Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คณิตศาสตร์ฝึกได้ตั้งแต่เด็ก มาเตรียมลูกให้เก่งไปด้วยกัน

Posted By Plook TCAS | 24 ก.ค. 66
579 Views

  Favorite

         คณิตศาสตร์จำเป็นสำหรับลูกอย่างไร เราจะฝึกลูกซึ่งยังเป็นเด็กเล็กให้เก่งคณิตศาสตร์ได้ด้วยวิธีใด  พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านคงเคยตั้งคำถามเหล่านี้กับตนเอง วันนี้เรามาหาคำตอบและลงมือทำกันค่ะ

         “คณิตศาสตร์อยู่รอบตัวเรา” ฉะนั้นคณิตศาสตร์จึงเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญและจำเป็นสำหรับลูก  เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ สามารถช่วยลูกให้ใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาการรับรู้ในด้านต่าง ๆ ได้ดีขึ้น กระบวนการคิดทำให้เกิดสติปัญญา และสติปัญญาจะพาลูกของเราเป็น Smart Kid ได้

         คณิตศาสตร์มีความซับซ้อนและแง่มุมให้ต้องขบคิด รวมทั้งต้องใช้สติปัญญาอย่างลุ่มลึกและชาญฉลาด จึงจะทำให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง และบางครั้งวิธีหาคำตอบมีทางเลือกมากกว่าหนึ่งวิธี หากเราฝึกลูกไว้ตั้งแต่เด็กให้ “ฉลาดคิด” ในการคิดเชิงกลยุทธ์ด้วยคณิตศาสตร์ ลูกจะเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ... มาเตรียมลูกให้เก่งไปด้วยกันด้วยกลวิธีที่ทำได้ไม่ยากดังนี้ค่ะ   

1. ปลูกฝังความรักและทัศนคติเชิงบวกต่อวิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่ยังเด็ก

         เราต้องเข้าใจและเข้าถึงระดับความสนใจและความสามารถของลูก โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น การพูดคุยกับลูกให้รับรู้ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันและชีวิตอนาคตด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ เหมาะกับวัยของลูก เป็นสิ่งที่เราต้องจัดเวลาเพื่อการนี้ หรือหากิจกรรมการเรียนรู้แบบลงมือทำผ่านการเล่น เช่น ผสมผสานบล็อกฐานสิบ เล่นบอร์ดเกม เลโก้ หรือแป้งโดว์ เป็นการเสริมทักษะแบบสนุก ๆ น่าสนใจให้ลูก ผ่านสื่อการเล่นที่เน้นคณิตศาสตร์ นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ที่โรงเรียน และเราอาจฝึกลูกให้รักคณิตศาสตร์ด้วยเสียงเพลง เช่น เพลงสูตรคูณเพลินเพลง เพลงเด็กเลขบวกลบ เพลงการบวก ฯลฯ และข้อสำคัญเราต้องปรับ Growth Mindset ของเราเอง คือเชื่อว่าลูกของเราจะเก่งคณิตศาสตร์และพัฒนาทางคณิตศาสตร์ได้ตามจังหวะของตนเอง

2. เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ลูก

         พาลูกไปเที่ยวเยี่ยมชมแหล่งการเรียนรู้ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม เป็นปลายทางของการนำคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในอนาคต เช่น พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (Investment Discovery Museum) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเงินและการลงทุน ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กและเยาวชนไทย ให้มีความสนใจในเรื่องการวางแผนทางการเงิน และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเริ่มต้นลงทุน มีการนำเสนอความรู้โดยใช้การเล่าเรื่อง (Storyline) ผ่านตัวละคร Money Monsters ศัตรูร้ายทางการเงิน และ SET Heroes ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเงิน เด็กจะได้ฝึกรู้จักและตระหนักถึงปัญหาทางการเงินที่มีอยู่รอบๆ ตัว  จนเกิดความต้องการที่จะหาทางแก้ไขปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายประกอบการเล่าเรื่องราว โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทดลองปฏิบัติจริง ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน

         หรือไปเที่ยวที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) ที่นี่ลูกน้อยของเราจะตื่นตาตื่นใจกับเรื่องราวของคณิตศาสตร์กับการคำนวณทางดาราศาสตร์ เช่นโลกของเราอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 150 ล้านกิโลเมตร ว้าว ไกลแค่ไหนกันเนี่ย ลูกจะได้เห็นและได้สัมผัสด้วยปลายนิ้วกับความมหัศจรรย์ของจักรวาลแห่งดวงดาว  

3. ใช้แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ให้เป็นประโยชน์ต่อลูก

         โลกอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวและเข้าถึงได้ง่าย ลูกเราจะเป็นนักเดินทาง และเราเป็นผู้นำทาง ด้วยการชี้แนะและอธิบายสิ่งดี ๆ ให้ลูกฟัง รวมทั้งสอนลูกให้ใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ลูกได้รับรู้และเรียนรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง และได้รับสารแห่งความสุขจากความรักของคุณพ่อคุณแม่เต็มเปี่ยม ลูกน้อยได้เรียนรู้จำนวนนับ จำนวนเฉพาะ จำนวนเต็ม แบบฝึกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดเลขเร็ว แบบฝึกคิดเลขในใจ ฯลฯ จากเราซึ่งเป็นคุณครูคนแรกของลูก หรือเราอาจตั้งค่า application ทางคณิตศาสตร์ฟรีที่เหมาะกับวัยของลูก เช่น Motion Math Zoom, Factor Samurai, Math Drills เป็นต้น ไว้ให้ในโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือแท็บเล็ตที่จัดไว้ให้ลูกเพื่อการศึกษา และมีกฎกติการ่วมกันระหว่างเราและลูกเรื่องกำหนดเวลาการใช้งานเพื่อหาความรู้ของลูก แอปฯ เหล่านี้ถึงเป็นภาษาอังกฤษ แต่รับรองว่าลูกเข้าใจได้และเล่นได้สนุก เพราะเด็กมีพลังแห่งจินตนาการสูงมาก หรือเกมคณิตศาสตร์สำหรับเด็ก - แอปพลิเคชันใน Google Play ก็ได้ รวมทั้งสอนลูกเรื่องการเปิดเข้าแอปฯ การดาวน์โหลด การดูข้อมูลทางเว็บเพจที่เราจัดและตั้งค่าไว้ให้

4. ฝึกลูกให้รู้จักการสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูลทางคณิตศาสตร์

         การสื่อสารและการถ่ายทอดจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสมองลูกในเรื่องการคิดเร็วและสร้างสรรค์ เมื่อเราพาลูกไปเที่ยวในสถานที่ดังกล่าวมาแล้ว และได้ท่องเที่ยวด้วยกันในโลกอินเทอร์เน็ต เราควรให้ลูกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในสิ่งที่ได้พบเห็นเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้ลูกเรียนรู้และจดจำข้อมูลได้อย่างเป็นระบบและแม่นยำขึ้น และฝึกให้ลูกรู้จักการซักถามในสิ่งที่ลูกยังไม่เข้าใจ และธรรมชาติของเด็กเล็กจะเป็นคนอยากรู้อยากเห็นและชอบเล่า ลูกอาจนำเรื่องราวไปเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินตามประสาเด็ก หรืออาจเล่าให้คุณครูและเพื่อนนักเรียนฟังในห้องเรียน เป็นการเพิ่มพูนทักษะทางสังคมและเสริมสร้างทักษะการคิดให้ลูก

5. ศึกษาเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ลูก

         หากเราจะสอนลูกให้อ่านหนังสือเป็น เราก็ต้องอ่านหนังสือเป็นก่อน ฉะนั้น เมื่อเราจะพัฒนาการเรียนรู้ให้ลูก เราก็ควรศึกษาหาความรู้เพื่อการพัฒนานั้น เพื่อให้เราสามารถฝึกลูกได้ง่ายขึ้น เราอาจศึกษาวีดีทัศน์ชุด “คณิตศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด” (https://www.youtube.com/watch?v=XKu_7-uh55k) ที่จัดทำขึ้นเพื่อแนะนำเทคนิคการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เด็กเข้าใจคณิตศาสตร์ได้ไม่ยาก และสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสภาวการณ์

สำหรับเด็กบางคนการเห็นคือความเชื่อ และเมื่อเชื่อแล้วจะปล่อยของจนสุดฝีมือ ลูกจะสนุกกับคณิตศาสตร์ และกระตือรือร้นที่จะพัฒนาสมองอย่างเต็มที่เพื่อเรียนศาสตร์นี้ กลยุทธ์การเรียนรู้ส่วนบุคคลที่นำเสนอมานี้ จะช่วยให้ลูกตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของตนเอง และรู้จักการแก้ปัญหาซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งทางเลือก และการเรียนรู้ด้วยตนเองจะช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้นเมื่อเติบโต นั่นคือ เราได้ฝึกลูกตั้งแต่เด็กให้เก่งเพื่อเตรียม “ความพร้อม” ในหลายมิติผ่านคณิตศาสตร์.

 ณัณท์

แหล่งอ้างอิง
​How to Teach Elementary Match as Effectively as Possible          
https://www.prodigygame.com/main-en/blog/teaching-elementary-math

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow