Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปวดหัวข้างเดียว อาจไม่ใช่ไมเกรน

Posted By Plook Magazine | 10 ก.ค. 66
1,426 Views

  Favorite

‘ปวดหัวข้างเดียว ไมเกรนไหม’
‘ปวดหัวข้างขวา อันตรายไหม’
เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีอาการ ‘ปวดหัว’ ไม่ว่าจะเป็นปวดหัวข้างขวาหรือว่าปวดหัวข้างซ้าย ในลักษณะปวดตุบ ๆ แปลบ ๆ เป็นระยะ ซึ่งสาเหตุของการปวดหัวข้างเดียวมาจากทั้งความเครียด ความผิดปกติของสมองหรือปวดหัวไมเกรน บางอาการอาจไม่เป็นอันตรายมากแต่สามารถกลายเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย ​​ชี้ให้เห็นว่าการปวดหัวไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ควรมองข้ามได้เลย 

 

trueplookpanya

 

ปวดหัวข้างเดียว อันตรายไหม ?

อาการปวดหัวมักจะถูกมองข้ามให้เป็นเรื่องเล็ก ๆ เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย คิดว่ากินยาก็หาย แต่ในหลายเคสการปวดหัวคือสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่น เลือดออกในสมอง ติดเชื้อในสมอง เนื้องอกในสมอง เพราะหัวหรือศีรษะของเราลึกลงไปเป็นที่อยู่ของสมองและเส้นประสาทสำคัญ ๆ ที่เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการหลักของร่างกาย ดังนั้นการปวดหัวจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรปล่อยผ่านไปง่าย ๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงและมีอันตรายได้ในอนาคต 

 

สาเหตุของการปวดหัว 

สาเหตุของการปวดหัวนั้นมีได้หลากหลายประการเริ่มต้นตั้งแต่

มีความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองโป่งพอง เลือดออกในสมอง สมองติดเชื้อ 
มีความผิดปกตินอกเนื้อสมอง เช่น ปวดหัวเพราะโพรงจมูกอักเสบ, หูอักเสบ, สายตาผิดปกติ  
มีความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น โรคปวดหัวจากการเกร็งของกล้ามเนื้อและไมเกรน 

 

ปวดหัวข้างเดียว… บอกโรคอะไรได้บ้าง 
 

1. โรคไมเกรน

เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดเมื่อปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการปวดเฉพาะคือปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรง มักจะเริ่มปวดรอบ ๆ กระบอกตาก่อน โรคนี้บางครั้งมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อาการปวดมักจะเกิดขึ้นเป็นชั่วโมง หรืออาจปวดนานหลายวัน 

2. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์
เป็นอาการปวดหัวที่เหมือนไมเกรน แต่จะเพิ่มความแสบร้อนแถว ๆ หน้าผาก มีน้ำตาไหล คัดจมูกร่วมด้วย และมักปวดช่วงเดิม เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่ 5 และระบบประสาทอัตโนมัติ โดยผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง


3. ปวดหัวเครียด
เป็นอาการปวดหัวตื้อ ๆ บีบ ๆ ที่ขมับ หน้าผาก ท้ายทอย บางทีก็ปวดข้างเดียวหนัก ๆ ฝั่งเดียวกับกล้ามเนื้อที่ตึงเป็นพิเศษ สาเหตุมาจากความเครียด อดนอน กินข้าวผิดเวลา นั่งหน้าคอมนานหรือใช้สายตามากเกินไป กลุ่มเสี่ยงที่สุดมักเป็นพนักงานออฟฟิศ


4. โรคเนื้องอกในสมอง
อาการปวดหัวที่มีสาเหตุมาจากโรคเนื้องอกในสมองอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นไมเกรนได้ แต่อาการปวดนี้จะไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยา และปวดรุนแรงมากโดยเฉพาะเวลาหลังตื่นนอน พอสายอาการจะดีขึ้น เวลาไอ จาม การเบ่งขับถ่ายจะกระตุ้นให้ปวดเพิ่มขึ้น บางครั้งอาจคลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพซ้อนและมีอาการปวดเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์ 
5. โรคเลือดออกในสมอง เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตกทำให้เลือดไหลออกไปกดเนื้อเยื่อสมองส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและไม่สามารถทำหน้าที่ของสมองส่วนนั้นได้ อาการปวดจะรุนแรงมากจนทนไม่ได้ รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายเข็มทิ่มตำ อ่อนแรง เหน็บชาด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แขนหรือขา คอแข็งเกร็ง มีภาวะกลืนลำบาก ตาพร่ามัว มีปัญหาในการมองเห็น สูญเสียการทรงตัว และสื่อสารไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง 

 

‘ปวดหัวข้างเดียว’ ที่เป็นอันตราย

● ปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรง โดยเฉพาะอาการปวดที่ทำให้ตื่นขณะนอนหลับ
● ปวดมากจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน
● ปวดในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปวดหัวเรื้อรังที่เคยปวดประจำ
● ปวดร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก ความจำเสื่อม สูญเสียการมองเห็น ปวดตาอย่างรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาตามร่างกาย 
● ปวดร่วมกับอาการทางระบบอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ ไอ แน่นหน้าอก อาเจียน 
● ปวดเนื่องจากการกระแทกหรือบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
● ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี และเกิดอาการปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

วิธีแก้อาการ ‘ปวดหัวข้างเดียว’ เบื้องต้น 

1. ทานยาแก้ปวดเท่าที่จำเป็น ในผู้ใหญ่รับประทาน Paracetamal (500 mg) 1 – 2 เม็ด ห่างกัน 4 – 6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 3 วัน หากไม่หายให้ไปพบแพทย์ 
2. นอนพักผ่อน ในห้องที่มืด เย็น และเงียบ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น แสง เสียง และความร้อน
3. งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน
4. ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน ควรใช้ยาแก้ปวดทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือปวดหัวถี่มากกว่า 3 - 4 ครั้งต่อเดือนจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือใช้ยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลาลงควรพบแพทย์เพื่อปรับการรักษา

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow