Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พินัยกรรมแบบเขียนเอง ทำอย่างไร และสิ่งสำคัญที่ควรรู้

Posted By Plook Magazine | 25 ก.ค. 66
54,629 Views

  Favorite

การเขียนพินัยกรรมไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้เราได้แสดงเจตนารมณ์ว่าจะยกทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินอะไรให้แก่ใครบ้าง มาดูกันว่าพินัยกรรมมีทั้งหมดกี่แบบ เราจะสามารถเขียนเองได้ไหม และมีข้อควรรู้อะไรบ้างที่ควรเข้าใจก่อนจะเขียนพินัยกรรม เพื่อจะได้เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย !

 

พินัยกรรม คืออะไร

พินัยกรรม คือ เอกสารที่ใช้ระบุถึงความต้องการของเจ้ามรดก เมื่อเสียชีวิตไปแล้วต้องการมอบทรัพย์สินให้ใครบ้าง ทั้งนี้พินัยกรรมจะต้องทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด จึงจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยผู้ทำจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

• มีอายุครบ 15 ปีขึ้นไป

• ไม่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

• มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในขณะที่ทำพินัยกรรม

 

พินัยกรรมตามที่กฎหมายกำหนด

พินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ป.พ.พ. มาตรา 1646 – 1648) จะมีทั้งหมด 5 แบบ ดังนี้

1. พินัยกรรมแบบธรรมดา (ป.พ.พ. มาตรา 1656)
2. พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ (ป.พ.พ. มาตรา 1657)
3. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา 1658)
4. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา 1660)
5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา 1663)

 

 

พินัยกรรมทั้ง 5 แบบนี้ จะต้องไปทำที่อำเภอหรือเขต 3 แบบ คือ แบบที่ 3, 4 และ 5 ส่วนแบบที่ 1 และ 2 เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นพินัยกรรมแบบที่นิยมทำกัน บทความนี้จะมาบอกวิธีเขียนพินัยกรรมแบบธรรมดาและพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

 

วิธีเขียนพินัยกรรมแบบธรรมดา

1. ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ (จะเขียนหรือพิมพ์เป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้)

2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ

3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับแทนการลงชื่อหรือเครื่องหมายแกงได*ไม่ได้ และพยานที่จะลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้ตราประทับ หรือลงแกงได หรือลงเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการลงชื่อไม่ได้ จะต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น

4. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น จะส่งผลให้พินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะ ที่ขูด ลบ ตกเติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานอย่างน้อยสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น (ต้องเป็นพินัยกรรมแล้ว) ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้เป็นโรคเรื้อน (ไม่มีลายนิ้วมือ) หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องย่อมใช้ไม่ได้

*เครื่องหมายแกงได คือ รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลทำไว้เป็นสำคัญแทนการลงลายมือชื่อ

ตัวอย่างการเขียนพินัยกรรมแบบธรรมดา >>คลิก<<

 

 

วิธีพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

1. ต้องทำเป็นเอกสาร คือ ทำเป็นหนังสือ โดยจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้

2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนหนังสือไม่ได้ จะไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับจะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้

3. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำลงเพื่อพิสูจน์ความสามารถ และการทำก่อนหลังฉบับอื่น

4. ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได* หรือเครื่องหมายอย่างอื่นแทนไม่ได้

5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ จะทำให้พินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

6. หากมีการขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่มิได้ทำด้วยตนเอง หรือลงลายมือชื่อกำกับไว้เท่านั้นที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนข้อความเดิมหรือพินัยกรรมยังคงใช้บังคับได้ตามเดิม ไม่ทำให้โมฆะทั้งฉบับ

*เครื่องหมายแกงได คือ รอยขีดเขียนซึ่งบุคคลทำไว้เป็นสำคัญแทนการลงลายมือชื่อ

ตัวอย่างพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ >>คลิก<<

 

ส่วนพินัยกรรมแบบอื่น ๆ เช่น พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง (ป.พ.พ. มาตรา 1658), พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ (ป.พ.พ. มาตรา 1660) และพินัยกรรมทำด้วยวาจา (ป.พ.พ. มาตรา 1663) จะต้องไปยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอหรือเขตใดก็ได้ดำเนินการให้ จึงจะถือว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย 

 

 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำพินัยกรรม

• พินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่ต้องทำตามแบบที่กำหนดเท่านั้น

• ต้องเขียน วัน เดือน ปี ลงลายมือชื่อทั้งผู้ทำพินัยกรรมและผู้ที่เป็นพยาน

• ผู้ที่เป็นพยานจะต้องไม่เป็นผู้เยาว์หรือผู้หย่อนความสามารถ และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกนั้นด้วย

• ผู้ที่เป็นพยานในการทำพินัยกรรมจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกในพินัยกรรมนั้น 

• ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

• พินัยกรรมควรจะตั้งผู้จัดการมรดกโดยสามารถระบุผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกไว้ใจลงในพินัยกรรมไปได้เลย

• สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ก็สามารถกำหนดในพินัยกรรมได้

• ทรัพย์สินที่ระบุในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น โดยต้องแยกสินส่วนตัวออกจากสินสมรสด้วย

• เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด ไม่อาจเป็นมรดกที่ระบุลงในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ที่เจ้ามรดกมีอยู่ก่อนตาย 


 

แหล่งข้อมูล

- พินัยกรรม

- เขียนพินัยอย่างไร ถูกใจ ถูกกฎหมาย

- พินัยกรรม ทำอย่างไร

- หลักทั่วไปของการทำพินัยกรรม

 
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow