มีเพียงอาคารเท่านั้น แต่พื้นที่ ที่ดินทุกตารางนิ้ว ล้วนต้องผ่านการออกแบบเหมือนกัน เช่นโครงการโรงแรม รีสอร์ท ที่ต้องอาศัยการออกแบบภูมิทัศน์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเข้าพักทั้งในตัวอาคารและนอกอาคาร นักอออกแบบก็จะร่วมกันวางแผนตั้งแต่ต้น เพื่อให้ได้มุมมองที่ดีที่สุด และทำให้งานออกแบบมีความหมายมากที่สุด
       ผู้รับเหมา - งานออกแบบคงเป็นแค่จินตนาการ หากไม่ได้สร้างขึ้นมาให้เป็นความจริง ช่างที่มีฝีมือ มีความรู้ความสามารถ เข้าใจเทคโนโลยีการก่อสร้าง จะช่วยให้ภาพบนกระดาษ สามารถจับต้องได้ นักออกแบบจึงต้องทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการผลิตให้มีคุณภาพ
       Supplier – รายละเอียดสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มให้งานออกแบบสวยงามสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่งต่างๆ นักออกแบบจะต้องรู้จัก และหยิบมาใช้อย่างเหมาะสม เสมือนมีเครื่องปรุงหลากชนิด ให้สามารถปรุงอาหารออกมาได้อร่อยตามที่ใจต้องการ

 

เงินเดือน มัณฑนากร

       หากพัฒนาความรู้ความสามารถ สะสมผลงานมากพอ ก็จะสามารถเลื่อนขั้นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ว่าตำแหน่งเป็นอย่างไร หรือบางคน เก็บประสบการณ์จนมั่นใจ ก็สามารถเปิดบริษัทของตัวเอง หรือประกอบธุรกิจส่วนตัวเพิ่มเติม
โดยทั่วไปนักออกแบบจบใหม่ จะมีฐานเงินเดือนประมาณ 15,000 – 20,000 บาท ทำงานถึง 5 ปี อาจขยับขึ้นถึงประมาณ 30,000 – 40,000 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ หรือตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น งานประมาณราคา คุมงานก่อสร้าง

 

  • ได้สร้างสรรค์จินตนาการให้กลายเป็นความจริง
  • ได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุขจากการมีประสบการณ์ในงานออกแบบ
  • รู้จักผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและสังคม
  • มีโอกาสดูงาน และทำงานต่างประเทศ
  • ผลงานสามารถสร้างชื่อเสียงได้ มีพื้นที่แสดงงานถึงระดับสากล
  • เจอโจทย์ใหม่ที่ท้าทายอยู่เสมอ
  • มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการออกแบบ การก่อสร้าง เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง และทำให้อาชีพไม่ตัน
  • ค่าออกแบบในต่างประเทศเฉลี่ยจะสูงกว่าในไทย
  • งานออกแบบเป็นงานที่ไม่ได้ทำตามกรอบเวลาเข้าเช้าเลิกเย็น แต่เป็นงานที่ต้องคิดและทำแทบจะตลอดเวลา จึงเหมาะกับคนที่ชอบรูปแบบชีวิตที่ยอมให้งานรวมเข้ากับชีวิตประจำวัน และรู้จักจัดการบริหารเวลาเป็นอย่างดี
  • ต้องใช้ความตั้งใจ ทุ่มเทในการทำงานสูง จึงต้องรู้จักเติมไฟเติมพลังให้ตัวเองอยู่เสมอ
  • ในหลายงาน มูลค่าการก่อสร้างในความเป็นจริงก็ถูกจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำตามจิตนาการได้เต็มที่ ต้องปรับลดให้เหมาะสมกับงบประมาณ
  • ผู้รับเหมาที่ดี เชื่อถือได้ มีค่ายิ่งกว่าทอง สำหรับนักออกแบบ เพราะหลายๆ ครั้งที่มีข่าวโดนทิ้งงาน งานไม่เรียบร้อย ทำไม่ตรงแบบ ล่าช้า และอื่นๆ จนกระทั่งถูกโกง จึงต้องใช้เวลาในการทำความรู้จัก และผูกมิตรกับผู้รับเหมาที่จะร่วมงานด้วยอย่างมั่นใจ
  • มีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานออกแบบเกิดขึ้นมาได้คือจินตนาการ เราต้องเห็นภาพจากพื้นที่ว่าง จากแบบในกระดาษ และจำเป็นจะต้องจินตนาการไปถึงความเป็นไปได้ ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นจริงด้วย
  • ช่างสังเกต รักการเรียนรู้ การจะเพิ่มเติมขอบเขตของจินตนาการและความรู้ให้กว้างขึ้น ไกลขึ้น คือการหมั่นสังเกตสิ่งรอบตัว รู้จักตั้งคำถาม ศึกษาสิ่งที่มีอยู่จากผู้มีประสบการณ์ว่ามีวิธีคิดอย่างไร และพัฒนาด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ไม่ตีกรอบตัวเอง ยิ่งได้ดูได้เห็นเยอะ ยิ่งมีวัตถุดิบเป็นคลังความรู้ คลังงานออกแบบ ทำให้ทำงานออกมาได้ดียิ่งขึ้น
  • เชื่อมั่นในตนเอง กล้านำเสนอความคิด พูดคุยปรึกษาหาข้อสรุปกับทีมงาน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก สามารถผสมผสาน ตัดสินใจเพื่อทางที่ถูกต้องได้ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากงานออกแบบไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว จึงต้องมีการทำงานร่วมกันกับคนอื่นอย่างราบรื่น ตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม หัวหน้า ลูกค้า supplier ต่างๆ เพื่อนร่วมอาชีพ ล้วนแต่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกัน
  • มีวินัย อดทน โลกของธุรกิจ เวลาทุกวินาทีล้วนมีราคา จึงต้องรู้จักการบริหารจัดการเวลา และทำงานอย่างมีวินัย 
  • มีความเข้าใจคนอื่น เพราะงานออกแบบที่ดี จะต้องตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า เราจึงต้องสามารถเข้าใจคนอื่นได้มากกว่าสิ่งที่เขาพูด บางอย่างจะเกิดจากการสังเกตพฤติกรรม และนำไปวิเคราะห์ ตีความ จนออกมาเป็นงานออกแบบจากเรา ที่ออกแบบเพื่อเขา
  • ละเอียดรอบคอบ ทุกอย่างที่ออกแบบจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต พฤติกรรมการใช้งาน ถ้าหากมองข้ามเรื่องเล็กๆ ไปก็อาจจะส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ ดังนั้นนักออกแบบจึงต้องคิดให้ละเอียด เช่น หน้าต่างห้องนอนมีฝนสาด บ้านมีเด็กเล็ก ต้องระวังของที่มีมุมแหลม หรือเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ห้องน้ำของผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกอย่างคือ การออกแบบไม่ใช่ว่าออกแบบครั้งแรกแล้วจบ จะต้องคิดเผื่อไปแบบที่ห้า แบบที่หก แล้วตอบลูกค้าได้ ว่าเพราะอะไร อย่างไร และเมื่อถึงเวลาที่ต้องสร้าง ช่างรับเหมาก็ต้องการแบบที่ละเอียดครบถ้วน ถูกต้องแม่นยำในการสร้างตามแบบ งานออกแบบจึงเป็นเรื่องที่ต้องละเอียด คิดให้รอบด้านทุกมิติ
  • มีความรับผิดชอบ ทุกการออกแบบ มีผลต่อการใช้ชีวิตของคน เพราะฉะนั้นนักออกแบบต้องรับผิดชอบต่องานของตัวเอง รับผิดชอบต่อการทำงาน ต่อสังคม
  • ทักษะด้านศิลปะ เป็นสิ่งที่สำคัญและน้อง ๆ ม.ปลายยังต้องใช้สอบเพื่อเข้าคณะออกแบบที่สนใจด้วย ดังนั้นการวาดภาพและความเข้าใจในองค์ประกอบศิลป์ 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา นักออกแบบจะต้องนำข้อมูลของผู้ใช้งาน มาตีโจทย์ให้ออก และแก้ปัญหาผ่านการออกแบบ ว่าจะกำหนดพื้นที่ใช้สอยอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
  • ทักษะการสื่อสาร ต่อให้ออกแบบดีแค่ไหน แต่ถ้าอธิบายหรือขายงานให้คนเข้าใจ และคล้อยตามสิ่งที่คิดไม่ได้ ก็เป็นอุปสรรคที่ใหญ่มากต่ออาชีพนักออกแบบ ดังนั้นจึงต้องฝึกฝนการนำเสนอให้สามารถเข้าใจง่าย และพาคนฟังไปถึงวัตถุประสงค์เดียวกัน
  • ทักษะการถ่ายทอดความคิด ในที่นี้หมายถึง การวาดรูป หรือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผ่านองค์ประกอบทางศิลปะ เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าใจ เห็นภาพเดียวกันได้
  • ทักษะการประยุกต์ใช้ ปัจจุบัน วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย นักออกแบบต้องตามทัน ทำความรู้จักคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ หยิบมาผสมผสานในงานออกแบบให้เกิดความลงตัว และเกิดประโยชน์การใช้งานสูงสุด
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อถึงหน้างานก่อสร้างแล้ว มักจะเกิดปัญหาต่อแบบ เช่น ระยะแคบไป กว้างไป งานระบบวางไม่ได้ หรือปัจจัยอื่นที่คาดไม่ถึงในขั้นตอนออกแบบ จึงต้องรู้จักการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้รับเหมา ทั้งงานแบบ ทั้งลูกค้า

 

 เรียน มัณฑนากร

การศึกษา

       สถาบันของรัฐที่เปิดหลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้อง 

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
  • วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

       สถาบันเอกชนที่เปิดหลักสูตรในสาขาที่เกี่ยวข้อง 

  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
  • Raffles International College
  • สถาบันอาคาเดเมีย อิตาลี สาขากรุงเทพฯ
  • สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์

       นักออกแบบภายในที่ดี จะต้องสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในภาพรวม ในขณะเดียวกัน ก็สามารถลงรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน เพิ่มเติมความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์อยู่เสมอ หมั่นสังเกตและตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยู่รอบตัว ลองสอบถามจากรุ่นพี่ทั้งที่เป็นนักศึกษา และคนทำงาน ว่าเขาต้องรู้อะไรบ้าง หรืออ่านจากหนังสือ ที่สำคัญ ต้องตั้งใจจริง กระตือรือร้น มีวินัย เพื่อให้ตัวเองพร้อมสำหรับการเป็นนักออกแบบอย่างที่ใจต้องการ 

Hard Skill

  • ทำความเข้าใจการอ่านแปลน รูปด้าน รูปตัด
  • ฝึกวาดรูปตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการเขียน Perspective
  • เข้าใจทฤษฎีสี และฝึกการจับคู่สี การวาง Theme
  • พัฒนารสนิยมทางด้านศิลปะ
  • เข้าใจลักษณะของธรรมชาติที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น แดด ลม ฝน การไหลเวียนอากาศ
  • ศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และ Human scale
  • รู้จักวัสดุต่างๆ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ คุณสมบัติเฉพาะของสิ่งต่างๆ
  • เรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเขียนแบบและทำภาพสามมิติ
  • ฝึกทำโมเดลจำลอง เข้าใจสัดส่วนลดทอน (Scale) ต่างๆ
  • ฝึกการจินตนาการ มองภาพรวม
  • ศึกษาด้านจิตวิทยา สิ่งต่างๆ ที่มีผลต่อจิตใจของมนุษย์

Soft Skill

  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร การพูด Presentation
  • ทดลองสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของคน ว่ามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่อย่างไร
  • เป็นผู้ฟังที่ดี เข้าใจไปถึงสิ่งที่แม้ผู้พูดจะไม่ได้พูดออกมา โดยเฉพาะลูกค้า
  • เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อทีม
  • ให้เกียรติความคิดของคนอื่น และนำเสนอความคิดของตัวเองอย่างมีศิลปะ
  • สร้างทัศนะคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ มองปัญหาว่าเป็นเรื่องท้าทาย

กิจกรรมต่างๆ 

  • อ่านหนังสือและเว็บงานออกแบบ หมั่นดู เก็บไอเดียเป็นคลังไว้
  • เดินดูสถานที่ วิเคราะห์ คาดเดา ว่านักออกแบบคิดอย่างไรต่องานนั้น
  • ชมนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์
  • หาโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • อัพเดทข้อมูลจากงานแสดงสินค้า ของแต่งบ้าน งานสถาปนิก
  • การทำอย่างอื่นที่อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับสายงานโดยตรง เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อ่านนิยาย ฟังบรรยาย ก็สามารถเติมมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้งานออกแบบมีมิติมากขึ้น
     

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรัก ต้องตั้งคำถามไม่หยุด และต้องอินกับมัน 3 ข้อนี้แหละ ที่จะทำให้อาชีพนี้สนุก ต้องทำให้สนุกแล้วมันจะดีเอง

กิตติชล เรืองพุ่มม Owner, Design Director OBCHOEI STUDIO

       

       เราพูดถึงการเรียนสถาปัตย์แทนแล้วกัน เราว่าคณะสถาปัตย์เป็นคณะที่สอนให้คิดเป็น ใช้ความคิดอย่างเป็นระบบ บวกกับความสร้างสรรค์ จินตนาการ แต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราสามารถนำความรู้จากการเรียนการสอนในคณะสถาปัตย์ ไปต่อยอดประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ในอนาคต ไม่ได้จำกัดเพียงแค่อาชีพสถาปนิกเท่านั้น

วรุตน์ วีระศิลป์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

       

       เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องมีความเป็น วิทย์ กับ ศิลป์ ผสมกัน ต้องมีความ ครีเอท และมีความอดทน ขยันฝึกฝนฝีมือ และมีจิตใจรักงานด้านการบริการ ชอบความแปลกใหม่ฃฃ

นิชฌาน ศิริพันธ์โนน Senior Project Manager

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร