Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทักษะการจัดการความขัดแย้งภายในทีม

Posted By PlookExplorer1 | 14 พ.ค. 66
1,809 Views

  Favorite

ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและพบได้ในที่ทำงาน โดยเฉพาะองค์กรที่มีผู้คนหลากหลาย การจัดการความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการความขัดแย้งเป็นการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างคนภายในทีมหรือภายในองค์กรที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ โดยมีรูปแบบการจัดการความขัดแย้ง ดังนี้

 

1. การปรองดอง (Accommodating)

การจัดการความขัดแย้งรูปแบบนี้มีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือสูง แต่มีความกล้าแสดงออกต่ำ การแก้ไขความขัดแย้งลักษณะนี้จะเน้นไปที่การเสียสละความต้องการและความปรารถนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หมายถึงมีฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ยอม การแก้ไขวิธีนี้เป็นประโยชน์ต่องานก็ต่อเมื่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย และเราต้องการดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างรวดเร็ว รูปแบบนี้ใช้ได้ผลเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญกว่าความถูกต้อง

2. การหลีกเลี่ยง (Avoiding)

การจัดการความขัดแย้งรูปแบบนี้จะมีความกล้าแสดงออกและความร่วมมือในระดับต่ำ กล่าวคือ เป็นการนิ่งเฉยต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจกลายเป็นปัญหาที่มากขึ้นได้ การจัดการความขัดแย้งรูปแบบนี้จึงมักใช้กับความขัดแย้งที่ไม่ใหญ่โตมากนักและเป็นการเสียเวลาหากจะเข้าไปแก้ปัญหา

3. การให้ความร่วมมือ (Collaborating)

เป็นรูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายหาข้อยุติร่วมกันโดยเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยและสื่อสารกันอย่างจริงใจถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น การจัดการความขัดแย้งรูปแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งจะได้ผลดีที่สุดหากมีเวลามากพอ

4. การแข่งขัน (Competing)

รูปแบบการจัดการความขัดแย้งที่แข่งขันกัน คือให้ทุกฝ่ายแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง รูปแบบนี้มีความกล้าแสดงออกสูงและให้ความร่วมมือต่ำ ต่างฝ่ายต้องเอาชนะคู่แข่งให้ได้ อย่างไรก็ตาม การจัดการความขัดแย้งรูปแบบนี้ไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก จึงต้องมีความระมัดระวังสูง

5. การประนีประนอม (Compromising)

เป็นรูปแบบที่ต้องการความกล้าแสดงออกในระดับปานกลางและต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยหาจุดพึงพอใจร่วมกัน ซึ่งใช้ได้ดีเมื่อมีเวลาจำกัด

 

ทักษะการจัดการความขัดแย้งภายในทีม
ภาพ : shutterstock.com

 

การพัฒนาทักษะการจัดการความขัดแย้งภายในทีม

1. ฝึกทักษะการฟังและการสื่อสารอย่างกระตือรือร้น 

ฝึกฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูดโดยไม่ขัดจังหวะ พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังบอกเรา เพราะนั่นคือการแบ่งปันความคิดและปัญหา ตลอดจนเหตุผลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้การสื่อสารแบบเห็นหน้ากันจะมีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบอื่น ๆ เพราะเปิดโอกาสให้เราได้สังเกตอวัจนภาษาจากอีกฝ่ายด้วย หากมีข้อสงสัยให้ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้อีกฝ่ายอธิบายความคิดและความรู้สึกอย่างเต็มที่

 

2. สงบสติอารมณ์และตระหนักถึงความขัดแย้ง

การสงบสติอารมณ์และรับรู้อารมณ์ของตนเองเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขข้อขัดแย้ง นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์ปัญหาบนความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จได้ 

 

3. รักษาทัศนคติเชิงบวกและฝึกฝนการจัดการอารมณ์ของคุณ

ทัศนคติที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา ส่วนอารมณ์จะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ ดังนั้น การตระหนักและเข้าใจอารมณ์ของตนเองจะช่วยให้สามารถควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ได้

 

อาชีพที่เหมาะกับทักษะการจัดการความขัดแย้งภายในทีม

ทนายความ

ทนายความทำหน้าที่ว่าความในชั้นศาล ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ลูกความ จัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมาย อาชีพทนายความนั้นต้องทำงานร่วมกับอาชีพที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร ราชทัณฑ์ ผู้พิพากษา ข้าราชการฝ่ายกฎหมาย 

 

พนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญต่อองค์กร เพราะทุกองค์กรนั้นล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนด้วยพนักงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่หลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกำลังคน เช่น การวางแผนด้านทรัพยากรบุคคล, การสรรหาและคัดเลือกทรัพยากรบุคคล, งานพัฒนาบุคลากร, การประเมินผล และแรงงานสัมพันธ์ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PlookExplorer1
  • 1 Followers
  • Follow